Aging Change
Technology & Innovation

Aging Change

  • 01 Apr 2014
  • 2917

page-19.jpg

หญิง
  • ใบหน้า ผิวหนังจะบางลงและสูญเสียความยืดหยุ่น ชั้นไขมันใต้ผิวหนังลดลงทำให้ผิวแห้งและเกิดรอยย่น เซลล์กล้ามเนื้อลดขนาดลงทำให้รูปหน้าเปลี่ยน เอ็นยึดกล้ามเนื้อใบหน้าหย่อนคล้อยทำให้เห็นร่องริ้วรอยชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณใต้ตา ร่องแก้ม และคางที่ห้อยย้อย

  • สมอง เซลล์สมองลดจำนวนลง เนื้อสมองฝ่อลง (brain atrophy) การส่งกระแสประสาทช้าลงทำให้การตอบสนองช้าตาม สมองส่วนความจำระยะสั้น (recent memory) ทำงานแย่ลงทำให้มีอาการหลงลืมง่ายและสับสน มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการนอนทำให้หลับได้ไม่ลึกและตื่นเช้า เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองยังมีการแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น อาจส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต (stroke) จากภาวะสมองขาดเลือด

  • กระดูก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสื่อมของกระดูกในผู้สูงอายุคือการสูญเสียมวลกระดูก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเซลล์สร้างกระดูก (osteoblast) และเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งจะทำให้กระดูกเปราะแตกง่ายขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

  • หัวใจ โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่น เส้นเลือดที่แข็งขึ้นทำให้ได้รับอันตรายจากความดันโลหิตหรือไขมันได้มากขึ้น เกิดการสะสมของไขมันและแคลเซียมทำให้เกิดคราบ (plaque) เกาะบริเวณผนังเส้นเลือดด้านใน (artherosclerosis) ส่งผลให้ขนาดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเล็กลง และจะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอขณะออกกำลังกาย เกิดอาการเจ็บหน้าอก หากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) และเสียชีวิตได้

  • กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะของคนสูงอายุจะจุน้ำปัสสาวะได้ลดลง กล้ามเนื้อยืดหยุ่นน้อยลง อีกทั้งยังบีบตัวไล่ปัสสาวะออกได้ไม่หมด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นด้วย

  • มดลูกและรังไข่ ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีการตกไข่ลดลง และไข่มีคุณภาพแย่ลง ทำให้โอกาสในการปฏิสนธิลดลง ผนังมดลูกด้านในซึ่งเป็นที่ฝังตัวของไข่บางลง ทำให้การฝังตัวเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนที่อายุเฉลี่ย 45 ปีขึ้นไป รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเพศลดลงทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอจนหมดไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้อารมณ์แปรปรวน

  • ข้อ ภาวะข้อเสื่อมในผู้สูงอายุเกิดจากการสูญเสียกระดูกอ่อนรอบข้อ พื้นผิวข้อไม่เรียบ เอ็นยึดข้อหดแข็ง และมีการลดลงของน้ำในข้อ ทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อฝืด รับน้ำหนักได้น้อยลง ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลงไปด้วย 
  page-20.jpg
ชาย
  • ตา ช่วงอายุประมาณ 40 ปี กล้ามเนื้อยึดเลนส์ตาจะเริ่มเสื่อม เลนส์ตาแข็งขึ้นและเสียความยืดหยุ่นทำให้โฟกัสภาพได้ช้าลง เกิดภาวะสายตายาวจากอายุ (presbyopia) มีอาการมองใกล้ไม่ชัดต้องใช้แว่นสายตายาวสำหรับอ่านหนังสือ การผลิตน้ำตาอาจลดลงจนเกิดภาวะตาแห้ง หลังอายุ 60 ปี เลนส์ตาจะขุ่นทึบและแข็งขึ้นซึ่งเป็นอาการของโรคต้อกระจก (cataract) ทำให้มีตาพร่ามัว มองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล หรืออาจเห็นสีเปลี่ยนแปลงไป

  • หู เยื่อแก้วหูจะหนาตัวขึ้น ส่วนประกอบของกระดูกหูแข็งขึ้น (ear ossicles) ทำให้สูญเสียการได้ยิน (presbycusis) โดยเฉพาะเสียงสูง มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หูอื้อ หรือมีเสียงในหู (tinnitus) นอกจากนี้ยังเกิดมีขี้หูอุดตัน (impact ear wax) ร่วมได้อีกด้วย 

  • ประสาทรับรสและกลิ่น การรับรสและกลิ่นนั้นต้องทำงานร่วมกัน ต่อมรับรสที่ลิ้นจะลดจำนวนลงอย่างชัดเจนเมื่ออายุ 60 ปี ขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่จะค่อยๆ ฝ่อลงทำให้ลิ้นรับรสได้น้อยลง โดยเฉพาะรสเค็มและหวาน และจะเสียประสาทสัมผัสส่วนรับรสเปรี้ยวและขมในเวลาต่อมา ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลดได้ การสร้างน้ำลายที่ลดลงทำให้ปากแห้ง ความสามารถในการรับกลิ่นจะลดน้อยลงเมื่ออายุ 70 ปี ซึ่งสัมพันธ์กับการสูญเสียปลายประสาทบริเวณจมูก และการสร้างเมือกในโพรงจมูกที่ลดลง

  • ปอด กระดูกหน้าอกจะบางลงและเปลี่ยนรูป กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจจะอ่อนแรงลงส่งผลให้หน้าอกหดขยายลดลงขณะหายใจ โดยปกติเมื่ออายุประมาณ 20-30 ปี เราสามารถหายใจเอาอากาศเข้าปอดได้เป็นปริมาตรประมาณ 1 ลิตรต่อครั้ง แต่จะลดลงเหลือเพียงครึ่งลิตรเมื่ออายุได้ 70 ปี นอกจากนี้ ถุงลมเล็กๆ ในปอดยังเสียรูปทรงและกักลมไว้โดยไม่สามารถถ่ายเทออกซิเจนเข้าสู่เส้นเลือดได้อย่างปกติ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย และอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

  • กล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อจะไม่สามารถสร้างใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่สึกหรอได้ ซึ่งการเสื่อมของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุเกิดจากการไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อในส่วนนั้นๆ ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อลดขนาดลงและอ่อนแรง แต่ในร่างกายคนเรานั้นยังมีกล้ามเนื้อสองส่วนที่ไม่ได้สูญเสียเซลล์ไปตามกาลเวลา คือกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อกระบังลม เนื่องจากมันไม่เคยหยุดทำงานนั่นเอง

  • ลำไส้ใหญ่ ปกติลำไส้จะมีทั้งแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษอยู่ในภาวะสมดุล แต่เมื่ออายุย่างเข้า 55 ปี แบคทีเรียที่ดีจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ และมีอาการท้องผูกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

  • ต่อมลูกหมาก ผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไปมักมีปัญหาปัสสาวะลำบากจากการที่ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นจนกดเบียดท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะไม่สุด และปัสสาวะบ่อย

เรื่อง: พญ.วิภาดา วามวาณิชย์