Birth Control Pills
Technology & Innovation

Birth Control Pills

  • 01 Apr 2014
  • 2406
104355499-bc.jpg
© hotinkreviews.blogspot.com

สิทธิและเสรีภาพในการคุมกำเนิดที่ตกมาอยู่ในมือผู้หญิงด้วยยาเม็ดแผงเล็กๆ นับเป็นการคิดค้นนวัตกรรมเภสัชภัณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดของประชากรที่ไม่สามารถควบคุมได้ในอดีต ยาคุมกำเนิดจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลก นับตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของประชากรหลายเท่าตัวในยุคเบบี้ บูมเมอร์ (ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964) ทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลให้โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากในวันนี

  • ในปี 1951ยุคสมัยที่การคุมกำเนิดเป็นเรื่องซึ่งถูกควบคุมและห้ามเผยแพร่โดยกฎหมาย มาร์กาเร็ต แซนเจอร์ (Margaret Sanger) นางพยาบาลชาวอเมริกันผู้เติบโตท่ามกลางพี่น้อง 11 คน และเห็นความลำบากจากการไม่มีเงินมากพอสำหรับดูแลสมาชิกทั้งหมด ได้ร่วมมือกับนักชีววิทยา แคธารีน แมคคอร์มิก (Katharine McCormick) เพื่อค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาการมีลูกมาก ด้วยการวิจัยเพื่อหาตัวอย่างและวิธีการคุมกำเนิดร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน เกรกอรี พินคัส (Gregory Pincus) จนให้ผลลัพธ์เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดและคลินิกที่ให้คำปรึกษาซึ่งภายหลังคือสหพันธ์วางแผนครอบครัวแห่งอเมริกา (Planned Parenthood Federation of America) 

  • แม้ว่ายาคุมกำเนิดจะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี 1960 แต่ท่ามกลางช่วงเวลาที่การจัดระเบียบสังคมยังคงเป็นอำนาจของศาสนจักร จึงทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ที่เชื่อว่าการคุมกำเนิดที่ถูกต้องคือการบังคับใจตนเองและการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีไข่ตกเท่านั้น แต่หญิงสาวส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เห็นด้วยและสนับสนุนว่ายาคุมกำเนิดนั้นเป็นวิธีการทางธรรมชาติเช่นกัน การค่อยๆ เปิดใจยอมรับทำให้ช่วงระหว่างปี 1960-1965 อัตราการใช้ยาคุมกำเนิดโดยหญิงนิกายโรมันคาทอลิกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 13 และกลายเป็นร้อยละ 98 ในปัจจุบัน

  • เมื่อปี 1967 ผู้นำชาวแอฟริกัน-อเมริกันได้ออกมาประณามว่าการคุมกำเนิดนั้นเป็น “Black Genocide” หรือการจำกัดการเกิดของประชากรกลุ่มผิวสีอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการออกนโยบายจากรัฐบาลให้ผู้หญิงผิวสีในสหรัฐฯ ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แต่หลังจากการหลุดพ้นจากการควบคุมโดยคนผิวขาว ประชากรผิวสีจำเป็นต้องเร่งผลิตประชากรเพื่อเพิ่มจำนวนและโอกาสในการเข้าไปมีบทบาททั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของสหรัฐฯ ในอนาคต

  • ครั้งที่จีนออกนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) เมื่อปี 1979 การคุมกำเนิดรูปแบบต่างๆ ได้กลายเป็นสวัสดิการจากรัฐบาลเพื่อชะลออัตราการเกิดใหม่ของประชากร ทั้งบริการให้คำปรึกษาการวางแผนครอบครัว บริการแจกจ่ายอุปกรณ์คุมกำเนิด ไปจนถึงในกรณีที่หากทารกในครรภ์ไม่ใช่เพศชายยังสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย แม้นโยบายนี้จะได้รับการผ่อนปรนในปัจจุบัน แต่ผลที่ตามมาก็คือ หลังจากปี 2012 มีประชากรจีนสูงอายุกว่า 123 ล้านคนที่ไม่มีคนคอยเลี้ยงดู เนื่องจากลูกชายที่เป็นผลผลิตจากนโยบายดังกล่าวนั้นต่างแต่งงานไปสร้างครอบครัวของตนเอง

  • ในปี 2011 มูลค่าผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดในตลาดโลกนั้นมีมากถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตมากถึง 23 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2018 โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด 

  • ปัญหาการลืมกินยาให้ตรงเวลานับเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไขผ่านกระบวนการออกแบบ บริษัทผลิตยาคุมยี่ห้อ Dialpak จึงเปิดตัวยาเม็ดคุมกำเนิดที่ถูกออกแบบมาให้บรรจุอยู่ในแผงวงกลมเป็นครั้งแรกในปี 1962 โดยใน 1 แผง บรรจุ 28 เม็ด มีวันระบุเป็นเกลียวหมุนอยู่ด้านในเพื่อให้สามารถจดจำวันที่รับประทานได้ ก่อนที่แผงยาคุมกำเนิดจะถูกปรับเป็นสี่เหลี่ยมในปี 1965 โดยบรรจุเม็ดยาลงในตารางปฏิทินเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ จนปัจจุบันแผงยาคุมกำเนิดถูกปรับเปลี่ยนอีกครั้งให้บรรจุแบบเรียง 4 แถว แบ่งแยกสีตามประเภทฮอร์โมน โดยมีลูกศรระบุลำดับการรับประทานอย่างชัดเจน CT

    เรื่อง: กมลกานต์ โกศลกาญจน์ 
  • ที่มา
    pbs.org
    hhs.gov
    bbc.co.uk
    huffingtonpost.com
    guttmacher.org