“Last Call” หนังสยองขวัญที่คุณคือผู้เล่น – อีกก้าวของนวัตกรรมภาพยนตร์
Technology & Innovation

“Last Call” หนังสยองขวัญที่คุณคือผู้เล่น – อีกก้าวของนวัตกรรมภาพยนตร์

  • 25 Aug 2010
  • 7397

เรื่อง: ชัชรพล เพ็ญโฉม

ถ้าคุณพบว่า เรื่องราวหลอนประสาทในหนังสยองขวัญที่คุณกำลังนั่งดูอยู่นั้น มันไม่ใช่แค่ภาพสองมิติบนจอซึ่งคุณมีหน้าที่เพียงแค่นั่งเกร็งผวาอยู่บนเก้าอี้ หากแต่ “ตัวคุณเอง” นั่นแหละที่ต้องกลายเป็นผู้เล่น ...ทีนี้คุณจะทนรับแรงกดดันสั่นประสาทได้ถึงระดับไหน?

Last Call คือ ภาพยนตร์สยองขวัญแบบ “อินเตอร์แอ็คทีฟ” เรื่องแรกของโลก ซึ่งเป็นผลงานการร่วมมือกันระหว่าง Jung von Matt และทีวีช่องระทึกขวัญ 13th Street Channel ประเทศเยอรมัน (เจ้าของรางวัล Gold Lion จากเวทีการประกวด Cannes Lions 2010) ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้คุณเป็น ผู้เลือก และ ผู้เล่น บทนำในหนังเขย่าขวัญ...

วิธีการ “ชม” ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ขั้นแรกผู้ชมจะได้รับใบปลิว (flyer) ที่มีรายละเอียดและคำแนะนำถึงขั้นตอน “การร่วมเล่น” โดยผู้ชมจะต้องกรอกเบอร์โทรศัพท์ (ของตัวเอง) ลงในฐานข้อมูลผ่านระบบ speed dial จากนั้น ซอฟท์แวร์จะสุ่มเลือกเบอร์โทรศัพท์เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างเจ้าของเบอร์กับตัวละครในเรื่องผ่านระบบ voice recognition (การชมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงได้)

จากนั้น เมื่อภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้น บทสนทนาระหว่างตัวละครในเรื่องกับผู้ชมจะกลายเป็นตัวกำหนดการดำเนินเรื่องและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวละครต้องเจอ อาทิเช่น ในฉากที่ตัวละครต้องเข้าไปในบ้านร้างที่มีฆาตกรโรคจิตจ้องจะเอาชีวิต เธอจะโทรมาขอความช่วยเหลือจากคุณเพื่อให้ช่วยบอกทางว่า “เธอควรจะเดินไปทางซ้ายหรือทางขวา” “เดินขึ้นชั้นบนหรือลงข้างล่าง” หรือไม่ก็ช่วยแนะนำว่า “เธอควรตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนั้นอย่างไรดี” ซึ่งในเวลานั้นเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ขณะเดียวกัน คุณก็จะได้ยินเสียงซาวด์เอ็ฟเฟคต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์ของคุณอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเสียงหายใจของตัวละคร เสียงจังหวะการก้าวเดิน และสารพัดเสียงหลอนประสาท ซึ่งจะ “ดูด” คุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เขย่าขวัญเบื้องหน้า เท่ากับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณ...คือผู้เล่นเอง!

นอกจากคุณจะได้ระทึกขวัญไปกับตัวละคร (ซึ่งอันที่จริงก็คือ ตัวคุณเอง)แล้ว ความสยองยังสามารถตามไปหลอกหลอนคุณหลังจากที่หนังจบด้วย เพราะในตอนท้าย หนังได้หยอดมุขที่อาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปเลย โดยในเรื่องตัวละครอาจจะรอดพ้นเงื้อมมือของฆาตกรสุดโหด แต่ได้ทำโทรศัพท์หล่นทิ้งไว้ และไม่ช้าฆาตรกรโรคจิตก็จะหยิบโทรศัพท์เครื่องนั้นขึ้นมาเพื่อโทรบอกคุณว่า ระวังตัวไว้ให้ดีเพราะเขามีเบอร์คุณแล้ว!”

