Citysourced.com สื่อคนเมืองเพื่อสังคมเมืองอันแสนสุข
Technology & Innovation

Citysourced.com สื่อคนเมืองเพื่อสังคมเมืองอันแสนสุข

  • 24 Mar 2011
  • 5342

เรื่อง: อาศิรา พนาราม

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงพลังของเว็บไซต์แนว “โซเชี่ยลเน็ทเวิร์ค” กันหนาหู ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อนนะคะ เพราะศักยภาพของ “เครือข่ายสังคม” ยังมีทางไปต่ออีกมาก ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็อาศัยพฤติกรรมของคนเมืองในปัจจุบันนี่แหละ (ที่วางใจการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์พอๆ กับการเผยให้เพื่อนสนิทรู้เลยทีเดียว) สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมการสื่อสารใหม่แห่งยุค ที่หากใช้กันในทางสร้างสรรค์แล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโครงสร้างการแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่แต่เดิม เรากำลังพูดถึงวัฒนธรรม “การรายงานข่าวด้วยตนเอง” ของคนเมือง ที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับเว็บในตระกูลเครือข่ายสังคมได้อย่างฉับไว

ทุกวันนี้ นอกเหนือจาก facebook แล้ว เว็บไซต์ www.citysourced.com คือ อีกเว็บหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เปิดให้ผู้คนรายงานข่าวความเดือดร้อนหรือความเสียหายในจุดต่างๆ ของเมือง เช่น ฝาท่อระบายน้ำที่ถนนถูกเปิดทิ้งไว้ กำแพงบ้านถูกพ่นเสียเละเทะ ขยะถูกทิ้งผิดที่ผิดทาง ต้นไม้ล้มขวางถนน อุบัติเหตุ ไปจนถึงเหตุด่วนเหตุร้ายต่างๆ

เว็บไซต์นี้ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการบน iphone, blackberry และ android เป็นโปรแกรมที่ให้ความสะดวกในการถ่ายภาพ รายงานจุดเกิดเหตุ และพิมพ์รายละเอียดสั้นๆ ส่งไปฟ้องอยู่ในเว็บไซต์ทั้งภาพและข้อมูลพร้อมกัน ซึ่งทำให้ทุกคน (ที่พกโทรศัพท์แสนฉลาด) สามารถทำตัวเป็นพลเมืองดี รายงานสถานการณ์ต่างๆ ช่วยเหลือบ้านเมืองไปในตัว (เพราะบางทีการถ่ายรูปแล้วโทรแจ้งก็อาจไม่สะดวก อาจล่าช้าเกินไป หรือบางทีคนก็ไม่รู้ว่าจะแจ้งกับหน่วยงานใด เป็นต้น)

การใช้งาน citysourced.com ก็ไม่ยุ่งยากโดยดาวน์โหลดโปรแกรมและลงทะเบียนเข้าใช้เหมือนกับเว็บไซต์ทั่วไป เพียงแต่โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่อื่นยังใช้ไม่ได้ ก็จัดว่าเป็นเครื่องมือรายงานข่าวจากภาคประชาชนประเภทหนึ่ง แต่จำกัดอยู่ในพื้นที่ที่แคบกว่า (เพราะมีเว็บมากมายที่เปิดรับข่าวจากพลเมืองทั่วโลก) และมีจุดประสงค์เฉพาะกว่า ซึ่งจริงๆ การช่วยเหลือสังคมแบบนี้ก็น่าจะลองนำมาใช้ในได้ในเมืองที่มีปัญหาจุกจิกได้ทุกเมือง

เห็นแบบนี้แล้วเราก็นึกถึงรายการทีวีประเภท "ทุกข์ชาวบ้าน" ที่คอยรายงานข่าวการร้องเรียนจากชาวบ้านถึงถนนหนทางที่ไม่สะดวกหรืออันตราย ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปไม่ถึง (หรือไม่ยอมเหลียวแล) จริงๆ การรายงานข่าวในลักษณะนี้ได้ผลดีตรงที่ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง แถมเมื่อออกทีวีก็จะดูเป็น “เรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน” แต่กระนั้นมันก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่ต้องรอการนำเสนอจากนักข่าวเท่านั้น ซึ่งอาจต้องมีลำดับในการคัดเลือกเรื่อง การไปถ่ายทำข่าว ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าออกไป

หากมีเว็บไซต์และโปรแกรมอย่าง citysourced (ที่ใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเมืองไทย) เข้ามาเป็นอีกช่องทาง ก็น่าจะประสานให้หน่วยงานราชการทำงานแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไวมากขึ้น และคงช่วยให้การแก้ปัญหาสังคมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก (แต่คิดๆ ไป หน่วยราชการอาจต้องทำงานกันหนัก เพราะคงมีรายงานแจ้งเหตุกันชนิดล้นทะลักเว็บเป็นแน่)

นอกจากนั้น การรายงานข่าวในลักษณะนี้อาจช่วยกระตุ้นให้คนในสังคม “หยิบยื่นความช่วยเหลือกันเอง” มากขึ้น (เหมือนอย่างที่รายการวิทยุ จส. 100 ทำสำเร็จมาแล้ว) ซึ่งนั่นก็จะยิ่งผลักดัน “วัฒนธรรมแห่งน้ำใจและการพึ่งพาอาศัย” ให้แข็งแรง

อย่างไรก็ดี สำคัญที่ว่าสังคมต้องคอยดูแลสอดส่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบนี้อย่างใกล้ชิด ว่ามันถูกนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์เท่านั้น มิใช่เพื่อการประจานหรือใส่ร้ายกันเพื่อเหตุผลส่วนตัว (หรือเหตุผลทางการเมือง?) “วิจารณญาณ” คงเป็นอีกเรื่องที่พวกเราต้อง “ลับคม” ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ค่ะ

อ้างอิง : www.citysourced.com
เครดิตภาพ:
http://www.theage.com.au/world/emergency-call-reveals-terror-of-santa-gunmans-rampage-20081227-75vl.html
http://jschumacher.typepad.com/joe/bicycles/