New Generation of Apparel
Technology & Innovation

New Generation of Apparel

  • 01 Sep 2014
  • 2514
Cosyflex.jpg

รูปแบบการผลิตสิ่งทอผ่านเครื่องจักรอุตสาหกรรมด้วยกระบวนการถักทอ หรือลักษณะการผลิตสิ่งทอโดยใช้การสานไปมาของเส้นใยและยึดติดกันโดยการใช้ความร้อนที่เรียกว่า “ไม่ถักทอ (nonwoven)” กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป เนื่องจากปัจจุบัน การพัฒนาของกระบวนการพิมพ์แบบสามมิติที่สามารถผลิตเครื่องนุ่งห่มได้โดยเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการถักทอลง รวมถึงระยะเวลาและพลังงานในการผลิตให้น้อยลง

เป็นเวลากว่าทศวรรษ ที่บริษัททามิแคร์ (Tamicare) เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษได้ลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) ที่แตกต่างจากเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วไป จนในปี 2013 จึงสามารถผลิตสิ่งทอที่มีความนุ่มและระบายอากาศได้ดี ซึ่งเหมาะกับผลิตกางเกงชั้นในแบบใช้แล้วทิ้งที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งชุดกีฬา และผ้ารัดกันกระแทก ด้วยกระบวนการพิมพ์แบบสามมิติ และเพื่อแสดงถึงศักยภาพของบริษัทว่าทำได้จริงตามที่ประกาศไว้ ทามิแคร์จึงได้เริ่มผลิตชุดชั้นในที่ย่อยสลายได้ยี่ห้อ Cosyflex™ ออกวางจำหน่ายออก ด้วยกระบวนการพิมพ์ขึ้นรูปไปทีละชั้น จากหัวฉีดสเปรย์ของเครื่องพิมพ์ที่จะพ่นโพลิเมอร์ที่เป็นยางลาเท็กซ์ และเส้นใยฝ้ายออกมาเป็นชั้นๆ เพื่อเป็นโครงสร้างของกางเกงชั้นในแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ภายในเวลาที่น้อยกว่า 3 วินาที และหากเครื่องพิมพ์นี้เดินเครื่องเต็มกำลังจะสามารถผลิตกางเกงชั้นในได้ถึง 10 ล้านชิ้นต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องตัดผ้าตามแพทเทิร์นและไม่มีเศษเหลือทิ้ง ทั้งยังสามารถเลือกใช้วัสดุตั้งต้นโพลิเมอร์ที่อยู่ในรูปของเหลวได้หลายชนิด เช่น ซิลิโคน และเทฟลอน หรือน้ำยางลาเท็กซ์ธรรมชาติ ส่วนเส้นใยก็มีทั้งฝ้าย วิสโคสเรยอน และไนลอน ที่เลือกได้ตามต้องการ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตชุดชั้นในชั้นนำอย่างวิคตอเรีย ซีเคร็ต (Victoria's Secret) ยังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตอาจมีการผลิตชุดชั้นในจากกระบวนการพิมพ์แบบสามมิติออกมาขายอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน บริษัทแฟบบิแคน (Fabrican) ที่ลอนดอน ได้ค้นคิด "Spray-on fabric" ซึ่งจดลิขสิทธิ์กระบวนการผลิตการทอแบบไม่ถักทอ ที่สามารถทำขึ้นได้อย่างรวดเร็วจากการฉีดพ่นของเหลวที่มีเส้นใยจากกระป๋องอัดความดันลงบนรูปทรงที่ต้องการ ทำให้เกิดเป็นตาข่ายแน่นและมีความละเอียดจนเป็นโครงสร้าง โดยสามารถทำสีต่างๆ ได้ตามต้องการ นับเป็นเทคโนโลยีที่ให้อิสระกับนักออกแบบที่จะสร้างเสื้อผ้าแบบใหม่ได้อย่างโดดเด่น โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักร และยังเพิ่มลูกเล่นด้วยกลิ่นหอม สสารทางการแพทย์ หรือวัสดุที่นำไฟฟ้า ลงในสิ่งทอเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่ และการใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัด  

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข

พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้องได้ที่ Material ConneXion® Bangkok

DyeCoo.jpg

DyeCoo
หมายเลขวัสดุ MC# 6917-01
กระบวนการย้อมสีผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ แต่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในรูป Supercritical ที่อยู่ระหว่างสถานะของเหลวกับก๊าซเป็นตัวกลางให้เม็ดสีเข้าไปเกาะตัวกับ เส้นใยของผ้าทอหรือผ้าถัก ซึ่งกระบวนการนี้จะทำขึ้นในห้องปิดภายใต้ความร้อนและแรงดัน และไม่จำเป็นต้องแผ่ผ้าออกจากม้วน โดยการย้อมผ้าหนึ่งม้วนที่หนัก 300 ปอนด์ จะประหยัดน้ำได้ 25,000 ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการย้อมสีปกติถึงร้อยละ 75 เนื่องจากไม่มีการเติมสารเคมี ไม่ต้องผ่านการอบแห้ง และใช้เวลาน้อยกว่าการย้อมแบบใช้น้ำถึงสองเท่า สีย้อมที่ใช้เป็นสีดิสเพิร์ส (disperse dyes) ชนิดพิเศษ ใช้ได้ดีกับผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์หรือไนลอน เหมาะสำหรับใช้ย้อมผ้าทำเครื่องแต่งกายและงานตกแต่งภายใน

Water-Repellent.jpg

Wicking/Water Repellent

หมายเลขวัสดุ MC# 7181-04
กระบวนการเคลือบผิวผ้าให้มีคุณสมบัติตรงกันข้าม โดยด้านหนึ่งจะมีคุณสมบัติกันน้ำขณะที่อีกด้านหนึ่งจะดูดซับน้ำได้ ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ดี หลังจากถักหรือทอเป็นผืนแล้ว จะเคลือบผิวด้านหน้าด้วยสารเคมีกันน้ำ โดยจะเคลือบเฉพาะพื้นผิวชั้นนอกสุดของผ้าเท่านั้น เพื่อไม่มีผลต่อคุณสมบัติการดูดซับน้ำของเนื้อผ้าส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งสารเคลือบกันน้ำและคุณลักษณะการดูดซับน้ำของเส้นใยจะไม่มีสีและไม่มีผล ต่อความงามหรือผิวสัมผัสของเนื้อผ้า สามารถพิมพ์ลงบนผ้าได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์และไนลอน เหมาะสำหรับชุดกลางแจ้ง รองเท้าใช้งานในเรือ และชุดว่ายน้ำ


ที่มา
fabricanltd.com
tamicare.com