
มาส์กไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
เรื่อง : อาศิรา พนาราม
รู้ไหมว่าน้ำมะพร้าวที่เราเห็นทั่วไปหาดื่มได้ง่ายนั้นมีอยู่ในไม่กี่ประเทศหรอกนะ (และประเทศไทยเราก็คือหนึ่งในนั้น) ทุกวันนี้ ไทยส่งออกผลผลิตมะพร้าวเป็นอันดับ 6 ของโลก และที่อัมพวา ต้นกำเนิดของนวัตกรรม “มาส์กไบโอเซลลูโลส” ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวอันดับต้นๆ ของประเทศ
มะพร้าวเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์แทบทุกส่วน แต่สำหรับน้ำมะพร้าวที่เรานำมาดื่มกันนั้น เขาคัดเฉพาะน้ำมะพร้าวที่มีรสชาติหอมหวานอร่อยจาก “มะพร้าวอ่อน” เท่านั้น ส่วนน้ำ “มะพร้าวแก่” ซึ่งมีรสชาติตรงข้ามกับมะพร้าวอ่อนทุกประการจะถูกชาวสวนคัดเอาแต่เนื้อเพื่อส่งโรงงานทำกะทิ ส่วนที่เป็นน้ำจะถูกเททิ้งลงแม่น้ำลำคลองซึ่งมีส่วนทำให้แม่น้ำแม่กลองเน่าเสีย (นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว)
ปัญหานี้ภาครัฐกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ช่วยกันทำวิจัยเพื่อหาทางนำน้ำมะพร้าวแก่มาใช้ประโยชน์และสร้างเป็นอาชีพให้กับชาวสวนได้ พวกเขาทดลองหาวิธีใช้ประโยชน์จาก “แบคทีเรียในน้ำมะพร้าว” ที่เมื่อกินโปรตีนเข้าไปแล้วก็จะปล่อยเส้นใยออกมา ซึ่งนั่นทำให้เราได้ “วุ้นมะพร้าว” ที่สามารถนำมารับประทานได้ในทุกวันนี้นั่นเอง
สิบปีผ่านไป วันนี้วุ้นมะพร้าวได้เดินทางมาถึงจุดที่จะถูกต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเดิม โดยบริษัท PIP International ผู้ผลิตสินค้าดูแลผิว (ที่มีแล็บอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และอเมริกา) ได้ตั้งโจทย์ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ภายใต้ “กระแสสีเขียว” และพวกเขาก็มองหา “วัสดุธรรมชาติ” ที่จะนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวได้ คุณภาคภูมิ เพิ่มมงคล ตัวแทนของฝั่งไทยจึงได้เสาะแสวงหาวัสดุธรรมชาติต่างๆ และคิดว่า หากเขาเลือกวัสดุทางการเกษตรมาใช้ อันดับแรกก็ต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนซึ่งจะผันผวนตามความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนให้นิ่งได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาคภูมิจึงมองไปที่ “วัสดุเหลือทิ้ง” แทน (เพราะของเหลือทิ้งไม่เป็นที่ต้องการ ย่อมสามารถคุมต้นทุนให้ต่ำได้) จนในที่สุด เขาก็มาพบกับงานวิจัยเกี่ยวกับ “ไบโอเซลลูโลส” (Bio Cellulose) หรือ “เส้นใยชีวภาพ” ซึ่งเกิดได้ตามธรรมชาติ เขาค้นคว้าต่อว่า ไบโอเซลลูโลสนี้เกิดจากวัตถุดิบอะไรได้บ้าง จนได้มาพบกับน้ำมะพร้าวแก่ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งมากมายจากสวนเกษตรที่อัมพวา (และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่) เขาจึงมุ่งวิจัยเส้นใยชีวภาพจากน้ำมะพร้าวแก่นี้โดยเฉพาะ
