WikiCell: บรรจุภัณฑ์กินได้ ทางเลือกใหม่บนโต๊ะอาหาร
Technology & Innovation

WikiCell: บรรจุภัณฑ์กินได้ ทางเลือกใหม่บนโต๊ะอาหาร

  • 06 Dec 2013
  • 38723

เคยสังเกตหรือไม่ว่า ในบรรดาสารพัดขยะที่เราทิ้งในแต่ละวันนั้น มีจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นขยะจาก “บรรจุภัณฑ์”จากสถิติพบว่า ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว มีการทิ้งขยะเป็นจำนวนถึง 1.4 พันล้านปอนด์ (ราว 6 ร้อยล้านกิโลกรัม) ภายในเวลาเพียงหนึ่งวัน โดยร้อยละ 40 ของขยะเหล่านี้เป็นขยะบรรจุภัณฑ์ที่ถูกใช้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งกล่าวกันว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวิถีการกินดื่มของผู้คนในอนาคตอันใกล้ เพราะบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้สามารถทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง และที่น่าสนใจก็คือ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้เป็นบรรจุภัณฑ์กินได้


© upakovano.ru

“WikiCell” เป็นชื่อเรียกของบรรจุภัณฑ์ที่คิดค้นและพัฒนาโดยศาสตราจารย์ David Edwards นักวิศวกรรมชีวภาพและอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับนักออกแบบชาวฝรั่งเศส François Azambourg และนักชีววิทยา Don Ingber ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเซลล์ธรรมชาติในผลไม้อย่างองุ่น ส้ม หรือมะพร้าว ที่มีเปลือกนอกห่อหุ้มเนื้อและของเหลวภายในมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ว่านี้


wcoes.org

หากลองนึกถึงผลส้ม จะเห็นว่าเปลือกส้มนั้นทำหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความคงทนและย่อยสลายได้ในตัวเอง ทำให้เราไม่จำเป็นต้องบรรจุใส่ในกล่องหรือถุงต่างหาก นอกจากนั้นเปลือกของมันยังสามารถรับประทานได้อีกด้วย แม้ว่าจะมีน้อยคนที่รับประทานเปลือกส้ม แต่ในกรณีของผลไม้ชนิดอื่นอย่างแอปเปิลหรือลูกพีชนั้น การรับประทานเปลือกของมันก็เป็นเรื่องปกติ


© coolhunting.com

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่พบในผลไม้เหล่านี้ จึงได้กลายเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ WikiCell ซึ่งมีลักษณะเป็นบรรจุภัณฑ์สองชั้นที่สามารถรับประทานได้ โดยชั้นในทำหน้าที่ห่อหุ้มและพยุงอาหารหรือของเหลว ด้วยการนำส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ช็อคโกแลต ผลไม้ ถั่ว เมล็ดธัญพืช ฯลฯ มาผสมกับแคลเซียม และไคโตซาน (ไบโอพอลิเมอร์ธรรมชาติจากเปลือกหอยหรือกุ้ง) หรือแอลจิเนต (สารสกัดจากสาหร่าย) เพื่อให้เกิดการจับตัวเป็นเปลือกนิ่มๆ

     ส่วนบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกนั้นจะทำหน้าที่ปกป้องเปลือกชั้นใน โดยมีสองชนิดให้เลือกขึ้นอยู่กับการใช้งาน ชนิดแรกผลิตจากไอโซมอลต์ (สารให้ความหวานชนิดหนึ่ง) สามารถรับประทานได้โดยนำไปล้างก่อน คล้ายกับแอปเปิล ส่วนชนิดที่สองนั้นผลิตด้วยชานอ้อยหรือมันสำปะหลัง ซึ่งแม้จะรับประทานไม่ได้แต่ก็สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และสามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์กระดาษแข็งที่ใช้บรรจุอาหารในปัจจุบัน เพียงแกะออกแล้วทิ้ง คล้ายกับเปลือกส้ม


© businessinsider.com

บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้สามารถปรับเปลี่ยนขนาด รูปแบบ และรสชาติได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังสามารถเติมสารอาหารอื่นๆ ลงไป เพื่อเพิ่มโภชนาการให้แก่อาหารและเครื่องดื่มได้อีกด้วย โดยศาสตราจารย์เดวิดให้สัมภาษณ์ว่า WikiCell ได้รับความสนใจจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำหลายแห่ง แต่เนื่องจากเทคโนโลยียังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังต้องมีการวิจัยและพัฒนาอีกมาก ในขณะที่ด้านผู้บริโภคเองก็คงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงกระบวนการรับรู้ในบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่นี้พอสมควร



© retaildesignblog.net

ด้วยเหตุนี้ ร้าน Wikibar ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้นในปารีสเป็นสาขาแรก เมื่อต้นปี 2013 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้สัมผัส รวมถึงทำความเข้าใจนวัตกรรมนี้มากขึ้น โดยรายการอาหารชุดแรกๆ ที่วางจำหน่ายในร้าน ได้แก่ ไอศครีม โยเกิร์ต และชีส ซึ่งออกแบบให้บรรจุใน WikiCell ทรงกลมขนาดพอดีคำ สามารถหยิบรับประทานด้วยมือได้ทันที


© coolhunting.com
นวัตกรรมใหม่ทำให้การสร้างสรรค์และผสมผสานรสชาติของไอศครีมและบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ
เช่น ไอศครีมมะม่วงในบรรจุภัณฑ์มะพร้าว ไอศครีมช็อกโกแลตในเปลือกรสเฮเซลนัท หรือไอศครีมวนิลาในเปลือกที่ทำจากพีนัท


© businessinsider.com
โยเกิร์ตรสชาติหอมมันบรรจุในเปลือกที่ทำจากผลเบอร์รี่


© businessinsider.com
กัสปาโชหรือซุปมะเขือเทศเย็นแบบอิตาเลียน ในบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากมะเขือเทศและใบโหระพา


© businessinsider.com
น้ำมะนาวในเยื่อหุ้มรสมะนาว รับประทานกับไอศครีมและผลไม้


© businessinsider.com
บรรจุภัณฑ์ทรงลูกแพร์ เพียงกัดที่ปลายแล้วดื่มด่ำกับรสชาติสดชื่นของน้ำส้ม
หรือจะเคี้ยวเปลือกนอกตามไปด้วยก็ไม่ว่ากัน

WikiCell ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากงาน SIAL 2012 งานแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังได้รับการยกย่องจากนิตยสาร The New York Times ให้เป็นหนึ่งใน 32 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกอีกด้วย

ที่มา:
businessinsider.com
edition.cnn.com
fastcoexist.com
finedininglovers.com
wikipearl.com

เรื่อง: ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