“.MGX” จากธุรกิจ Rapid Prototype สู่การฉีกกฏงานออกแบบระดับโลก
Technology & Innovation

“.MGX” จากธุรกิจ Rapid Prototype สู่การฉีกกฏงานออกแบบระดับโลก

  • 18 Sep 2012
  • 20095

เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

เมื่อจินตนาการสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการขึ้นรูปสามมิติที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประโยชน์ใช้สอยเดิมๆ ของเทคโนโลยีการสร้างงานต้นแบบ (Rapid Prototype) ก็ได้ถูก .MGX จากประเทศเบลเยียม ต่อยอดให้กลายเป็น “ธุรกิจผลิตภัณฑ์” ที่สร้างสรรค์จากเทคโนโลยีการขึ้นรูปสามมิติ

รู้จักเทคโนโลยีการสร้างรูปทรงสามมิติ
เริ่มต้นจากการขึ้นแบบด้วยโปรแกรม CAD โปรแกรมพื้นฐานในการสร้างรูปทรง 3 มิติ ไฟล์จากโปรแกรม CAD นี้จะถูกเปลี่ยนนามสกุลไปเป็น STL ซึ่งเป็นสกุลของไฟล์ที่สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรม Magics ที่ใช้ขึ้นรูป 3 มิติได้ (โปรแกรมนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Materialise บริษัทในเครือของ .MGX ซึ่งเป็นผู้นำด้านการขึ้นรูปด้วยเทคนิค Rapid Prototype) ข้อมูลของงานออกแบบผลิตภัณฑ์จะถูกส่งไปที่เครื่องขึ้นรูป 3 มิติ โดยสารตั้งต้นของผลิตภัณฑ์จะเป็นของเหลวประเภท Liquid Polymer ที่ถูกบรรจุไว้ในแทงก์ขนาดใหญ่ จากนั้นจะมีการยิงแสงเลเซอร์ตามตำแหน่งของชิ้นงานที่ถูกออกแบบไว้ ส่งผลให้จุดที่โดนแสงเลเซอร์ยิงเกิดการแข็งตัวกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นงามขึ้นมา

จากเทคโนโลยีสู่ความท้าทาย
.MGX มีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจการผลิตชิ้นงานต้นแบบ (Rapid Prototype) ของตนมาสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูป 3 มิติเป็นตัวสร้างความได้เปรียบ ด้วยเหตุนี้ .MGX จึงได้ส่งเทียบเชิญท้าให้นักออกแบบชั้นนำของโลกมาทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ อาทิ โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ บนเทคโนโลยีดังกล่าว วิธีการนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ฉีกกฎเกณฑ์การผลิตแบบเดิมๆ และเชื่อมโยงเข้ากับจินตนาการของนักออกแบบได้เต็มร้อย

ตัวอย่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของ .MGX
ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ .GMX แบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ คือ Principal Collection และ Limited Edition โดยทั้งสองรูปแบบล้วนมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น

QUIN.MGX ผลงานการออกแบบของ Bathsheba Grossman เป็นโคมไฟที่มีรูปทรงคล้ายดาวหลายดวงเกาะเกี่ยวกันเป็นทรงกลม ภายในดาวแต่ละดวงถูกออกแบบให้เป็นช่องหกเหลี่ยมคล้ายกับ “รังผึ้ง” ที่ซ้อนตัวกัน ส่งผลให้แสงสว่างที่ออกมานั้นเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมและหกเหลี่ยมสลับไปมา กลายเป็นศิลปะรูปทรงของแสงที่สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างมาก (โคมไฟชิ้นนี้ที่ถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยมจากการจัดอันดับของนิตยสาร TIME ในปี 2008)

FRACTAL.MGX ผลงานการออกแบบของ Gernot Oberfell และ Jan Wertel คือ โต๊ะกาแฟที่ต้องการเชื่อมต่อธรรมชาติเข้ากับงานสร้างสรรค์ โดยรูปทรงของโต๊ะทางด้านล่างจะเป็นโครงสร้างที่แตกแขนงออกเหมือนกับกิ่งก้านของต้นไม้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการขึ้นรูปเพียงครั้งเดียวของวัสดุ Epoxy Resin โดยเทคนิค Stereolithography เคยถูกนำไปจัดแสดงที่ Victoria & Albert Museum กรุงลอนดอน, The Metropolitan Museum of Art กรุงนิวยอร์ค และ Design Hub เมืองบาร์เซโลนา มาแล้ว

เจาะประเด็นความคิด
พัฒนาการของเทคโนโลยีการขึ้นรูปสามมิตินอกจากจะช่วยให้เราสามารถสร้างต้นแบบเพื่อศึกษารูปทรงก่อนการผลิตจริงแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราหาช่องทางในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นจากเทคโนโลยีชั้นเยี่ยมนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี หากนักออกแบบมีความเข้าใจในขีดความสามารถของเทคโนโลยี (หรือเครื่องจักร) ไม่เพียงพอ งานออกแบบของเขาก็อาจเดินไปไม่ถึงศักยภาพสูงสุดของมัน
ดังนั้นสิ่งที่นักออกแบบทุกคนไม่ควรมองข้าม ก็คือ การศึกษาหาความรู้ในด้านเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต เพราะองค์ความรู้ส่วนนี้จะเป็นสปริงบอร์ดที่ดีเยี่ยมสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ทั้งหมด

ข้อมูลเพิ่มเติม










ข้อมูลอ้างอิง : http://www.mgxbymaterialise.com/