จะว่าไปหนังเรื่อง Last Call นั้นอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างความเป็น “ภาพยนตร์” กับ “เกมส์คอมพิวเตอร์” เนื่องจากมีผู้เล่นเป็นตัวละครในเรื่องเหมือนกับการเล่นเกมส์ ซึ่งการตัดสินใจเดินซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ขึ้น-ลง ตลอดจนการดำเนินเรื่องส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้เล่นเป็นคนกำหนด แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเกมส์ที่แสดงโดยตัวละครที่เป็นคนจริงๆ และเล่นในฉากจริงๆ ที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์กราฟิก เมื่อองค์ประกอบดังกล่าวอยู่ในพล็อตเขย่าขวัญตามแบบฉบับภาพยนตร์ thriller หนังเรื่อง Last Call จึงสามารถก้าวข้ามมายาภาพของโลกเสมือน (simulation) แบบในเกมส์คอมพิวเตอร์ และความเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ (observer) แบบในภาพยนตร์ทั่วไป หากแต่ได้รวมเอาข้อดีของสื่อทั้ง 2 ประเภทไว้ด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้จึงทำให้เส้นแบ่งของ “ความจริง/ไม่จริง” ดูเบลอๆ เป็นการเพิ่มความหวาดผวาให้กับผู้ชม (ผู้เล่น) ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

เรื่องราวเขย่าขวัญใช่เพียงจะหยุดอยู่แค่โทรศัพท์หรือหน้าจอภาพยนตร์เท่านั้น ของพรีเมี่ยมที่ใช้เพื่อการโปรโมทช่อง 13th Street Channel อย่าง ชุดเครื่องเขียนซาดิสม์ (อันนี้เราขอตั้งชื่อให้เอง) ก็น่าสยดสยองไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ซีดีมรณะ ที่มีขอบเป็นฟันเลื่อย ซองจดหมายซาดิสม์ ที่มีรูปหัวคนอาบเลือดอยู่บนรอยปรุ หรือ กระดาษตาโบ๋ ที่มีรูเจาะเข้าแฟ้มอยู่ตรงลูกนัยน์ตาคนพอดี

ภาพยนตร์อินเตอร์แอ็คทีฟสยองขวัญอย่าง Last Call นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโลกภาพยนตร์ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสื่อที่ส่งสารแบบ passive communication มาโดยตลอด แต่ครั้งนี้มันกลายเป็นสื่อที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วม โต้ตอบ และกำหนดทิศทางการดำเนินเรื่องได้ แม้ว่าแนวคิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้ชมนั้น จะมีปรากฏให้เห็นมากมายในผลงานศิลปะแบบ interactive art แต่สำหรับในสื่ออย่างภาพยนตร์เชิง commercial นั้น ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถือว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง

หากเราจะมองปรากฏการณ์ของหนังเรื่องนี้ในเชิงสังคมแล้ว ผมว่า อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตที่ทำให้คนทุกคนมีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร (ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ แทนที่จะนั่งรอรับข่าวอย่างเดียวเหมือนในอดีต) การแสดงความคิดเห็น (ผ่านกระทู้ และบล็อกต่างๆ) การเลือกรับสื่อ ไปจนถึงการกำหนดทิศทางการบริหารบ้านเมือง ฯลฯ ทำให้การรับสื่อแบบ passive นั้นค่อยๆ มลายหายไป สังคมหันมาให้ความสำคัญกับปัจเจก (individuals) ในยุคดิจิตอลอย่างมาก จึงทำให้สื่ออายุนับร้อยปีอย่างภาพยนตร์ต้องก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยระบบอินเตอร์แอ็คทีฟ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Last Call นี้ก็เป็นเสมือนกับ “wake-up call” ให้กับบรรดาสื่อและการตลาดยุคใหม่ ที่หากใครสามารถ go interactive หรือไปได้ไกลกว่านั้น แสงไฟจากสปอตไลท์ของผู้บริโภคก็จะหันมาจับอยู่ที่คุณหรือสินค้าของคุณแน่นอน

ข้อมูล และ Photo Credit:
http://www.realtimecannes.com/2010filmwinners02.html http://www.fastcompany.com/1665030/interactive-movie-trailer-for-german-horror-channel-wins-big-at-cannes-lions
http://www.advertolog.com/13th-street/adverts/last-call-the-first-interactive-theatrical-13585805/ http://www.slashfilm.com/2010/03/11/the-latest-gimmick-interactive-horror-movie-last-call-will-phone-you-during-the-film/ http://www.fuse.in.th/blogs/movement/3015