The Future of Fashion is Here ตอนที่ 2 : เครื่องมือสนับสนุนการดีไซน์แฟชั่นในวันหน้า
Technology & Innovation

The Future of Fashion is Here ตอนที่ 2 : เครื่องมือสนับสนุนการดีไซน์แฟชั่นในวันหน้า

  • 01 Sep 2014
  • 4977

 

หลายปีมานี้มีการพัฒนาและคิดค้นเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ตอบสนองในแง่ของการใช้ชีวิตมากมาย คำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่าง "Wearable Technology" หรือ "Smart Textile" กลายเป็นที่จับตามองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นว่างานเทคโนโลยีสุดล้ำ มักจะมาพร้อมกับดีไซน์ที่ไม่น่าดึงดูด

เว็บไซต์ของ CNBC เลือกผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและงานออกแบบมานำเสนอ โดยให้ชื่อบทความว่า "Wearable Tech That Looks Good and Reads Your Mind" ซึ่งเป็นการรวมผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยงานออกแบบของพวกเขายังเน้นความสวยงามและใส่ได้จริง ผลงานเหล่านี้จัดแสดงขึ้นในงานโซเชียล มีเดีย วีก (Social Media Week) ที่นิวยอร์กและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเจริญเติบโตของธุรกิจ Wearable Technology นั้นคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 350 ในปี 2014

หนึ่งใน Wearable Tech ที่โดดเด่น คือคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2013 ของแอเชอร์ เลวีน (Asher Levine) ดีไซเนอร์วัย 26 ปีผู้สร้างลุคเด่นๆ ให้กับเลดี้ กาก้า (Lady Gaga) และวิลล์.ไอ.แอม (Will.i.am) ที่จับมือกับผู้นำเทคโนโลยีบลูทูธ โฟน เฮโล (Phone Halo) ในการฝังชิปเข้าไปในเสื้อผ้าและกระเป๋าสำหรับการแทร็กกิ้งผ่านแอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการป้องกันของหายได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะขณะเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Acustom Apparel ที่นำเครื่องสแกนสรีระแบบสามมิติ (3D Body Scanner) มาใช้ในการดีไซน์เสื้อผ้าเพื่อให้พอดีกับรูปร่างของผู้ใส่มากที่สุด

ส่วน Smart Textile ซึ่งเป็นเนื้อผ้าที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทำให้ผ้ามี “ชีวิต” ขึ้นมา ล่าสุดทางเว็บไซต์ของนิตยสารฟอร์บส์ ได้เล่าอย่างน่าสนใจว่า Smart Textile นั้นถูกพัฒนาให้มีความสามารถในตัวเอง เช่น มีแสงไฟในตัวเอง สามารถเปลี่ยนสีได้ สั่นสะเทือนเคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ สิ่งทออัจฉริยะเหล่านี้ยังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในเสื้อผ้าสำหรับเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมหรือเสื้อผ้าทหาร เนื่องจากมีเนื้อผ้าบางชนิดที่สามารถปรับอุณหภูมิให้เข้ากับอุณหภูมิร่างกาย ป้องกันลม หรือแม้กระทั่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ สำหรับผ้าที่ป้องกันลมหรือน้ำได้นั้นส่วนใหญ่จะถูกเคลือบด้วยไขมันสัตว์หรือการแว็กซ์ รวมไปถึงการใช้น้ำมันที่ทำจากพืช ซึ่งใส่สบายกว่าการใช้ผ้าสังเคราะห์อย่างพีวีซี สิ่งทอเหล่านี้กำลังถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับเสื้อผ้าฤดูหนาวหรือเสื้อผ้าที่ต้องการการปกป้องทางร่างกายสูง นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการนำ Smart Textile มาใช้ในวงการความงาม เช่น เพื่อช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้ผิว ใช้เป็นน้ำหอม หรือแม้กระทั่งใช้ป้องกันริ้วรอย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่น่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคตและมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ

 

 

cover2.2.jpg

 


ปัจจุบัน มีดีไซเนอร์เลือดใหม่หลายคนเริ่มนำ Smart Textile มาใช้ เช่นผลงานของ อิง เกา (Ying Gao) ดีไซเนอร์จากกรุงเจนีวาทำเสื้อผ้าเรืองแสงและสามารถขยับได้เมื่อถูกจ้องมอง คิวท์เซอร์กิต (CuteCircuit) จากลอนดอนได้ทำโชว์ที่นิวยอร์กโดยให้นางแบบใช้โทรศัพท์มือถือเปิดไฟบนชุดที่ใส่เดินแบบบนเวที หรือ สตูดิโอ เอ็กซ์โอ (Studio XO) ในอังกฤษที่เคยออกแบบชุดให้เลดี้ กาก้า ด้วยการติดตั้งเครื่องปล่อยฟองสบู่ลงไปในชุดเพื่อสร้างลูกเล่นยามเธอปรากฏตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นการโชว์เทคโนโลยีและไอเดียสุดล้ำแล้ว นี่ยังถือเป็นหนึ่งในงานศิลปะเสื้อผ้าที่งดงามด้วย
 
cover2.3.jpg

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการที่เรามักจะเห็นในภาพยนตร์แห่งโลกอนาคต นั่นหมายความว่าเรามีเทคโนโลยีมากพอที่จะส่งให้การดีไซน์เสื้อผ้าเดินทางไปสู่ความล้ำแบบสูงสุด อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างของการนำมาปรับใช้ซึ่งได้รับความสนใจในวงการเทคโนโลยี หากแต่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นหลักที่มีจำนวนเม็ดเงินมหาศาลในการขับเคลื่อนนั้น สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่สร้างสีสันให้แก่วงการ และถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น เพราะสำหรับแบรนด์ใหญ่ที่มีอิทธิพลเรื่องการแต่งตัวของคนหมู่มากนั้น ก็ยังคงเน้นไปที่งานฝีมือและงานดีไซน์เสียมากกว่า


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 1 : แฟชั่นแห่งโลกอนาคต
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 3 : การสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องกับผู้นำเทรนด์
The Future of Fashion is Here ตอนที่ 4 : คืนทุนโลกด้วยแฟชั่นแฟชั่น