ไม่หนาว ไม่ร้อน แต่กำลังดี
Technology & Innovation

ไม่หนาว ไม่ร้อน แต่กำลังดี

  • 01 May 2014
  • 2413

Outlast® Adaptive Comfort®.jpg

ในปี 1988 หน่วยงาน Triangle Research and Development (TRDC) สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับองค์การนาซ่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเสื้อผ้าและถุงมือสำหรับปกป้องมนุษย์อวกาศจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศอย่างรุนแรงทั้งร้อนจัดและหนาวเย็นสุดขั้ว โดยใช้วัสดุที่เปลี่ยนสถานะได้จากการดูดซับหรือคายความร้อนที่เรียกว่า PCM (Phase Change Material) ซึ่งสามารถอธิบายการทำงานง่ายๆ ได้เหมือนน้ำแข็งที่อยู่ในเครื่องดื่ม ตอนที่น้ำแข็งละลายและเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลวนั้น น้ำแข็งได้ดูดซับความร้อนจากเครื่องดื่มออกไป ทำให้เครื่องดื่มนั้นเย็นลงและอยู่ที่อุณหภูมิที่เย็นนานขึ้น เช่นเดียวกัน ถ้าเราใส่เสื้อผ้าที่เนื้อผ้ามีอนุภาคนาโน PCM ออกไปภายนอกอาคารที่มีอุณหภูมิสูงกว่า อนุภาค PCM จะเริ่มกระบวนการดูดซับความร้อนจากร่างกายเราเข้าไปในเนื้อหาผ้า ทำให้ผู้สวมใส่ยังรู้สึกเย็นสบาย และหากเราออกไปภายนอกอาคารที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ความร้อนที่สะสมอยู่ในอนุภาค PCM จะค่อยๆ ปล่อยออกมาจากเนื้อผ้าและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

บริษัท เอาท์ลาส เทคโนโลยี (Outlast Technology) คืออีกหนึ่งบริษัทที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนำมาใช้สำหรับผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น รวมทั้งถุงนอน ชุดกันกระสุน หรือใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้พัฒนาผ้า Outlast® Adaptive Comfort®  สามารถเปลี่ยนสภาพตามอุณหภูมิ ด้วยอนุภาคเซรามิกที่เรียกว่า Thermocules™ ซึ่งภายในบรรจุด้วยแว็กซ์ชนิดพิเศษ สามารถใส่เข้าไปในผ้าด้วยวิธีเคลือบผิว ผสมเข้าไปในเส้นใย หรือการพิมพ์ ซึ่งเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไป แว็กซ์นี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยจะดูดซับพลังงานความร้อนจากผิวหนังของผู้สวมใส่ ทำให้เสื้อผ้ามีอุณหภูมิสูงขึ้น และเมื่ออุณหภูมิที่ผิวหนังของเราลดต่ำลง แว็กซ์นี้จะค่อยๆ แข็งตัวกลับสู่สภาพเดิม โดยการคายพลังงานความร้อนกลับออกมาสู่ร่างกายเราทำให้เกิดสมดุลของอุณหภูมิขึ้น สมดุลดังกล่าวนี้เกิดจากวัสดุที่สามารถดูดซับอุณหภูมิจากร่างกายและคายพลังความร้อนกลับสู่ร่างกายได้

เมื่อปัจจัยสี่อย่างเครื่องนุ่งห่มไม่ได้ผลิตเพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่คือการสร้างสัมผัสที่ดีในการสวมใส่ ซึ่งจะสร้างประสบการณ์และความรู้สึกมั่นใจแก่ผู้สวมใส่ได้ โดยสามารถพิสูจน์ได้จากตัวแปรที่ทำให้รู้สึกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับความร้อน  ความหนาของเส้นใย แรงเสียดทานของใยผ้า ความแข็งของการโค้งงอ ความสามารถในการยืดออก การดูดซับความชื้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนด้วยวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายได้ในทุกการสวมใส่

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข

พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Material ConneXion® Bangkok

MC# 6562-01.jpg


PolyFlav™
หมายเลขวัสดุ MC# 6562-01

พลาสติกที่มีกลิ่นหอมและรสติดทนนาน ผลิตโดยการผสมสารประกอบที่ให้กลิ่นรสต่างๆ ลงไปในโพลิเมอร์ ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในโครงสร้างโมเลกุลของพลาสติกและจะค่อยๆ ปล่อยออกมา มีอายุนานกว่า 1 ปี ให้กลิ่นและรสที่มีความเข้มข้นสูงถึงร้อยละ 88 ได้ นานหลายชั่วโมงหลังการใช้งาน โดยสามารถนำไปขึ้นรูปด้วยการฉีด เทอร์โมเซตติง และการอัดรีด โดยมีกลิ่นและรสที่ผลิตออกมา ได้แก่ เบอร์รี่ ซิตรัส มินต์ ช็อกโกแลต และองุ่น ผู้ผลิตสามารถพัฒนากลิ่นและรสอื่นๆ ได้ตามต้องการ และสามารถผสมกับสารให้สีได้ทุกสี วัสดุนี้ใช้ส่วนผสมที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐ อเมริกา ไม่มีส่วนผสมของฟาทาเลต โลหะหนัก หรือ บิสฟีนอล เอ (BPA) เหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์ทันตกรรม ฟันยาง ภาชนะเครื่องดื่ม และของเล่นเด็ก


MC# 6184-01_002.jpg

ผ้ากันยุง
ผลิตโดย
บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ประเทศไทย
หมายเลขวัสดุ  MC# 6184-01 

ผ้าถักที่มีสารกันยุงจากธรรมชาติ ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชั่น ซึ่งบรรจุสมุนไพรที่มีคุณสมบัติไล่ยุงตามธรรมชาติลงในไมโครแคปซูลโดยผนึกลง ในขี้ผึ้งหรือไขมัน โดยมีคุณสมบัติเป็น Microporous ซึ่ง มีขนาดเล็กในระดับไมโครเมตร และจะค่อยๆ ปล่อยสารสกัดจากสมุนไพรออกมาเมื่อเกิดการขัดถูและเสียดสีจากการใช้งาน ผ้านี้ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทย และรับรองคุณภาพว่าสามารถลดอัตราการถูกยุงกัดได้ประมาณร้อยละ 90 ในการสวมใส่ครั้งแรก และเมื่อผ่านการซักไปแล้ว 20 ครั้ง คุณสมบัตินี้จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50 เหมาะสำหรับใช้ทำชุดพยาบาล ชุดกีฬา ชุดกลางแจ้ง และเครื่องนอน
hydro-tech.co.th

ที่มา
spinoff.nasa.gov