เผยโฉม C-FEE รถพลังไฮโดรเจนฝีมือคนไทย สู่สุดยอดนวัตกรรมยานยนต์สีเขียวแห่งอนาคต
Technology & Innovation

เผยโฉม C-FEE รถพลังไฮโดรเจนฝีมือคนไทย สู่สุดยอดนวัตกรรมยานยนต์สีเขียวแห่งอนาคต

  • 06 Oct 2011
  • 6649

เรื่อง : ชัชรพล เพ็ญโฉม

นับจากวันที่ผู้คนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดายความรู้และประสบการณ์ของข้าราชการเกษียณฯ” จวบจนถึงวันนี้ ด้วยเวลาเพียง 8 ปี พล.อ.ท.มรกต ชาญสำรวจ อดีตเจ้ากรมสรรพาวุธและผู้บัญชาการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกองทัพอากาศ ผู้พัฒนา “จรวดเห่าฟ้า” อันเลื่องชื่อ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด) ก็ได้พา C-FEE รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยไปไกลสุดกู่ เรียกว่าขึ้นแท่น “สุดยอดยนตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม” ที่แม้แต่ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากยุโรปยังต้องมาขอซื้อเทคโนโลยี!

จาก ‘C-FEE Mini’ สู่ ‘The Super Jaab’ บุกเบิกยานยนต์เทคโนโลยีสีเขียว
จุดกำเนิดของรถยนต์ไฟฟ้า C-FEE เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2546 เมื่อพล.อ.ท.มรกต ได้ทดลองสร้าง “รถพลังงานไฟฟ้า” ให้กับสถาบันวิจัยแห่งชาติ ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งขณะนั้นรถไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยมีราคาแพงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% เพื่อให้เกิดการยอมรับด้านคุณภาพ ในยุคเริ่มแรก พล.อ.ท.มรกต ได้ทดลองใช้ตัวถังของรถยนต์ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิร่า ประกอบเข้ากับอะไหล่คุณภาพดีจากแหล่งต่างๆ เช่น มอเตอร์และอุปกรณ์ควบคุมความเร็ว (มาตรฐานองค์การนาซ่า) จากสหรัฐอเมริกา, เพลาแบบเดียวกับรถสปอร์ตจากอิตาลี ฯลฯ จนกระทั่งในปีต่อมา จึงได้ริเริ่มออกแบบและผลิตตัวถังเองเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปภายใต้ชื่อ “C-FEE”

ผลิตภัณฑ์ในยุคแรกเริ่มของ C-FEE คือ C-FEE Mini รถยนต์ขนาด 2 ที่นั่งรูปโฉมคล้ายกับรถ Mini วินเทจ แต่เมื่อผลิตออกมารถรุ่นนี้กลับต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฏระเบียบเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการผลิตเชิงพาณิชย์ของ C-FEE Mini ก็คือ ผู้ผลิตต้องสามารถผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ต่างๆ ได้เอง เมื่อ C-FEE Mini ประสบกับปัญหาดังกล่าว พล.อ.ท.มรกต จึงต้องคิดค้นและพัฒนารถยนต์โมเดลใหม่ขึ้นมา (ที่ผลิตชิ้นส่วนเองได้ทั้งหมด) ซึ่งก็ได้แก่ “The Super Jaab”

The Super Jaab เป็นรถยนต์ขนาด 4 ที่นั่งแบบเปิดประทุนได้ ตัวถังทำจากเหล็กกล้ารูปทรงสี่เหลี่ยม (ออกแนวรถ “Jeep”) The Super Jaab ถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยแท้คันแรกที่มีป้ายทะเบียน และสามารถใช้ขับขี่บนท้องถนนได้ โดยสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. อะไหล่ที่ใช้กับรถคันนี้สามารถผลิตได้เองทั้งหมด ทั้งยังได้เพิ่มอุปกรณ์ตกแต่ง อันได้แก่ แอร์ วิทยุ เครื่องเล่นซีดี ฯลฯ ปัจจุบันมีสีให้เลือกซิ่งถึง 7 สี

ตอกย้ำแบรนด์ + Customise ยังไงก็ “เวิร์ค”
ไม่เพียงแต่ C-FEE Mini และ The Super Jaab เท่านั้น ปัจจุบันรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ของพล.อ.ท.มรกต (อย่างเช่น รถกอล์ฟ รถรับส่งผู้โดยสารในรีสอร์ท รถเก็บขยะในโรงพยาบาล ฯลฯ) ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน โดยสามารถเบียดสินค้าคู่แข่งจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (ที่เป็นเจ้าตลาด) ได้อย่างสบายๆ

ปัจจัยสำคัญอันเป็นข้อได้เปรียของ C-FEE ก็คือ แบรนด์นี้สามารถผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ได้แบบ “tailor-made” สามารถติดตั้งอุปกรณ์การใช้งานตามลักษณะภูมิประเทศ และมีบริการหลังการขายแบบ full-service นี่เองทำให้ในปีที่ผ่านมารถไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ของ C-FEE มียอดสั่งจองสูงถึง 400,000 คัน (ขณะที่กำลังการผลิตในเขตกรุงเทพฯ มีเพียงแค่ 10,000-20,000 คันเท่านั้น)

“รถไฟฟ้าของเราออกแบบตามลักษณะการใช้งานครับ ไม่ว่าจะวิ่งบนทางเรียบ ขึ้นเขา ในสนามกอล์ฟ บนถนนลูกรัง ฯลฯ ซึ่งของยี่ห้ออื่นส่วนใหญ่เขาออกแบบมาให้ใช้อเนกประสงค์ มันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงๆ นอกจากนี้ เรายังเน้นบริการหลังการขายด้วย หากมีปัญหาเราก็จะส่งทีมช่างของเราไปดูแลทันที อย่างล่าสุดเราส่งช่างบินลงไปถึงภูเก็ตเลย”

“ความภูมิใจของ C-FEE อีกอย่างคือ การสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ เรากล้าติดป้าย ‘Made in Thailand’ บนตัวรถ เพราะมั่นใจในคุณภาพ ผู้ประกอบการบางรายกลัวลูกค้าไม่มั่นใจเลยตั้งชื่ออิงกับแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการหลอกลูกค้าแล้ว ผมยังถือว่า เสียมารยาทด้วยนะ เพราะถ้าสินค้าคุณมีคุณภาพจริง การบอกลูกค้าว่า ผลิตในเมืองไทยก็เท่ากับเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ แถมยังสร้างชื่อให้กับประเทศด้วย” พล.อ.ท.มรกต เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจ

Hybrid สายพันธุ์ใหม่ สู่อนาคตรถพลังไฮโดรเจน
ยังไม่ทันที่ผู้ขับขี่ชาวไทยจะมีโอกาสได้ยลโฉมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสุดฮิปอย่าง Nissan Leaf (ที่ออกมาเขย่าวงการ eco-car ในอเมริกาเมื่อต้นปี 2554) พัฒนาการด้านยานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมของ C-FEE ก็ได้ก้าวล้ำหน้าไปอีกขั้น กับ “ซูเปอร์อิเล็คทริคคาร์” รถยนต์พลังไฮโดรเจนที่ใช้นวัตกรรมล้ำยุคยิ่งกว่ารถไฟฟ้าระบบชาร์จไฟเสียอีก

