จิตประดิษฐ์ โดย ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
Technology & Innovation

จิตประดิษฐ์ โดย ดร. ชิต เหล่าวัฒนา

  • 11 Nov 2007
  • 4765



ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะพัฒนาการทำงานของคอมพิวเตอร์และโปรแกรมตรรกะที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานบางอย่างแบบที่สมองมนุษย์ทำได้หรือบางครั้งก็บรรลุผลลัพท์ที่ดีกว่าความสามารถของมนุษย์เสียอีก ตัวอย่างจริงเรื่องหนึ่งที่ผมชอบเล่าให้ลูกศิษย์ฟังคือ สมัยผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน มีการประลองหมากรุกระหว่างแกรี่ คาสปารอฟ แชมป์หมากรุกโลกชาวรัสเซียกับโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ DEEPTHOUGHT ที่สร้างขึ้นมาในแนวทางนี้ จึงสามารถค้นหาคำตอบที่ถูกต้องผ่านเส้นทางที่เป็นไปได้(Game tree) มากกว่า "10 ล้านคำตอบ" นั่นคือ DEEPTHOUGHT สามารถสำรวจความเป็นไปได้ถึง 1050
ซึ่งมากกว่าที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะทำได้ถึง 1040 เท่า ในขณะที่มีการทำวิจัยรายงานผล (Groots 1965) ว่า แชมป์หมากรุก นานๆทีถึงจำเป็นต้องค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดจากความเป็นไปได้เพียง "100 คำตอบ" เท่านั้น

อย่างไรก็ตามการแข่งขันครั้งแรก DEEPTHOUGHT แพ้จากการที่โปรแกรม "แฮงค์" คำนวณวกไปวนมาหลังจากการแข่งขันดำเนินไปประมาณสามชั่วโมง เมื่อพบกันอีกทีในอีกสี่ปีถัดมา คราวนี้ DEEPTHOUGHT เอาชนะแชมป์คนเดียวกันไปได้ภายในเวลาเพียง 17 นาที

เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่พอสมควรที่มนุษย์กล้าหาญคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทั้งๆที่เรามีความรู้เกี่ยวกับสมองของเราน้อยมากในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นดูเสมือนเราพอเห็นลางๆว่า มีความเกี่ยวข้องระหว่างสมองกับความคิด สมองนั้นเปรียบเสมือนโรงงานหรือเครื่องจักรในขบวนการผลิต ซึ่งทำหน้าที่แปรข้อมูลที่ได้รับมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางความนึกคิดสังขารปรุงแต่ง ตลอดจนการตัดสินใจ สิ่งที่แตกต่างอย่างมากจากขบวนการการผลิตทั่วไปคือผลที่ได้ถูกนำไปปรับปรุงตัว ขบวนการเองด้วย ซึ่งในที่นี้ก็คือสมองนั่นเอง ดังนั้นสมองและความคิดจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง

สมองมนุษย์ซับซ้อนมาก มีเซลทำงานกว่าหนึ่งพันล้านเซล ยังไม่ปรากฎว่ามีเครื่องจักรใดในโลกที่มีองค์ประกอบส่วนย่อยทำงานมากมายถึงขนาดนี้ เพียงแค่คิดว่าแต่ละเซลสมองจะมีวิธีการทำงานสัมพันธ์กันอย่างไรก็เหนื่อยแล้วครับ ในความเป็นจริงเทคโนโลยียังไปไม่ถึงระดับนั้น กลุ่มเซลแทรกตัวอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เรายังไม่มีหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วระดับซุปเปอร์นาโนไปทำหน้าที่แยกแยะแต่ละเซลออกมาศึกษาส่วนที่ติดต่อกัน นอกจากนี้เนื้อเยื่อเซลมีความละเอียดอ่อนมากและถูกทำลายได้โดยง่าย น้องๆ ที่นิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรทราบนะครับว่าแต่ละจิบแต่ละอึก สามารถฆ่าเซลสมองได้นับพันนับหมื่นเซลทีเดียว

เรื่องเทคโนโลยีไม่ถึง เครื่องไม้เครื่องมือไม่มีนั้นยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการมิได้เตรียมตัวศึกษาและคิดเกี่ยวกับสมองอันซับซ้อนนี้อย่างมีประสิทธิผลดังนั้นนานาประเทศจึงได้เริ่มการศึกษา

"สมองและความคิด" อย่างจริงจัง อาทิเช่น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์โครงสร้างมนุษย์
"ฮิวแมนนอยด์" ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผสมผสานวิทยาการชั้นนำด้านแมคคาโทรนิคส์และวิศวกรรมการผลิตอัตโนมัติเข้าด้วยกันกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวได้ทำการศึกษาถึงขั้นสร้างสมองหุ่นยนต์ (Brain-Informatics Machines) ขึ้นมาเพื่อขจัดปัญหาที่ระบบควบคุม
และวิธีการคำนวณและการวิเคราะห์แบบปัจจุบันไม่สามารถทำได้มีการใช้โครงสร้างตรรกะทาง"วิทยาการสมอง (neuroscience)" เข้ามาช่วยให้ฮิวแมนนอยด์สามารถเดินและวิ่งได้พลิ้วดุจเดียวกับมนุษย์ คำว่าเข้ามาช่วยนี้ หมายถึงว่า มนุษย์มิได้เขียนรายละเอียดโปรแกรมการควบคุมแต่ละบรรทัดไปให้ สมองหุ่นยนต์รุ่นใหม่เป็นผู้สร้างรายละเอียดนี้ขึ้นมาเอง ในทำนองเดียวกันความหวังที่จะให้สมองเทียมนี้ "ผลิตความคิด" ขึ้นมาจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไป จึงเริ่มมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง เมื่อถึงวันนั้นเราคงได้เห็น "จิตประดิษฐ์" เกิดขึ้นจริง

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน:
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม)
จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและ
ทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T และยัง
ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์
(เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม "ฟีโบ้ (FIBO)"
เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล
เอกชน และบริษัทข้ามชาติในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยี
อัตโนมัติ ชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

photo credit: http://www.inspiredm.com | http://infographic-police.blogspot.com | http://www.behance.net/gallery/Infograph....923213 | http://www.vbuniverse.com/asimo.html