สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะ : ผสมอารมณ์หุ่นยนต์
Technology & Innovation

สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะ : ผสมอารมณ์หุ่นยนต์

  • 28 Feb 2011
  • 6704

โดย ดร. ชิต เหล่าวัฒนา

ที่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ทีมวิจัยมีความสนใจเรื่องการผสมอารมณ์ของหุ่นยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งจะไปปรากฎบนใบหน้าของหุ่นยนต์ “นะโม” ที่ถูกพัฒนาขึ้นที่ฟีโบ้กลางปีที่แล้ว เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถแสดงสีหน้า และขยับส่วนบนของร่างกายได้คล้ายกับมนุษย์ หุ่นยนต์ตัวนี้มีจุดเด่นคือใช้ลมซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวนุ่มนวลคล้ายหุ่นยนต์มีชีวิตจริงๆ

Kismet เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Cynthia Breazeal ที่ Massachusetts Institute of Technology สามารถรับรู้ภาพและเสียง และโต้ตอบมนุษย์ได้ด้วยการพูดและการแสดงสีหน้า สามารถแสดงอารมณ์พื้นฐานได้ 6 อารมณ์ หุ่นยนต์มีทั้งหมด 15 องศาอิสระ ประกอบไปด้วย หู 4, คิ้ว 4 เปลือกตา 2, ริมฝีปาก 4 และขากรรไกร 1หุ่นยนต์ Albert HUBO เริ่มแรกส่วนใบหน้าถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Hanson Robotic และ UC San Diego ส่วนหัวใช้ 31 องศาอิสระประกอบไปด้วย ใบหน้า 27 องศาอิสระ และคออีก 4 องศาอิสระ ผิวหนังของใบหน้าทำมาจากวัสดุที่มีลักษณะคล้ายกับฟองน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการย่นและริ้วรอยเหมือนผิวหนังจริงๆ ภายหลังได้ถูกนำไปประกอบรวมกับลำตัวโดย KAIST HUBO team ของเกาหลี

ในอดีตมีงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างภาพใบหน้าคนด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เพื่อนำไปใช้ในเกมส์ โดยได้เสนอวิธีการผสมผสานอารมณ์ ผ่านผู้ทำการทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอ่านเรื่องที่มีเนื้อหาสื่อให้ผู้อ่านเกิดการผสมผสานอารมณ์ เมื่อผู้ทดลองอ่านเสร็จจะสร้างภาพกราฟฟิกของใบหน้าบนคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงอารมณ์จากเรื่องที่ได้อ่าน ผู้ทำการทดลองกลุ่มที่สองจะดูภาพที่ผู้ทำการทดลองกลุ่มแรกสร้าง แล้วให้คะแนนว่าภาพนั้นมีอารมณ์ใดอยู่บ้าง คะแนนเหล่านั้นจะถูกนำไปสร้าง fuzzy membership function เพื่อไปใช้เป็นกฎในการแสดงสีหน้า

จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีตเราพบว่ายังไม่มีการทดลองการผสมผสาน อารมณ์กับหุ่นยนต์ ซึ่งถ้าหุ่นยนต์สามารถผสมผสานอารมณ์ได้ก็จะทำให้มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เหมือนกับปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ นอกจากนี้ยังทำให้สามารถเข้าใจระบบการทำงานของอารมณ์มนุษย์มากขึ้นด้วย

เครดิตภาพ : http://blogs.laweekly.com
http://library.thinkquest.org
http://www.robotonline.net
http://www.thinkdigit.com