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มาส์กบำรุงผิวหน้าในท้องตลาดส่วนใหญ่ทำจากกระดาษหรือผ้า การวิจัยของคุณภาคภูมิพบว่าไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวแก่นี้มีลักษณะเป็นเส้นใย 3 มิติ ซึ่งมีความละเอียดและหนาแน่นกว่าเส้นใยกระดาษหรือผ้าถึง 500 เท่า ข้อมูลนี้นำไปสู่การพัฒนาไบโอเซลลูโลสขึ้นมาเป็นมาส์ก ซึ่งจะมีคุณสมบัติดูดซับซีรั่มบำรุงผิวหน้าไว้ได้มาก และเมื่อนำมาใช้ ซีรั่มนี้ก็ระเหยออกช้ากว่า ทำให้มีช่วงเวลาการบำรุงผิวหน้าได้ยาวนาน อีกทั้งมาส์กไบโอเซลลูโลสนี้ยังมีคุณสมบัติที่แนบสนิทไปกับผิวหน้าไม่เลื่อนหล่น ต่างจากมาส์กแบบกระดาษหรือผ้าที่หลุดลอกง่าย (เวลาใช้ต้องอยู่ในท่านอน) ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกจุดขายสำหรับสาวแอคทีฟ ที่แม้จะแปะมาสก์ขึ้นไปวิ่งบนลู่วิ่ง มาส์กก็จะยังติดอยู่บนผิวหน้าได้
คุณสมบัติพิเศษอันนี้ทำให้แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังจากฝรั่งเศสติดต่อขอนำนวัตกรรมมาส์กไบโอเซลลูโลสนี้ไปขาย และโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นดั่งผิวชั้นที่สอง (Second Skin) ของผู้หญิง ซึ่งแบรนด์ดังกล่าวตั้งราคามาสก์นี้ไว้สูงถึง 1,300 บาทต่อแผ่นเลยทีเดียว (สินค้าเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) |
งานพัฒนาเพิ่มมูลค่าน้ำมะพร้าวแก่ครั้งนี้ ถือว่าตอบโจทย์การเข้ากระแสสีเขียวของบริษัท PIP International ได้เป็นอย่างดี ด้วยว่านวัตกรรมมาส์กไบโอเซลลูโลสเป็นวัสดุที่ “กรีน” ในตัวเอง คือ ไม่ใช่กระดาษ (จึงไม่ต้องตัดต้นไม้) ไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100% อีกทั้งกระบวนการผลิตก็ยั่งยืน สามารถช่วยลดภาระรัฐบาลในการบำบัดน้ำเสียได้ ที่สำคัญน้ำมะพร้าวแก่ก็มีเส้นทางชีวิตใหม่ที่สวยงาม จากที่เคยทำได้แต่วุ้นมะพร้าว (ขายได้กิโลกรัมละ 39 บาท) น้ำมะพร้าวแก่ในปริมาณเท่ากันสามารถนำไปผลิตมาส์ไบโอเซลลูโลสได้ถึง 20 แผ่น (ทางบริษัทรับซื้อวัตถุดิบในราคาสูงกว่าการทำวุ้นมะพร้าวมาก)
มาส์ก FarHorm® Bio Cellulose ถือเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอเซลลูโลสรายแรกของเมืองไทยที่ได้รับสิทธิบัตรจากการคิดค้นและการผลิตเชิงพาณิชย์ รวมทั้งได้รับรางวัลด้านการออกแบบเชิงนวัตกรรมอีกหลายรางวัล ปัจจุบันมาสก์นี้ได้ขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลของห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ (Material ConneXion Library) ซึ่งเป็นหนึ่งในใบเบิกทางให้ได้ร่วมงานกับบริษัทที่ผลิตนวัตกรรมระดับโลกอีกหลายแห่ง |
อย่างไรก็ดีการพัฒนาไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวก็ไม่ได้หยุดที่การเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเท่านั้น บริษัท PIP International ยังต่อยอดการวิจัยเพื่อผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ (อาทิ แผ่นปิดแผลไฟไหม้ เพราะน้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติที่ให้ความเย็นอยู่แล้ว) รวมถึงเป็นส่วนประกอบในเทคโนโลยีเครื่องเสียง และยานยนต์อีกด้วย
จับประเด็นเด่น
|
เครดิตภาพ:
PIP International Co.,Ltd.,
รายการ “เพื่อนคู่คิด” สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท.