แปลง “ฮาร์ดดิสก์เก่า” เป็นนักดนตรีและครูสอนวิทย์ - พลังแห่งการช่างประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์
Technology & Innovation

แปลง “ฮาร์ดดิสก์เก่า” เป็นนักดนตรีและครูสอนวิทย์ - พลังแห่งการช่างประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์

  • 13 Jun 2011
  • 12410

เรื่อง: ชัชรพล เพ็ญโฉม

ทุกวันนี้ ถ้าคุณเห็นหุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอีกต่อไป แต่หากภาพที่คุณเห็นนั้นเป็นแขนขาของเครื่องจักรกลที่กำลัง “เล่นดนตรีไทย” แถมยังสามารถใช้เป็นสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กันด้วย ...อันนี้คงไม่ใช่ภาพที่ชินตานัก ยิ่งเมื่อได้ทราบว่าระบบควบคุมนั้นทำขึ้นมาจากฮาร์ดดิสก์เก่าๆ เหลือทิ้งฝีมือนักประดิษฐ์ไทยแท้ 100% นักดนตรีและครูแขนกลเครื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ไม่ธรรมดา”

พันเอกสิทธิโชค มุกเตียร์ ผู้อำนวยการกองสารสนเทศ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม คือนักประดิษฐ์ผู้ให้กำเนิดนักดนตรีสมองกลเครื่องนี้ครับ ด้วยความช่างคิดช่างประดิษฐ์ประกอบกับมีแนวคิดที่ว่า “การเรียนช่างและวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้น ผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติจริง” อดีตครูโรงเรียนช่างฝีมือทหารคนนี้จึงประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นจาก “ฮาร์ดดิสก์เหลือใช้” ผลงานของเขามีตั้งแต่หนังตะลุงไฟฟ้า ตุ๊กตาเคลื่อนที่ ลำโพง เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน กระดิ่ง ไปจนถึงวงดนตรีทั้งวงที่ไม่ต้องใช้คนเล่น ที่ผ่านมา พันเอกสิทธิโชคเคยได้รับรางวัล Best Inventor Award จากสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ รางวัลดีเยี่ยมด้านวิทยาศาสตร์และรางวัลดีเด่นด้านสังคม (ในหัวข้อเรื่อง “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้”) จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัว

การทำงานของแขนกลนักดนตรีนั้นอาศัยพลังของแม่เหล็กไฟฟ้าในการเคลื่อนที่ เมื่อจ่ายไฟเข้าไปยังขดลวดก็จะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้นรอบๆ เกิดเป็นแรงกระทำกับแม่เหล็กถาวรทำให้หัวอ่านเคลื่อนที่ได้รอบจุดหมุน ซึ่งมีแรงมากพอที่จะเคาะ ดีด หรือเปิดช่องลมให้เครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เกิดเป็นเสียงขึ้นได้ (หลักการดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับเครื่องดนตรีทั้งเครื่องตี เครื่องดีด และเครื่องเป่า โดยมีรายละเอียดทางเทคนิคแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเครื่องดนตรี)

แม้แขนกลนักดนตรีจะเป็นโปรเจ็คท์ทดลองและยังมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจค่อนข้างน้อย แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้กลับไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการค้า พันเอกสิทธิโชคเผยว่าเขามุ่งใช้สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นสื่อในการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเด็กๆ โดยตั้งใจจะใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ฮาร์ดดิสก์เก่าจากคอมพิวเตอร์เอาไปขายก็ได้ราคาไม่กี่ตังค์ แถมยังเพิ่มมลภาวะให้กับโลกด้วย แต่ถ้าเรานำมาใช้เป็นสื่อการสอนมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ทำให้เขาหันมาสนใจการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งตรงนี้ใช้ได้ในหลายสาขาวิชา ทั้งวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวะเครื่องกล ดนตรี และศิลปะ”

“แม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ผมมองว่า เป็นเรื่องยากนะ หากเด็กของเรายังคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น เด็กสมัยนี้ใช้เวลาหมดไปกับตู้เกมส์และคอมพิวเตอร์ เขาไม่ได้ลงมือประดิษฐ์อะไรเองเลย ผมเคยบอกให้เด็กสร้างสรรค์อะไรออกมาสักชิ้น ทุกคนเงียบหมด ...ความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราลงมือทำ ซึ่งของเหลือใช้ในบ้านสามารถนำมาประยุกต์มาเป็นอุปกรณ์ได้ตั้งมากมาย อย่างพัดลมที่เสียแล้วก็สามารถนำมาเป็นกังหันลมเพื่อให้กำเนิดไฟฟ้าได้ ฮาร์ดดิสก์เก่าๆ ก็นำมารื้อ ถอด แยกชิ้นส่วน แล้วนำกลับมาใช้เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เคลื่อนไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นกระดิ่งไฟฟ้า ลำโพงต่อกับแก้วพลาสติก ไมโครโฟน ฯลฯ เวลาประดิษฐ์ผมก็ต้องค้นคว้า ถ้าไม่รู้ก็ค้นในอินเตอร์เน็ตเอา”

จะว่าไปแล้ว แนวคิดการประดิษฐ์นวัตกรรมจากของเหลือใช้ตามแนวทางของ พ.อ.สิทธิโชค นับว่า มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนสื่อการสอน) เนื่องจากต้นทุนนั้นมีราคาถูกมาก ซึ่งหากทางโรงเรียนขอรับบริจาคจากผู้ที่ไม่ใช้แล้ว กจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นสื่อการสอนหรือประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้มากกว่า 20 ชนิด

Our Thoughts :
นับตั้งแต่ประเทศไทยเรามีการศึกษาในระบบ “โรงเรียน” คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังไม่ได้เห็นวัฒนธรรมที่ “นักเรียน” เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์กันเท่าไรนัก เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดแคลนต้นแบบที่ดี ขาดแคลนเงินทุนและการสนับสนุนอย่างจริงจัง ตลอดจนความสะดวกสบายของยุคสมัยใหม่ที่หยุดเราไว้แค่การเป็น “ผู้ใช้” (User) แต่เพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมา ไทยเราขึ้นชื่อนักหนาเรื่องเยาวชนที่ได้รับรางวัลโอลิมปิกส์ ไม่ว่าจะในสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือคณิตศาสตร์ แต่น้อยนักที่เราจะเห็นเด็กไทย (หรือผู้ใหญ่) สามารถประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องมือเครื่องใช้” ที่ทำให้โลกตะลึงได้ นวัตกรรมแขนกลนักดนตรีนี้น่าจะเป็นอีกต้นแบบหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นต่อมความสร้างสรรค์ของพวกเราให้ทำงานคล่องขึ้น

...ลองมองไปรอบๆ ตัวกันสักหน่อยไหมครับ


เครดิตข้อมูลและภาพ :
http://www.muktier.com/

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/society/20091113/86092

http://www.naewna.com/news.asp?ID=198590