หลอดแก้วแอมป์ยากลายร่างเป็นโคมไฟสุดเก๋ด้วย Up-Cycling Design
Technology & Innovation

หลอดแก้วแอมป์ยากลายร่างเป็นโคมไฟสุดเก๋ด้วย Up-Cycling Design

  • 03 Nov 2012
  • 57896

เรื่อง : อาศิรา พนาราม

โลกเรามีขยะอุตสาหกรรมเหลือทิ้งซุกซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆ มากมายเกินจินตนาการ แม้แต่วัสดุที่ยังดีๆ อยู่แต่เป็นเศษเหลือจากการผลิต บ้างก็ได้กลับเข้าสู่วงจร Re-Use หรือ Recycle บ้างก็หลุดวงจรกลายเป็น “ขยะคาเมือง” รอว่าวันหนึ่งอาจจะมีคนหัวคิดสร้างสรรค์นำมันเข้าสู่อีกกระบวนการที่เรียกว่า “Up-Cycling” แทน (Up-cycling เป็นกระบวนการพลิกแพลงสู่ดีไซน์ใหม่แต่ยังเห็นร่างของวัสดุเดิมอย่างชัดเจน)

ก่อนอื่นเราขอให้คุณนึกภาพหลอดแก้วทรงผอมมีคอคอด หลอดดังว่านี้คือ “แอมป์พูล” (Ampoule) หรือที่เรียกกันทั่วไปในวงการแพทย์ว่า “แอมป์ยา” เป็นหลอดแก้วสำหรับบรรจุยาชนิดน้ำ ทำจากแก้วคุณภาพดี ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศเยอรมนี แต่คุณเชื่อไหมว่า ประเทศเยอรมนีต้องส่งวัตถุดิบนี้มาเป็นหลอดยาวๆ เพื่อตัดให้ได้ขนาดในประเทศไทย จากนั้นจึงค่อยส่งกลับไปบรรจุยาที่เยอรมนี ! ทุกวันนี้ไทยเรามีโรงงานรับตัดหลอดแอมป์ยานี้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยเหตุว่าค่าแรงงานและค่าเชื้อเพลิงในประเทศไทย “ย่อมเยากว่าเยอรมนี” หลายเท่า (เอาเป็นว่าคุ้มสำหรับค่าขนส่งไปมาก็แล้วกัน)

อย่างไรก็ดี ในกระบวนการผลิตแอมป์ยานี้ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงมหาศาล ใช้อุณหภูมิในการหลอมคอคอดที่ 700 องศาเซลเซียส และตัดปากที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีหลอดแก้วหัวท้ายที่ไม่ได้ขนาดถูกตัดทิ้งไป กลายเป็น “ขยะอันตราย” สะสมในเมืองไทยเป็นล้านๆ หลอด (ในอดีตมีโรงงานผลิตแก้วมารับซื้อหลอดแก้วตกสเป็กนี้ไปหลอมกับทรายเพื่อลดเวลาการหลอมแก้ว แต่ก็รับซื้อไปในราคาถูกมากเหมือนให้เปล่า)

กระทั่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาจึงมีคนหัวใสที่คิดค้นวิธีการนำเศษแก้วคุณภาพดีนี้กลับมาใช้ใหม่ นั่นก็คือ นาวาเอก ฐากร อนุรักษ์ ทหารเรือผู้พ่วงความสามารถของนักเพาะพันธุ์ไม้ นักจัดสวน และนักจัดดอกไม้ฝีมือดีเข้าไปด้วย (ระดับเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดอกไม้ทุกงานในพัทยา) ด้วยความที่ได้คลุกคลีกับดอกไม้และวัสดุสารพัดชนิด ทั้งยังเคยใช้หลอดแก้วในการจัดดอกไม้มาก่อน นาวาเอก ฐากร จึงเห็นคุณค่าของแก้วคุณภาพดีนี้ยิ่งกว่าใคร เขาคิดค้นหาวิธีคืนชีวิตให้กับหลอดแก้วนี้โดยเริ่มต้นทดลองนำมาร้อยเป็นมาลัยแก้วและนำไปใช้กับการจัดดอกไม้

