อัน ยอง ฮา เซ โย “โคเรีย เวฟ” (Korea Wave) ตอนที่ 4 : พลังแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ
Technology & Innovation

อัน ยอง ฮา เซ โย “โคเรีย เวฟ” (Korea Wave) ตอนที่ 4 : พลังแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • 25 Aug 2011
  • 6773

เรื่อง : พลอย มัลลิกะมาส

ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่ความเป็น “สังคมไร้สาย” ทำให้เกาหลีใต้ในปัจจุบันกลายสภาพเป็น “ห้องทดลอง” ที่นำเอาเรื่องของวัฒนธรรมป๊อบ (Pop Culture) มาผสมผสานกับธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (เป็นความพยายามในการลบเลือนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างวงการดนตรีและสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ) จนกลายมาเป็นโมเดลต้นแบบของวงการสื่อที่สามารถช่วยขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้ในอนาคต

ด้วยความที่ประเทศเกาหลีใต้มีประชากรเพียง 48 ล้านคน แต่กลับมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 10 ของโลก (โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสื่อและอุตสาหกรรมการผลิตที่บริหารโดยกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัท) นี่เองทำให้เกาหลีใต้ไม่ต่างอะไรกับห้องทดลองแห่งอนาคตของ “อุตสาหกรรมไฮเทค” ที่นำเอาคอนเทนท์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้าหล่อหลอมรวมกับแบรนด์สินค้าในรูปแบบของสื่อดิจิตอลยุคใหม่ และที่ชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมดนตรี

ในปีค.ศ.1995 รัฐบาลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการลงทุนและการให้บริการ “เครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง” ทั่วประเทศ ทุกวันนี้ประชากรร้อยละ 95 ของเกาหลีใต้จ่ายเงินแค่ราว 750 บาทต่อเดือนเพื่อมีความสุขกับการเล่น “อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษ” โดยเฉพาะประชากรในกรุงโซลนั้นเรียกได้ว่า สามารถเข้าถึงคอนเทนท์บนโลกออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัดกันเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ข้างต้นทำให้เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่นำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ได้เร็วที่สุด (และทำให้ระบบดังกล่าวเติบเร็วที่สุดด้วย)

Nice to Know : สองยักษ์ใหญ่แห่งแดนกิมจิ

SAMSUNG
คนเกาหลีมักกล่าวอย่างติดตลกเสมอว่า บริษัทซัมซุงนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จของประเทศอย่างมาก เผลอๆ อาจจะโด่งดังยิ่งกว่าตัวประเทศเกาหลีใต้เสียอีก (เช่นเดียวกับกรณีของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia และประเทศฟินแลนด์) Samsung Corporation ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1938 ในฐานะบริษัทผู้ส่งออกอาหาร ก่อนจะกลายพันธุ์มาเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในแทบทุกด้านของคนเกาหลี ทั้งเรื่องของการสื่อสาร การขับรถ การทำอาหาร และอื่นๆ เช่นปัจจุบัน

SK TELECOM
ทุกวันนี้ประชากรราว 40 ล้านคน (จากทั้งหมด 48 ล้านคน) ของเกาหลีใต้มีโทรศัพท์มือถือใช้ และกว่า 20 ล้านคนเป็นลูกค้าของ SK Telecom ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่แข็งแกร่งที่สุดในจำนวน 3 ผู้ให้บริการหลักของประเทศ SK Telecom มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 50 ทิ้งห่างบริษัทคู่แข่งอย่าง Korea Telecom (KTF) และ LG ไปแบบเหนือชั้น แรกเริ่มเดิมทีนั้น SK เป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ก่อนจะแตกไลน์สู่ธุรกิจการสื่อสารในปีค.ศ.1984 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ “การจัดการโทรศัพท์ในรถ” ของ Korean Telecom (KTF) นอกจากนั้นบริษัท SK Telecom ยังถือเป็นบริษัทแรกที่ให้บริการด้านโทรศัพท์มือถือ บริการส่งข้อความ SMS และเทคโนโลยี 3G ของประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นบริษัทแรกที่เปิดตัวดาวเทียมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (DMB Satellite) ที่สามารถส่งตรงสัญญาณภาพ (แบบคมชัด) ถึงโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง

เครดิตข้อมูล :
จุลสารวิชาการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “กระแสเกาหลี” โดยดร.วไลลักษณ์ น้อยพยัคฆ์
เอกสารประกอบการสัมมนาของกรมเอเชียตะวันออก
นิตยสาร Bandage
นิตยสาร Marketeer
www.siliconeclub.com

เครดิตรูป:
http://www.good.is/post/south-korea-wave-of-the-future/
http://online.wsj.com/article/SB10001424052702304364904575166681115109678.html
http://sclick.net
http://www.koreaittimes.com/story/3968/perfect-platform-demonstrate-latest-technology-convergence