Beyond ‘Social Networking’ – เรื่องของวัฒนธรรมสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีเพื่อมวลชน
Technology & Innovation

Beyond ‘Social Networking’ – เรื่องของวัฒนธรรมสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีเพื่อมวลชน

  • 09 Feb 2011
  • 4785

เรื่อง : วราฤทธิ์ มังคลานนท์

 

ยุคนี้ใครไม่รู้จัก Facebook อาจจะโดนเพื่อนๆ ปรามาสว่าเชยได้ ประวัติความเป็นมาของเว็บนี้เกิดจากความต้องการที่จะสื่อสารกันระหว่างหมู่เพื่อนในมหาวิทยาลัย ลามไปสู่เพื่อนต่างมหา’ลัย และไปจนถึงระดับประเทศ ถึงวันนี้ Facebook มีสมาชิกทั่วโลกแล้วกว่า 540 ล้านคน (เป็นคนไทย 5 ล้านกว่าคน) เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นจากข่าวแล้วว่าปัจจุบัน Facebook คือเว็บอันดับหนึ่งของโลก มีคนเข้ามากกว่าอดีตแชมป์อย่าง Google, Hi5, Yahoo และ MSN เสียอีก

เนื่องด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ลักษณะการเล่น Facebook ของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป หลักๆ คงเป็นเรื่องของการอัพเดทข้อมูลระหว่างกันในหมู่เพื่อน (ผ่านทั้งทางข้อความ รูปภาพ และคลิปวีดิโอ) ในขณะเดียวกันผู้เล่นบางคนก็ไม่ได้สนใจอะไรพวกนี้เลย จะเล่นแต่เกมส์ลูกเดียว อะไรอย่างนี้เป็นต้น ในแง่ของธุรกิจ เว็บนี้ก็ถือเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ดีมาก ถ้าใครเคยลงโฆษณาใน Facebook คงเห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของมัน ไม่ว่าจะในเรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดอัตราค่าโฆษณา และการแสดงผลที่แสดงให้เห็นทันทีเลยว่าจะมีกี่คนที่มีโอกาสเห็นแบนเนอร์ของเรา นอกจากนั้น Facebook ยังเป็นช่องทางในการรวมกลุ่ม การกระจายกลุ่ม และการหาแนวร่วมของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนๆ กัน ตรงนี้ดูจากวิกฤติบ้านเมืองไทยที่ผ่านมาคงพอเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้

แต่นอกเหนือจากการใช้งานหลักๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีบางคนที่ใช้งาน Facebook ได้อย่างไม่มีใครเหมือน ผมเห็นครั้งแรกถึงกับอึ้ง และรำพึงกับตัวเองว่า “คิดได้ไงวะ” พวกเขาคือ ตำรวจจราจรในกรุงนิวเดลี (Delhi Traffic Police) ประเทศอินเดียครับ

Facebook จับผู้ร้าย
การจราจรในอินเดียนั้น “วุ่นวาย” และ “มีปัญหา” ไม่แพ้บ้านเราเลยครับ นิสัยความไม่มีระเบียบและไม่เคารพกฏของผู้ใช้ถนนนี่…เหมือนกันเด๊ะๆ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใครหนักกว่า เพราะยังไม่เคยไปดูกับตาตัวเองที่อินเดีย แต่จากข่าวที่เห็นมานั้นก็ใช้ได้เลย เฉพาะในกรุงนิวเดลีนี่ตำรวจจราจรเขาแจกใบสั่งกันวันละเป็นหมื่นใบ(!) ตัวเลขตรงนี้บ้านเราคงไม่ถึงแน่ เพราะหลายจุดเคลียร์กันหน้างานได้ (ฮ่าๆ) วัฒนธรรมนี้ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วครับ ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาบนท้องถนน ผมก็ไม่เห็นว่าบ้านเราจะ “เอาจริง” กับอะไรสักอย่าง มีแค่เฮกันเป็นพักๆ ทั้งเรื่องฟิล์มกันแดด เรื่องควันดำ หมวกกันน็อค การคุยโทรศัพท์ ฯลฯ พอตำรวจเลิกฮิต ประชาชนอย่างเราก็กลับมาสู่พฤติกรรมเดิมๆ คือ มักง่ายและเน้นสะดวกเข้าว่า

จะว่าไปคนใช้ถนนในประเทศอินเดียก็คงนิสัยไม่ต่างจากเราเท่าไหร่ แต่ตำรวจเขาสิครับที่ไม่เหมือน ล่าสุดที่เห็นจากข่าวคือ ตำรวจราจรในกรุงนิวเดลีมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน โดยเขาตั้งหน้า(เพจ)ขึ้นมาใหม่หนึ่งหน้าชื่อ “Delhi Traffic Police” ไว้ใช้เป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถโพสต์รูปคนทำผิดกฎจราจร (จะเป็นรูปหรือคลิปวิดีโอก็ได้) จากนั้นก็จะมีทีมตำรวจคอยตามเช็คบิลผู้กระทำผิดเหล่านี้ (โดยมีข้อแม้ง่ายๆ ว่ารูปหรือคลิปที่คุณถ่ายไว้ ต้องให้ติดป้ายทะเบียนด้วย) เพจนี้เปิดใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ปัจจุบันมีแฟนเพจแล้วกว่า 30,000 คน มีรูปที่ถูกโพสต์แล้วเป็นหมื่นและคลิปวิดีโออีกเป็นร้อย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานการทำผิดกฎจราจรแบบต่างๆ เช่น คนขี่และซ้อนมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค, รถที่บรรทุกของหนักเกินกำหนด, การจอดรถในที่ห้ามจอด ฯลฯ หรือแม้กระทั่งรูปการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน (เห็นมั้ยครับว่ามันช่างเหมาะกับบ้านเราจริงๆ)

Facebook กับโรงเรียน
นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้แล้วยังมีโรงเรียนในรัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือสร้างความน่าสนใจในชั้นเรียน (ทั้งกับเด็กและผู้ปกครอง) เช่น ให้เด็กๆ อัพเดทสเตตัสเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน 4 ครั้งต่อวัน, โพสรูปงานของเด็กๆ และให้ผู้ปกครองมาเม้นท์, ทำคลิปประกอบการสอนเพื่อให้ดูย้อนหลังได้, ใช้หน้า Event page เชิญชวนเด็กและผู้ปกครองให้มาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทางโรงเรียน อะไรอย่างนี้เป็นต้น

พอจะเห็นแล้วใช่มั้ยครับว่า Facebook นั้นเป็นกล่องเครื่องมือ (หรือ Tools) ชั้นเยี่ยมที่จะสร้างสรรค์สังคมของเราได้ มันมีอุปกรณ์ที่ครบครันได้คุณภาพเตรียมไว้ให้คุณเลือกใช้ตามต้องการ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้วล่ะ ว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อมวลชนชิ้นนี้ “อย่างไร”

ลองสำรวจ Facebook Behavior ของคุณดูอีกทีนะครับ แล้วถามตัวเองด้วยว่าคุณพร้อมรึยังที่จะใช้งาน Facebook อย่างสร้างสรรค์ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ …ถ้าชอบกด Like