แม้จะไม่ใช่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ น.อ.ฐากรใช้เซนส์ด้านศิลปะที่เขาบ่มเพาะจากงานจัดสวนจัดดอกไม้ (รวมถึงทักษะการพันลวดในงานจัดดอกไม้) มาประกอบร่างหลอดแก้วนี้ขึ้นใหม่ เขาลองผิดลองถูกอยู่ถึง 3 ปีจนกระทั่งพบวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ผลงานของ น.อ.ฐากรมีตั้งแต่มาลัยแก้ว ที่ใส่ของ โต๊ะ จนกระทั่งถึงโคมไฟ ซึ่งถือเป็นการนำหลอดแอมป์มาแปลงร่างเป็นโปรดักท์ใหม่ที่ลงตัวที่สุด เพราะได้แสงสว่างช่วยขับความพิเศษของหลอดแก้วให้เด่นสะดุดตาด้วย

วิธีการจัดเรียงหลอดแก้วทำให้โคมไฟของ น.อ.ฐากรมีความพิเศษอยู่หลายประการ อาทิ มีความใสเหมือนเป็นคริสตัล (แต่น้ำหนักเบากว่าแชนเดอเลียร์คริสตัลถึง 3 เท่า) สามารสร้างลวดลายจากการสลับสีระหว่างขวดสีใสและขวดสีชาได้ มีมิติความลึกจึงกระจายแสงได้สวยงาม มีราคาย่อมเยาว์ ซ่อมบำรุงง่าย และถ้าใครไม่ชอบโคมไฟที่มักมีแมลงเข้าไปติดเป็นซากอยู่ด้านใน หลอดแก้วนี้ก็ยังมีปากเปิดทำให้แมลงบินออกมาเองได้ (เมื่อวางองศาของหลอดให้ถูกต้อง)

จากที่เคยทำเป็นแค่ของใช้ในบ้าน น.อ.ฐากรได้ลองนำโคมไฟประดิษฐ์นี้ออกวางจำหน่ายตามงานแฟร์ต่างๆ เขาได้ลูกค้าเพิ่มเข้ามาหลายรายจนตัดสินใจต่อยอดเป็นธุรกิจจริงจังเมื่อราว 6 เดือนก่อน กลุ่มลูกค้าของ น.อ.ฐากร มักเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ เช่น วิศวกร สถาปนิก มัณฑนากร ดีไซเนอร์ หมอ และผู้พิพากษา โดยเฉพาะกับพวกหมอที่จะตื่นเต้นกันเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยคิดว่า “แอมป์ยา” ที่เขาใช้เป็นประจำในอาชีพ จะถูกสร้างสรรค์ใหม่ให้กลายมาเป็นโคมไฟสวยงามขนาดนี้ได้

ด้วยกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีรวมถึงการได้องค์ความรู้เพิ่มเติมจากลูกค้าที่เป็นดีไซเนอร์ น.อ.ฐากรจึงตั้งใจจะต่อยอดแอมป์ยานี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย (แถมยังรับทำงานออกแบบตามออเดอร์อีกด้วย)

แม้ขณะนี้สินค้าที่เขาตั้งชื่อแบรนด์แล้วว่า “BURAYA” จะยังไม่มีหน้าร้าน แต่มันก็ถือเป็นแนวคิดการออกแบบที่มีศักยภาพมาก เพราะได้ส่งเสริมให้ผู้คนร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานดีไซน์ที่เกิดใหม่ (จากของไร้มูลค่า) ที่สำคัญตราบเท่าที่โลกเรายังมีการแพทย์อยู่ วัสดุนี้ก็มีให้ใช้ไม่รู้หมดซะด้วย

ประเด็นเด่น
- เป็นความลงตัวที่ผู้พบวัสดุนี้มีทักษะเรื่องศิลปะ การจัดองค์ประกอบ และฝีมือเชิงช่าง ทำให้สามารถสร้างสรรค์ดีไซน์ใหม่ขึ้นมาได้ไม่ต่างจากนักออกแบบมืออาชีพ
- งาน Up-Cycling Design ต้องเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง “ดีไซน์ที่ยั่งยืน” จึงควรเลือกช่องทางการตลาดให้เหมาะสม ไม่แมสเกินไป
- โคมไฟจากวัสดุเหลือทิ้งนี้ให้ภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับสินค้ามีราคา แต่ทางเจ้าของเลือกตั้งราคาเบาๆ เพื่อให้คนหมู่มากสามารถสัมผัสได้ง่ายขึ้น

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
น.อ.ฐากร อนุรักษ์
www.facebook.com/jum.thakorn