Digital Manufacturing : ธุรกิจศตวรรษที่ 21 กับระบบการผลิตแห่งอนาคต
Technology & Innovation

Digital Manufacturing : ธุรกิจศตวรรษที่ 21 กับระบบการผลิตแห่งอนาคต

  • 22 Jan 2015
  • 13259

เรื่อง : วิสาข์ สอตระกูล

httpblog.lnsresearch.com.jpg

แน่นอนว่า ผู้ประกอบการทุกรายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต่างก็มองหา “ประตูวิเศษ” ที่จะเปิดไปสู่ถนนแห่งความสำเร็จอันเรืองรองกันทั้งนั้น ...ประตูบานไหนล่ะที่จะนำทางพวกเขาไปสู่วิธีการเพิ่มผลิต? …แล้วจะเป็นไปได้มั้ยที่ต้นทุนจะไม่ต้องเพิ่มตามไปด้วย? จนถึงทุกวันนี้เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะได้พบกับประตูวิเศษบานนั้น เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่หากันง่ายๆ...นอกจากคุณจะมีเซ้นส์ที่ดีเยี่ยมในทางธุรกิจจริงๆ 

แต่ถึงกระนั้นเหล่าผู้ประกอบการเดินดินทั้งหลายก็อย่าเพิ่งถอดใจกันไปก่อน เพราะนาทีนี้โลกการผลิตของเราเพิ่งจะได้ค้นพบกับ “กุญแจดอกสำคัญ” ที่จะเปิดประตูบานไหนก็ได้ไปสู่ความสำเร็จข้างต้น (เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย + รักษาระดับต้นทุนด้วย) 

วิธีการอันชาญฉลาดที่ว่านี้เราเรียกขานมันว่า “Digital Manufacturing” ค่ะ

คำว่า Digital Manufacturing นั้นเป็นสิ่งที่หลายคนร่ำลือและถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว บางสายก็ยกมันเป็นประเด็นทาง CSR มองว่าเป็น กล วิธีที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะช่วยดูแลสภาพแวดล้อมได้ หรือบางสายก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของความยั่งยืนทางธุรกิจ สามารถจะโอบอุ้มผลกำไรและวิถีการทำงานของเราในอนาคตได้ ฯลฯ  แต่ที่แน่ๆ คำๆ นี้ได้เข้ามามีบทบาทต่อความคิดและทำให้ธุรกิจสมัยใหม่เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านแล้ว ดังนั้นมันคงไม่ใช่แค่ “ คำคม ” ที่นักการตลาดยกมาพูดกันเพื่อความดูดีเป็นแน่ 

Digital Manufacturing คืออะไร
ถ้าจะให้นิยามอย่างสั้นๆ การผลิตแบบ Digital Manufacturing ก็คือกระบวนการผลิตที่นำเอา “เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์” เข้ามามีบทบาทในระดับสูง ส่งผลให้การผลิตสินค้ามีความเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น (ทั้งในเชิงรูปแบบและจำนวน) โดยพึ่งพาแรงงานมนุษย์น้อยลง 

ในปัจจุบันระบบการผลิตเช่นนี้มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิเช่น Direct Digital Manufacturing, Rapid Manufacturing, Instant Manufacturing, หรือ On-demand Manufacturing ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตลักษณะนี้ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถออกแบบและพัฒนาสินค้าต้นแบบ (Prototype) ได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งยังสามารถวางแผนการผลิตในโรงงานได้เสร็จสรรพตั้งแต่ต้นจนจบ แถมมีความพร้อมที่ปรับเปลี่ยนการผลิตส่วนไหนก็ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

การพัฒนา และผลิต สินค้าด้วยระบบ Digital Manufacturing นี้ ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน การต่อเรือ การผลิตรถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจพลังงาน แฟชั่น สินค้าไฮเทค สินค้าอุตสาหกรรม ธุรกิจการแพทย์ การทหาร บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ 

automationworld.com.jpg

 
Digital Manufacturing ดีกับธุรกิจอย่างไร
อย่างที่เกริ่นไปก่อนนี้แล้วว่า Digital Manufacturing คือกระบวนการผลิตที่จะเป็นมิตรกับหลายๆ สิ่ง แน่นอนว่ามันเป็นทางเดินที่จะนำพาธุรกิจของคุณไปสู่ความยั่งยืนในด้านสภาวะแวดล้อมและแรงงาน แต่กับด้านอื่นๆ ล่ะ? มันยังมีผลดีในแง่อื่นใดอีกหรือไม่?

ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังมีแนวโน้มที่จะดำดิ่งลงเรื่อยๆ มันก้าวเดินไปในทิศทางที่หลายคนวิตกกังวล โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่โรงงานและบริษัทหลายแห่งต้องเริ่มใช้นโยบายเลิกจ้าง เราได้ยินข่าวเลย์ออฟคนงานกันหนาหู และไม่ใช่แค่ในหลักสิบหรือหลักร้อยเท่านั้น แต่ทำกันในระดับหลักพันนู่นทีเดียว นอกจากนั้นอุตสาหกรรมการรับจ้างผลิต ( OEM) ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ทุกวันนี้ก็กำลังเข้าตาจนกัน สุดๆ ถ้าผู้ประกอบการดิ้นรนพัฒนาตัวเองสู่ระดับ ODM หรือ OBM ไม่ได้ ก็มีหวังต้องทยอยปิดกิจการไปเรื่อยๆ แน่ 

...คำถามเดียวที่ผู้ประกอบการทั่วโลกมีวนเวียนอยู่ในหัวตอนนี้ก็คือ “แล้วเราจะคงศักยภาพการแข่งขันไว้ได้ยังไง ? ”

คำตอบเรื่อง นี้ ก็วนกลับมาที่ Digital Manufacturing ได้ อีกเช่นกัน คุณเชื่อหรือไม่ว่าการผลิตที่จะช่วยรักษาสภาวะแวดล้อมนี้ สุดท้ายแล้วมันก็จะช่วยรักษาลมหายใจของธุรกิจไว้ได้ด้วย เพราะอันที่จริงแล้ว Digital Manufacturing ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณขยะ ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานส่วนเกิน หรือดีต่อสภาพแวดล้อมการทำงานของคนงานเท่านั้น แต่สาระสำคัญของมันก็คือมันสามารถเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิต และเร่ง Return On Investment (ROI) ให้สูงขึ้นไปพร้อมๆ กันด้วย (เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตในแบบเดิมๆ)  

Limited_Flexibility2.png

หรือถ้าจะพูดให้เป็นคอนเซ็ปท์กว่านั้นหน่อย หลายคนก็มองว่า Digital Manufacturing ที่แท้ก็คือกระบวนการแห่งความ “ประหยัดและพอเพียง” นั่นเอง  เพราะมันจะช่วยลดทั้งรายจ่าย ทั้งเวลาการทำงานที่ไม่จำเป็น  ช่วยให้เราบริหารจัดการปริมาณการผลิตได้แบบแน่นอนไม่เหลือทิ้ง   สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น แถมยังไม่เปลืองไฟ ไม่เปลืองค่าแรง และไม่เปลืองวัตถุดิบอีกด้วย  ซึ่งแน่นอนว่าการประยุกต์ใช้ระบบ Digital Manufacturing ในธุรกิจสมัยใหม่ ก็จะทำให้ตัวเลขบัญชีของธุรกิจนั้นๆ ดูน่าสนใจขึ้นมาก (โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนในอนาคต)  และที่สำคัญ Digital Manufacturing ก็ไม่ได้ขอให้คุณต้องติดแผงโซล่าร์ไว้บนหลังคาโรงงานด้วย  คุณไม่จำเป็นต้อง Lean & Green แบบนั้นก็ได้ !

เมื่อ “เวลา” ไม่ใช่ข้อจำกัด แต่คือข้อได้เปรียบ
ถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะพอเดาได้ว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นในกระบวนการแบบ Digital Manufacturing นั้น โดยทั่วไปก็ จะเสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างเร็วกว่าการผลิตแบบเก่ามาก เพราะขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต่างๆ (หรือเป็นแค่ส่วนเสริม) มันจะถูกตัดทิ้งออกไปเกือบหมด ซึ่งนั่นเองก็จะส่งผลให้สินค้าของเราเดินทางไปถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น (Travel-To-Market) และที่สำคัญในหลายๆ เคสมันได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้ “ต้นทุนการผลิตโดยรวม” ลดลงไปได้แบบสวยๆ ด้วย

นอกจากนี้ Digital Manufacturing ยังมีประโยชน์อีกแง่ที่โดดเด่นมาก นั่นก็คือมันสามารถย่นระยะเวลาของ Design System ที่ซับซ้อนลงได้ (ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีสมัยใหม่)  ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าโรงงานบางแห่งสามารถสร้างสรรค์และผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งขึ้นได้ในเวลาที่สั้นมาก  ทั้งยังสามารถเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นของสินค้าใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว (และตรงใจลูกค้ามากขึ้น) ข้อได้เปรียบเหล่านี้ล้วนเป็นผลลัพธ์โดยตรงของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลและระบบการผลิตแบบ Digital Manufacturing มาใช้ มันจะเปิดทางให้โรงงานและองค์กรธุรกิจสามารถต่อยอดดีไซน์ ปรับปรุงรูป ลักษณ์ของสินค้าที่มีอยู่เดิมได้อย่างรวดเร็ว แถมยังผลิตออกมาขายได้ทันใจลูกค้าด้วย  

httpaipaerospace.com.jpg

Digital Manufacturing จะทำให้ความสามารถในการผลิตของเราถีบตัวสูงขึ้นด้วยการลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ ลง อะไรที่การผลิตแบบเดิมเคยต้องทำซ้ำๆ จะแก้ก็ยาก จะเปลี่ยนก็ยุ่ง ปรับอะไรกันทีก็ต้อง วุ่นวาย นับหนึ่งสองสามใหม่ …เรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับคุณแล้ว

หลายธุรกิจในปัจจุบันพยายามใช้ ประโยชน์จาก Digital Manufacturing ให้ครบทุกแง่มุม เริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การวางแผนการผลิต การจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ( PLM) เรื่อยไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตคนงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องลงทุนมหาศาลเสมอไปหรอกนะ มีโรงงานหลายแห่งที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลแค่ในระดับพื้นฐาน เช่น Software และ Interface ง่ายๆ เชื่อมโยงการทำงานส่วนต่างๆ เข้าหากันด้วยระบบ อินเทอร์เน็ต  แค่นี้ก็เป็นบันไดลัดที่ทำให้พวกเขาสามารถทำงานดีขึ้น วางแผนแม่นขึ้น รวมถึงผลิตและแจกจ่ายสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว

จากรายงานล่าสุดของ CIMdata ( บริษัทที่ปรึกษาด้าน การจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ - PLM) เผยว่า องค์กรที่นำเทคโนโลยีในกลุ่ม Digital Manufacturing มาใช้ ล้วนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงใน 2 ด้าน หนึ่งคือ ด้านประสิทธิภาพการผลิตที่พัฒนาสูงขึ้น และสองคือเรื่องการลดความสูญเปล่าด้านทรัพยากร ซึ่งตรงนี้ก็รวมถึง การลดระยะเวลาการนำเสนอสินค้าสู่ท้องตลาด (Time To Market) ที่ลดลงไปได้ ราว 30%, ลด เนื้องานในส่วนการวางแผนการผลิตไปได้อีก 40% ฯลฯ  ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะทำให้ ต้นทุนการผลิตลดลงไปได้ถึง 13% ( โดยเฉลี่ย ) ในขณะที่ต้นทุนเฉพาะด้านอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้นั้น จะลดลงไปได้ถึง 40% เลยทีเดียว

การออกแบบ “กระบวนการผลิต” ที่ ใช่
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Digital Manufacturing ไม่ได้เริ่มต้นมาจากแนวคิดการลดขยะหรือรักษ์โลกเสียทีเดียว (และนั่นก็ยังไม่ใช่หัวใจของระบบการผลิตนี้ในปัจจุบันด้วย)  อันที่จริงแล้วองค์กรธุรกิจที่น้อมนำเอาระบบ Digital Manufacturing มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ “ทั่ว ทั้งองค์กร” เขามักมีเป้าหมายหลักที่จะวางแผนภาพรวมในการผลิตเอาไว้ล่วงหน้า (เหมือนกับได้ลองทำ Virtual Plant Tour แบบกลายๆ) รวมถึงเพื่อจะหาลู่ทางในการลดหรือบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการออกแบบได้ เช่น ถ้าสามารถระบุได้ว่าโรงงานควรออกแบบพื้นที่การทำงานอย่างไรให้เอื้อกับคนงานในอนาคต ก็จะลดโอกาสเสี่ยงที่โรงงานจะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุปกรณ์ หรือกระทั่งต้องออกแบบสายการผลิตใหม่ เป็นต้น

