‘Raspberry Pi’ นวัตกรรมเข้าใจง่าย จุดประกายวัฒนธรรม ‘เมกเกอร์’
Technology & Innovation

‘Raspberry Pi’ นวัตกรรมเข้าใจง่าย จุดประกายวัฒนธรรม ‘เมกเกอร์’

  • 04 Jun 2015
  • 4866

smallpaper.net.jpg

คำว่า Maker กำลังมาแรงมากในวงการไอที โดยมีความหมายรวมถึงการประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือ หรือแม้แต่ของเล่น โดยใช้แผ่นวงจรคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (พอๆ กับฝ่ามือ) มาประกอบเข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด เช่น มอเตอร์ เซ็นเซอร์ตรวจรับแสง รับความร้อน รับสัมผัส ฯลฯ เสริมด้วยวัสดุพลาสติกเพื่อทำเป็นตัวถัง ปุ่ม แขนขา ฯลฯ โดยที่วัสดุพวกนี้มักถูกออกแบบเองขึ้นและพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ 

อาจจะพูดได้ว่าหัวใจของการสร้างผลงานในสไตล์ Maker ก็คือเหล่าสมองกล ‘คอมพิวเตอร์จิ๋ว’ ที่ว่านี้ โดยผู้ผลิตรายแรกๆ ที่บุกเบิกมันขึ้นมาก็คือ Raspberry Pi อันเปรียบได้กับ CPU ย่อส่วน (ย่อมรรถนะเหลือเท่าที่จำเป็น) ซึ่งทำให้มันมีราคาประหยัด แต่ถึงกระนั้นก็ยังเปิดออพชั่นมีช่องเชื่อมต่อเอาไว้หากใครต้องการเพิ่มพลังหรืออยากเติมความสามารถอื่นๆ เข้าไปด้วย

Raspberry Pi ถูกคิดค้นขึ้นในปีค.ศ. 2006 โดยหุ้นส่วน 4 คนคือ Eben Upton, Rob Mullins, Jack Lang และ Alan Mycroft (จากห้องแล็บมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) เขาทั้งสี่เล็งเห็นว่าหลักสูตรไอทีเบื้องต้นทุกวันนี้เน้นการใช้งานซอฟท์แวร์สำนักงานอย่าง Word หรือ Excel มากเกินไป แต่กลับไม่มีการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านฮาร์ดแวร์หรือโปรแกรมมิ่งเท่าที่ควร ทั้งสี่จึงช่วยกันออกแบบแผ่นวงจรคอมพิวเตอร์จิ๋วขึ้นในชื่อ Raspberry Pi โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้สร้างเป็นคอมพิวเตอร์ราคาถูกสำหรับให้เด็กๆ เริ่มใช้ และในขณะเดียวกันก็สามารถจะเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในศาสตร์ด้านฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ด้วย Raspberry Pi เริ่มวางขายในราคาเพียง 25 ยูโร (หรือประมาณหนึ่งพันบาท) เท่านั้น

