ERO หุ่นยนต์รีไซเคิลตึกคอนกรีต
Technology & Innovation

ERO หุ่นยนต์รีไซเคิลตึกคอนกรีต

  • 14 May 2014
  • 2518
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ตึกคอนกรีต” ถือเป็นหนึ่งในผลิตผลสำคัญที่มาพร้อมกับการพัฒนาและเติบโตของเมือง และด้วยพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด การรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่จึงเป็นภาพที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวี่วันและทุกมุมเมือง 

โดยทั่วไปการรื้อถอนอาคารไม่ว่าจะด้วยวิธีการทุบหรือระเบิดทิ้ง ก็ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานมากเพราะต้องอาศัยแรงจากเครื่องจักรขนาดใหญ่ และยังต้องสูญเสียน้ำปริมาณมากเพื่อฉีดป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ชิ้นส่วนจากการรื้อถอนก็มักจะไปลงเอยในหลุมฝังกลบ หรือหากต้องการนำไปผ่านกระบวนรีไซเคิลในโรงงานก็จะต้องสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานในการขนส่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งต่อ

Ero
© mediaanarchist.wordpress.com

Erosion
© mediaanarchist.wordpress.com

ERO หรือ Erosion คือชื่อของต้นแบบหุ่นยนต์รีไซเคิลคอนกรีตที่คิดค้นโดย Omer Haciomeroglu นักศึกษาจาก Umeå Institute of Design ในสวีเดน ซึ่งได้รับรางวัล International Design Excellence Award (IDEA) ประเภทการออกแบบโดยนักเรียนนักศึกษา (Student Designs Category) เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา ความพิเศษของหุ่นยนต์อัจฉริยะนี้ คือความสามารถในการคัดแยกและรีไซเคิลส่วนประกอบของโครงสร้างอาคารคอนกรีตทั้งหมด ณ จุดรื้อถอน ด้วยระบบที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของการจัดการและการใช้พลังงาน ทั้งยังลดการเกิดฝุ่นและมลพิษอีกด้วย

Ero Water Shoot 
© mediaanarchist.wordpress.com
หัวฉีดน้ำแรงดันสูงทำหน้าที่กะเทาะผิวปูน

การทำงานของ ERO จะเริ่มจากการสำรวจโครงสร้างตึกและประมวลผลเพื่อเลือกวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสม หุ่นยนต์จะกะเทาะให้ผิวปูนแตกออกด้วยแรงดันน้ำ (Hydro-Demolition) ก่อนจะบดและคัดแยกวัสดุก่อสร้างของอาคารอาทิ ปูนซีเมนต์ ทราย หิน ฯลฯ ออกจากกัน เหลือเพียงเหล็กเส้นสภาพสมบูรณ์ที่พร้อมสำหรับการตัดและนำไปรีไซเคิล ในขณะที่ส่วนผสมของคอนกรีตที่คัดแยกแล้วก็จะบรรจุลงในกระสอบเป็นประเภท สามารถนำกลับไปใช้ผสมเพื่อหล่อเป็นคอนกรีตได้อีกครั้ง อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ คือ หุ่นยนต์ต้นแบบนี้จะรื้อถอนอาคารและจัดการกับวัสดุก่อสร้างทั้งหมด โดยไม่มีส่วนไหนต้องกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบเลยนั่นเอง

หุ่นยนต์รีไซเคิลตึกคอนกรีต
© architizer.com

หุ่นยนต์ Ero
© decisionsdurables.com

หุ่นยนต์ ERO ยังมีความพิเศษอีกหนึ่งข้อคือระบบการจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่า โดยพลังงานส่วนหนึ่งที่หุ่นยนต์ใช้ในการทำงานเป็นพลังงานที่มาจากระบบผลิตกระแสไฟฟ้าภายในตัวเอง ซึ่งอาศัยการเคลื่อนตัวของการอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตัวปั๊มสูญญากาศของหุ่นยนต์ทำการดูดคอนกรีตเข้าสู่ท่อ นอกจากนี้ น้ำที่ใช้ในการรื้อถอนยังถูกรีไซเคิลเพื่อกลับมาวนใช้ใหม่ได้อีก ดังนั้นการทำงานของหุ่นยนต์จึงสิ้นเปลืองน้อยกว่าการรื้อถอนแบบทั่วไป 

Ero Infographic
© mediaanarchist.wordpress.com

Omer Haciomeroglu ผู้ออกแบบ เปิดเผยว่าขณะนี้โครงการหุ่นยนต์ต้นแบบกำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับผู้ผลิต ซึ่งหากเป็นไปได้ด้วยดีก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตและทดลองต้นแบบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี Haciomeroglu มองว่าแนวคิดการทำงานของหุ่นยนต์ ERO อาจนำไปสู่โมเดลธุรกิจก่อสร้างแบบใหม่ที่ต่างออกไปจากเดิมอีกด้วย เช่น หลังจากทำการรื้อถอน ทีมงานอาจสร้างสถานีชั่วคราวขึ้นเพื่อนำวัสดุก่อสร้างที่ได้มาผลิตเป็นเป็นบล็อคคอนกรีตสำหรับก่อสร้าง และขายให้แก่ผู้ที่กำลังจะสร้างอาคารใหม่ในบริเวณใกล้เคียงได้โดยตรง ฯลฯ

แม้จะยังไม่ได้ผลิตออกมาใช้งานจริง แต่แนวคิดการสร้าง ERO ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการมองเห็นปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในการทำงานและพยายามหาทางออกใหม่ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่มุมมองและรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่ประสิทธิภาพกว่าเดิม เพราะหากว่าเราสามารถคัดแยกวัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้เลย ณ จุดรื้อถอน ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนในการจัดการกับชิ้นส่วนเหล่านี้ ทั้งยังลดมลพิษที่จะเกิดจากการขนย้ายไปยังโรงงานรีไซเคิลอีกด้วย


ที่มา:
บทความ “Amazing ERO Concrete-Recycling Robot Can Erase Entire Buildings” (21 กุมภาพันธ์ 2014) โดย Lidija Grozdanic จาก inhabitat.com
บทความ “ERO - Concrete Recycling Robot” จาก archello.com
บทความ “ERO Robot - Erasing and Recycling Buildings” (29 กรกฎาคม 2013) จาก mediaanarchist.wordpress.com
บทความ “This Concrete-Eating Robot Can Recycle an Entire Building on the Spot” (16 เมษายน 2014) โดย Adele Peters จาก fastcoexist.com

เรื่อง: ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