“ซูเปอร์อิเล็คทริคคาร์” ที่ว่านี้ เป็นรถไฮบริดผสมระหว่างแหล่งกำเนิดพลังงานที่เรียกว่า Fuel Cell กับชุดอุปกรณ์ทำความเย็น “Hercules” มีหลักการทำงานคือ Fuel Cell ทำหน้าที่แปลง “พลังงานเคมี” ให้เป็น “พลังงานไฟฟ้า” โดยอาศัยปฏิกิริยาระหว่าง “ก๊าซเชื้อเพลิง” (ไฮโดรเจน) กับ “ก๊าซอ๊อกซิไดซ์” (ออกซิเจน) เมื่อก๊าซไฮโดรเจนผ่านช่องทางเข้า ก็จะเกิดการออกซิเดชั่นที่ชุดประกอบขั้วไฟฟ้าแบบแผ่นเยื่อ (Membrane Electrode Assembly) ทำให้เกิด “กระแสไฟฟ้า” ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปตามตัวนำไฟฟ้าและทำให้เกิด “โปรตอน” ขึ้น โปรตอนเหล่านี้จะเคลื่อนผ่าน “แผ่นเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอน” และเกิดปฏิกิริยา “รีดักชั่น” ซึ่งในขั้นตอนนี้ ตัวเร่งปฏิกิริยาจะช่วยในการรวมตัวกับออกซิเจนที่ผ่านเข้ามาจนเกิดเป็น “น้ำ” ที่มีความบริสุทธิ์ระดับดื่มได้ ดังนั้น เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทั่วไปแล้ว แหล่งกำเนิดพลังงานแบบ Fuel Cell จึงไม่เหลือของเสียที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมเลย ที่สำคัญ เซลล์เชื้อเพลิงยังเป็นอุปกรณ์ให้พลังงานที่ไม่มีการเคลื่อนที่ของชิ้นส่วน จึงไม่ก่อให้เกิดเสียงดังในขณะเครื่องกำลังทำงานอีกด้วย

“เราอาจได้เห็นเทคโนโลยี Fuel Cell นี้ในปีหน้า เพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะนำออกมาโปรโมทในรูปแบบ “รถพลังงานไฮโดรเจน” ซึ่งผมบอกเลยว่าผู้บริโภคต้องศึกษาหลักการทำงานให้ดีก่อน เพราะมันอาจเป็นรถไฮโดรเจนแบบ “แอบแฝง” คือ ใช้วิธีเติมไฮโดรเจนเข้าไปในกระบอกสูบโดยตรง แต่ความจริงรถก็ยังใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอยู่ดี ซึ่งนั่นเท่ากับว่ามันก็ยังคงก่อให้เกิดมลพิษครับ”

“ของ C-FEE เราจะเป็น Fuel Cell แบบเต็มรูปแบบ ผู้คิดค้นเทคโนโลยี Fuel Cell นี้คืออเมริกาแต่เรามีห้องทดลองและอุปกรณ์ทำ Fuel Cell ของเราเอง ผมคิดว่ารถไฮโดรเจนเหมาะกับเมืองไทยมาก เพราะเรามีกำลังการผลิตไฮโดรเจนอย่างเหลือเฟือ อย่างที่ Eastern Seaboard ที่เดียวมีไฮโดรเจนเหลือใช้ปล่อยทิ้งไปในอากาศถึงชั่วโมงละ 20 ตัน ซึ่งสมมติว่า เราไม่ได้ไฮโดรเจนจากตรงนั้น เราก็ยังสามารถแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำได้ (น้ำประปา 10 ลิตรราคา 1.5 สตางค์ สามารถแยกไฮโดรเจนได้ถึง 12,000 ลิตร) ปัญหาหลักตอนนี้คือ เรายังไม่มีก๊าซไฮโดรเจนให้เติม แต่บริษัท BIG Bangkok Industrial Gas ได้เสนอตัวเป็นผู้ขนส่งไฮโดรเจนเหลือทิ้งจาก Eastern Seaboard มาให้ ซึ่งผมว่า แม้เราจะต้องเสียค่าขนส่งให้ BIG มันก็ดีกว่าต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศนะครับ”

“ส่วน Hercules คือ อุปกรณ์ทำความเย็นอิสระที่ทำงานโดยไม่รบกวนการใช้พลังงานของรถ ปัญหาของ C-FEE Mini กับ The Super Jaab คือ อุปกรณ์ทำความเย็นใช้พลังงานจากแหล่งกำเนิดพลังงานของรถโดยตรง ทำให้เมื่อเปิดแอร์ รถจะวิ่งได้ไม่กี่ชั่วโมง แต่ Fuel Cell + Hercules นี้ จะช่วยให้รถสามารถเปิดแอร์วิ่งได้ตามปกติเหมือนรถยนต์ทั่วไป แม้นอนหลับในรถก็ไม่เกิดอันตรายเพราะปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงถึง 132 กม./ชั่วโมง ให้กำลัง 88 แรงม้า ดีไซน์ออกแบบให้ดูโฉบเฉี่ยวฉีกไปจากรูปลักษณ์ของ eco-car ซึ่งบางทีดูแล้วไม่ค่อยเร้าใจ ซูเปอร์อิเล็คทริคคาร์โฉมใหม่นี้จะออกแนว Volkswagen Scirocco ครับ”