รูปร่างหน้าตาของ Raspberry Pi นั้นจะมีขนาดพอๆ กับบัตรเครดิต ไม่มีจอ ไม่มีคีย์บอร์ด ไม่มีเม้าส์ ไม่มีแม้แต่เคสมาให้ จะมีก็แต่ตัวแผงวงจร แรมขนาด 256 MB มีช่องใส่ SD การ์ดเพิ่ม ช่องเชื่อมต่อ USB 2 จุด ช่อง Ethernet ไว้เสียบสายแลน และช่อง HDMI ไว้ต่อกับจอสกรีนเท่านั้น ซึ่งด้วยองค์ประกอบที่ไม่ซับซ้อน ผู้ที่สนใจในศาสตร์ด้านฮาร์ดแวร์จึงสามารถศึกษาโครงสร้างการทำงานจาก Raspberry Pi ได้ง่ายกว่าจากแผงวงจรคอมพิวเตอร์ปกติ นอกจากนั้นยังสามารถเรียนรู้การนำอุปกรณ์อื่นๆ มาเชื่อมต่อกับแผงวงจรนี้ได้โดยง่าย ส่วนผู้ที่สนใจศาสตร์ด้านโปรแกรมมิ่งก็สามารถหัดเขียนโปรแกรมสั่งงาน Raspberry Pi ได้ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ เพราะในตัววงจรนี้ก็มีระบบ OS เล็กๆ ติดมาให้ด้วยเช่นกัน และสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป Raspberry Pi ก็ตอบสนองฟังก์ชั่นพื้นฐานต่างๆ ได้พอตัว เช่นสามารถลงแอพฯ หรือโปรแกรมเบื้องต้นอย่าง Word processing และโปรแกรมการคำนวณได้  โดยทั้งหมดสามารถหาโหลดได้จาก Pi Store ซึ่งทำงานคล้ายกับ App Store บนมือถือนั่นเอง

หน้าตาของ-Raspberry_Pi_-_Model_A.jpg

หลังจาก Raspberry Pi รุ่นแรกแจ้งเกิดในวงการได้ไม่นาน  Raspberry Pi Model B ซึ่งเป็นรุ่นต่อมาก็โด่งดังไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดขายรวมถีบทะลุไปถึงกว่า 2 ล้านเครื่องในปีค.ศ.2009 ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จทางธุรกิจขนาดนี้ ทีมงานทั้งสี่จึงก่อตั้ง Raspberry Pi Foundation ขึ้นมาควบคู่ไปด้วย โดยจะทำหน้าที่เป็นองค์กรการกุศล สนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยยอดขายและฟังก์ชั่นการออกแบบที่เปิดกว้าง สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้หลากหลาย พร้อมรองรับซอฟต์แวร์ได้สารพัด ปัจจุบัน Raspberry Pi จึงกลายเป็นแพลทฟอร์มมาแรงที่เหล่านักประดิษฐ์รวมไปถึงบริษัทฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ต่างๆ หันมาพัฒนาโปรแกรม เกม แอพลิเคชั่น และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับ Raspberry Pi ได้อย่างคึกคัก รวมไปถึงแวดวงอุตสาหกรรมอื่นๆ (ที่ต้องพึ่งสมองกลขนาดจิ๋ว) เช่นผู้ผลิตป้ายไฟ  ผู้ผลิตกล่อง media player ฯลฯ ก็เริ่มนำเจ้า Raspberry Pi นี้ไปใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว 

ตัวอย่างสิ่งที่สร้างจาก Raspberry Pi.jpg

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือในวงการของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ความนิยมและแพร่หลายของ Raspberry Pi ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้ช่วยผลักดันให้กระแสวัฒนธรรม ‘Maker’ เติบโตอขึ้นทั่วโลก จนมันถูกนำไปเปรียบเทียบกับยุคสมัยที่ ‘คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล’ เบ่งบานขึ้นครั้งแรก (ช่วงปีค.ศ.1975 – 1980) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Steve Jobs แจ้งเกิดในโลกฮาร์ดแวร์ และ Bill Gates แจ้งเกิดในโลกซอฟต์แวร์ขนาดนั้นกันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าทั้งโลกไอทีและโลกธุรกิจในปัจจุบันต่างจับตามองวัฒนธรรม Maker ครั้งนี้กันอย่างใกล้ชิด ทั่วโลกกำลังรอดาวดวงใหม่ที่จะจุติขึ้นบนท้องฟ้า ใครที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง ใครที่จะก้าวมาเป็นสตาร์ทอัพดาวเด่น ฯลฯ  ซึ่งก็ไม่แน่นะว่าดาวดวงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้...อาจจะมาจากสยามเมืองยิ้มของเราด้วยก็เป็นได้

เครดิตข้อมูลและภาพ 
en.wikipedia.org/wiki/Raspberry_Pi
smallpaper.net