ด้วยเทคโนโลยีสนับสนุนที่หลากหลาย ทั้งในด้าน Visualization, Process planning, Factory modeling, Simulation, Collaboration ฯลฯ ผู้บริหาร องค์กรจะมองเห็นว่าเขาควรต้องวางแผนกลยุทธ์อย่างไร เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่เดิมได้อย่างสูงสุด และในขณะเดียวกัน ก็สามารถเข้าใจในพฤติกรรมตอบรับรวมถึงระดับความสุขในการทำงานของผู้คนในองค์กรด้วย


กล่าวคือวิถีการผลิตแบบ Digital Manufacturing นี้จะขจัดความผิดๆ ถูกๆ มั่วๆ งงๆ ออกไปจาระบบการผลิตได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดจากการทำงานด้วยมือ (ที่บางทีก็ซ้ำซ้อนวกไปวนมา) หรือจากการออกแบบบนกระดาษที่คาดการณ์ยากและทดสอบล่วงหน้าไม่ได้ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบถึงการใช้ทรัพยากรคนและพลังงานให้หมดเปลืองไปโดยใช่เหตุ แต่กับระบบการผลิตแบบ Digital Manufacturing นี้ ผู้บริหารจะนำพาทรัพยากรทั้งหมดที่มี (ทั้งโรงงานและแรงงาน) เข้าสู่ “ห้วงเวลาใหม่” ของศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง

siemens.com3.jpg siemens.com2.jpg

ฟังก์ชั่นและแอพพลิเคชั่นหลายๆ ตัวในระบบการผลิตแบบ Digital Manufacturing (โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในโครงข่ายออนไลน์) จะเอื้อให้ทั้งนักออกแบบและวิศวกรในองค์กร สามารถ “ ทำงานร่วมกัน ” ได้ดีขึ้นภายในกรอบระยะเวลาที่สั้นลง ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการที่ทีมดีไซเนอร์และวิศวกรต้องช่วยกันคิดออกแบบโรงงานและสายพานการผลิตใหม่ หากบางคนในทีมจำเป็นต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางจุด ดิจิตอลแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงงานของทุกคนเข้าหากัน มันก็จะช่วยประมวลผลภาพรวมใหม่ให้ได้ทันที ซึ่งก็จะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพเดียวกันอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่พวกเขาเลือกทำนั้นมันจะกระทบกับ Suppy chain ทั้งหมดอย่างไรบ้าง ( ดังนั้นมันจึงไม่ผิดหากทีมออกแบบจะปรับเปลี่ยนดีไซน์กันมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะมันสามารถทำได้ง่าย และจะไม่สร้างความผิดพลาดหรืองุนงงให้กับระบบการทำงานโดยรวม )

ดังนั้นในการออกแบบสายพานการผลิตหนึ่งๆ ดีไซเนอร์อาจจะออกแบบเลย์เอาท์และการวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ ไว้หลายแบบ จากนั้นค่อยนำเลย์เอาท์เหล่านั้นมาสร้างเป็น Prototype ใน แบบ Virtual Tour ด้วยวิธีนี้ทุกคนในทีมจะช่วยกันวิเคราะห์เปรียบเทียบได้เลยว่า “เลย์เอาท์ไหนที่ลงตัวที่สุด” อาทิเช่น อุปกรณ์ต่างๆ ยังคงทำงานได้ดีหรือไม่ เครื่องมืออยู่ในตำแหน่งและวิถีที่เหมาะสมกับการยศาสตร์ของมนุษย์รึเปล่า คนงานทำงานได้สะดวกปลอดภัยแค่ไหน ฯลฯ   

เพราะยังไงเสียการที่ทีมงานได้ตัดสินใจจาก “ภาพจำลองเคลื่อนไหว” (Animated Simulation) ก็ย่อมทำให้ทุกคน “เข้าใจ” ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโรงงานจริงได้ดีกว่าการนั่ง “มโน” เอาจากดีไซน์ที่อยู่บนกระดาษเป็นแผ่นๆ เป็นแน่

