กล่องดำ
Technology & Innovation

กล่องดำ

  • 01 Aug 2014
  • 3368

“นี่คือกัปตัน ขอให้ทุกคนนั่งอยู่กับที่ เรามีระเบิดบนเครื่อง…” เสียงประกาศของหนึ่งในผู้ก่อการร้ายบนเครื่องบินเพียงลำเดียวที่ไม่บรรลุเป้าหมายการพุ่งชนอาคารในโศกนาฏกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ถูกบันทึกไว้ในกล่องดำและนำไปสู่การตามล่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังในเวลาต่อมา กล่องดำจึงเป็นมากกว่าสมุดรายงานข้อเท็จจริงทางการบิน แต่ยังหมายถึงนาทีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญของทุกอุบัติภัยทางอากาศ

• ทศวรรษ 1950 ดร.เดวิด วอร์เรน (David Warren) นักวิทยาศาสตร์แห่งห้องปฏิบัติการวิจัยทางอากาศยาน (Aeronautical Research Laboratory) ประเทศออสเตรเลีย คิดวิธีการสร้างอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน ขณะที่เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้สืบสวนการตกของเครื่องบินไอพ่นโคเมต (Comet) ซึ่งหาสาเหตุไม่ได้ โดยกล่าวว่าได้แรงบันดาลใจจากการเห็นเครื่องบันทึกเสียงขนาดจิ๋วในงานแสดงสินค้าแห่งหนึ่ง

• ในปี 1957 วอร์เรนและทีมงานสร้างสรรค์กล่องดำต้นแบบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเรียกว่า หน่วยบันทึกการบินเออาร์แอล (ARL Flight Memory Unit) แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากทางการออสเตรเลีย แต่สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบนี้กลับเรียกความสนใจจากสหราชอาณาจักรให้นำไปพัฒนาต่อ จนกระทั่งในปี 1960 หลังเกิดเหตุเครื่องบินตกที่รัฐควีนส์แลนด์ ทำให้ทางการออสเตรเลียออกกฎหมายบังคับใช้กล่องดำกับเครื่องบินทุกลำเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาในปี 1966 และประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา

• แม้ ‘กล่องดำ’ จะเป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายจนทำให้เข้าใจว่ามีสีเหมือนชื่อ แต่ในความเป็นจริง กล่องปริศนาที่มีขนาดเท่ากล่องรองเท้านี้ถูกออกแบบให้มีสีส้มสด เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาในทุกสภาพแวดล้อมหลังเกิดอุบัติเหตุ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าชื่อเรียกดังกล่าวอาจมีที่มาจากการออกแบบในยุคแรกที่เป็นสีดำสนิท หรือเป็นการอ้างถึงสภาพดำเกรียมของเครื่องบินหลังเกิดการเผาไหม้

• กล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (Cockpit Voice Recorder) และกล่องบันทึกข้อมูลทางการบิน (Flight Data Recorder) คือชื่อทางการของกล่องดำ กล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินทำหน้าที่บันทึกเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องนักบิน โดยรับเสียงจากไมโครโฟนของนักบิน และไมโครโฟนบนแผงอุปกรณ์บนเพดานที่นั่ง เช่น เสียงสนทนา การตอบโต้ทางอากาศ สัญญาณเตือนภัย และเสียงเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เผยให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เครื่องบินจะตก ส่วนกล่องบันทึกข้อมูลทางการบินทำหน้าที่จดจำข้อมูลการบิน ไม่ว่าจะเป็นเวลา ระดับความสูง ความเร็ว ทิศทางและท่าทางของเครื่องบิน โดยมีความยาวในการบันทึกนานถึง 25 ชั่วโมง และเป็นข้อมูลที่ช่วยผู้ให้เชี่ยวชาญสามารถจำลองภาพเหตุการณ์ของเที่ยวบินในกระบวนการสืบสวนและค้นหาสาเหตุ ทั้งนี้ กล่องดำทั้งสองจะติดตั้งอยู่บริเวณแพนหางของเครื่องบิน ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

• นอกจากกล่องดำแต่ละกล่องจะทนต่อแรงกระแทก ความร้อน และแรงกดอากาศ มันยังมีเครื่องระบุตำแหน่งที่เรียกว่า Underwater Locator Beacon (ULB) หรือปิงเจอร์ (Pinger) สำหรับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในน้ำ ปิงเจอร์จะส่งสัญญาณ ‘ปิง’ (Ping) ด้วยคลื่นความถี่อัลตราโซนิกทันทีเมื่อสัมผัสผิวน้ำ เพื่อแจ้งตำแหน่งไปยังอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณ โดยสามารถส่งสัญญาณได้จากความลึกมากสุดถึง 6,100 เมตร ในรัศมีประมาณ 2,000 เมตร เป็นเวลานาน 30 วัน

• แม้จะเป็นนวัตกรรมที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับความปลอดภัยทางการบินในเวลานี้ แต่ปัญหาแบตเตอรี่อายุสั้นก็เป็นโจทย์สำคัญสำหรับอนาคตของกล่องดำ ดังเช่นกรณีเครื่องบินของแอร์ ฟรานซ์ เที่ยวบินที่ 447 ที่ใช้เวลางมหากล่องดำนานเกือบ 2 ปี และเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ที่ยังคงหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทำให้เร็วๆ นี้ สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA ประกาศมาตรการยืดชีวิตของกล่องดำจาก 30 วัน เป็น 90 วัน รวมถึงยืดเวลาการบันทึกของกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินจาก 2 ชั่วโมง เป็น 20 ชั่วโมง

• จากเหตุการณ์ดังกล่าว มาร์ค โรเซนเกอร์ (Mark Rosenker) อดีตประธานคณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคมแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นทีเอสบี) จึงได้เรียกร้องให้อุตสาหกรรมการบินเชื่อมโยงข้อมูลในกล่องดำเข้ากับระบบคลาวด์ (Cloud Storage) เพื่อการเข้าถึงข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์ในกรณีฉุกเฉิน และป้องกันการสูญหายของข้อมูล ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังนับเป็นก้าวสำคัญการเก็บข้อมูลในกล่องดำอีกด้วย

• เทคโนโลยีแห่งอากาศยานไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อทางการสหรัฐฯ อนุมัติให้มีการติดตั้งกล่องดำในยานยนต์ โดยมีผลบังคับใช้กับรถยนต์ใหม่ทุกคันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้ภายในเดือนตุลาคมปีหน้า โดยหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้น้อยลงได้

เรื่อง: ภรณ์ทิพย์ ปิยฤทธิพงศ์

ที่มา