น่าเสียดายที่ทางผู้บริหาร C-FEE วางแผนว่าจะ “ขายเทคโนโลยี” นี้ให้กับบริษัทรถยนต์ที่สนใจ ...มากกว่าจะตั้งเป้าผลิตเอง

“รถพลังไฮโดรเจนคันนี้ เมื่อผลิตออกมาจะมีราคาขายอยู่ที่คันละ 3-4 ล้านบาท แต่ผมวางแผนว่า จะขายเทคโนโลยีนี้ให้กับบริษัทรถยนต์ ซึ่งตอนนี้ก็มีติดต่อเข้ามาหลายรายแล้ว ราคาที่เจรจากันน่าจะอยู่ที่ราว 10 ล้านยูโร (ประมาณ 450 ล้านบาท) ข้อดีของการขายเทคโนโลยีให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์คือ เมื่อเขาผลิตขายได้ในระดับแมส มันจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และทำให้ราคารถถูกลงในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นประชาชนทั่วไปก็จะมีโอกาสใช้แพร่หลายมากขึ้น หรือบริษัทผู้ผลิตเองอาจจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้กับรถรุ่นที่ประหยัดกว่าก็ได้ ผมมองว่า ในระยะยาวมันเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ของดีไม่ได้มีไว้แค่ (มอเตอร์) โชว์
แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จัก ก็คือ “การโฆษณาประชาสัมพันธ์” ซึ่งขณะที่บรรดาค่ายรถเทเงินหลายร้อยล้านบาทไปกับอีเวนท์ “มอเตอร์โชว์” ยานยนต์สีเขียวอย่าง C-FEE กลับเลือกใช้กลยุทธ์สุดประหยัด (ที่ดูเหมือนจะได้ผลชะงัดกว่า) ด้วยการ “วิ่งโชว์”

“วิธีประชาสัมพันธ์คือ การจัดโชว์รถร่วมกับสินค้าที่มาเป็นสปอนเซอร์ครับ โดยเราขออนุญาตทางกทม. จัดโชว์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และให้ผู้ที่สนใจสามารถทดลองขับขี่ได้เลย ที่ผ่านมาเราแค่วิ่งโชว์รอบเดียวก็มียอดออร์เดอร์เป็นพันคันแล้ว หลังจากนั้นเราก็ขยายพื้นที่ในการวิ่งโชว์ออกไป เช่น ไปบริเวณสวนลุมฯ ถนนพระราม 4 ในช่วงวันหยุด ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนเป็นอย่างดี”

ไม่กู้...ไม่กลุ้ม อีกมุมมองของการทำธุรกิจ
นับจากวันแรกที่ C-FEE โลดแล่นบนท้องถนน จวบจนถึงวันที่ผลิตไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า เคล็ดไม่ลับข้อหนึ่งในแผนธุรกิจสีเขียวนี้ก็คือ “ไม่ลงทุนด้วยเงินกู้”

“ผมอาจจะมีมุมมองแบบเดิมๆ แต่ถ้าคุณเป็น SME คุณก็ไม่ควรกู้เงินจำนวนมหาศาลมาลงทุน เพราะจะก่อให้เกิด impact ต่อธุรกิจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยเดินตลอด แต่โปรดักชั่นยังไม่ออก ผู้บริหารจะเสียสมาธิในการทำงาน และไม่เสริมสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น ผมแนะนำให้เก็บหอมรอมริบดีกว่าครับ เมื่อคุณมีสายป่านยาวพอแล้วค่อยลงทุนด้วยเงินของตัวเอง”

เป็นข้อคิดปิดท้ายที่น่าฟังทีเดียว … “ดอกเบี้ยคือตัวบ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์”