เทคโนโลยีดิจิตอล VS แรงงานมนุษย์
บางคนอาจจะคิดแง่ลบไปว่า “ถ้าเรานำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้มาก แรงงานคนก็หมดความหมายน่ะสิ” บอกเลยว่านั่นไม่เป็นความจริงเสมอไป  เพราะหากเรามองให้ลึกซึ้งและรอบด้านแล้ว Digital Manufacturing กลับจะทำให้ “แรงงานมนุษย์” ทั้งหมดทำงานได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น และมีความสุขมากขึ้นในทุกๆ วันเสียอีก 

ที่ผ่านมามีโรงงานมากมายหลายแห่งที่ต้องทุ่มเงินและเวลามหาศาล เพื่อจะแก้ไขปรับปรุง “สภาพแวดล้อมการทำงาน” ให้กับคนงาน (ภายหลังจากที่เปิดสายการผลิตไปแล้ว) ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนนำมาซึ่งความปวดหัว และทำให้องค์กรธุรกิจนั้นๆ ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง เวลา และทรัพยากรอีกสารพัดรูปแบบเพื่อจะจัดการกับมัน แทนที่จะได้จัดสรรทรัพยากรชุดเดียวกันนี้ไปใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ในการเพิ่มศักยภาพการผลิต หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เท่าทันตลาดโลก  

2155174605_11936759f2_o.jpg
การประกอบรถยนต์ในสมัยก่อนใช้แรงงานคนเป็นหลักซึ่งใช้เวลานานกว่า

นอกจากนั้น ด้วยระบบการผลิตแบบใหม่ แรงงานฝ่ายออกแบบ เช่น ดีไซเนอร์ หรือ วิศวกร จะไม่ถูกจำกัดให้ต้องทำงานภายใต้กฏเกณฑ์ของ “พื้นที่” และ “จำนวน” อีกต่อไป พวกเขาอาจจะออกแบบสายการผลิตที่มีขนาดเล็กลงได้ ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ รวมทั้งยังสามารถทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ กับวัสดุ กับเลย์เอาท์ หรือกับอุปกรณ์ใหม่ๆ โดยมีข้อจำกัดน้อยลงมาก อะไรที่เคยเป็นงานช้างและกินเวลาสุดๆ เมื่อสองสามปีก่อน (เช่นการออกแบบสายการผลิต) ตอนนี้ก็จะทำเสร็จได้ในชั่วพริบตา เพราะทุกฝ่ายในองค์กรสามารถมองเห็น “ภาพจำลองของสิ่งที่จะเกิดขึ้น” ได้พร้อมกันผ่านระบบออนไลน์ และนั่นก็จะนำพาไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างมนุษย์ ทำให้งานของทุกคนเสร็จเร็วและเป็นเอกภาพมากขึ้นด้วย

32-500x333.jpg
ระบบดิจิตอลใช้คนเพียงคนเดียวป้อนคำสั่งให้เครื่องทำงานแทน

จากผลการสำรวจของบริษัท CIMdata พบว่า องค์กรธุรกิจที่นำระบบ Digital Manufacturing มาใช้ อย่างจริงจังนั้น สามารถจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขผลกำไรการลงทุน ( ROI) ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนภายในช่วงเวลาหลักเดือน  หลายแห่งสร้างยอดรายได้เฉลี่ยต่อปีได้เป็น 5 – 10 เท่าของเงินลงทุนตั้งต้น ฯลฯ  ซึ่งตัวเลขระดับนี้คงปลดล็อกความคลางแคลงใจของหลายๆ คนได้แล้วว่า Digital Manufacturing นั้นจะ ไม่ใช่แค่หนึ่งไอเดียสวยหรูที่ทำให้ธุรกิจดูทันสมัยขึ้น  แต่มันจะก้าวมาเป็น “หัวใจดวงใหม่” ของทุกคน...ที่ยังอยากจะยืนอยู่ในสนามแข่งขันของอนาคต !

thomasnet.com.jpg

สรุป
เหตุผลง่ายๆ 4 ข้อ ของการนำ ระบบ Digital Manufacturing มาใช้กับสายการผลิต
1) ลดการทำงานบนกระดาษ ลดขยะ ลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error)
2) ลดความจำเป็นในการ สร้างแบบจำลอง (Prototype) ราคาแพง ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร พลังงาน และเวลา
3) เพิ่มระดับการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลากร (Team Collaboration)
4) เพิ่มผลผลิต


เครดิตภาพประกอบ:
automationworld.com
blog.lnsresearch.com
siemens.com
thomasnet.com
aipaerospace.com