กาน้ำชาจากใบชาด้วยการพิมพ์ 3 มิติ
Technology & Innovation

กาน้ำชาจากใบชาด้วยการพิมพ์ 3 มิติ

  • 11 Jan 2016
  • 3764
บทความนี้อยู่ในหมวด “วัสดุล้ำยุค” โดย Material ConneXion® Bangkok

utah-teapot2.jpeg

วัตถุที่ได้จากการพิมพ์ 3 มิตินั้นคือสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการพัฒนาการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) แต่การเปลี่ยนวัสดุที่ใช้พิมพ์ จะทำให้เราได้เห็นศักยภาพของกระบวนการผลิตแบบดิจิทัลที่สร้างความตื่นตาได้ไม่แพ้กัน

Emerging Objects สถาบันวิจัยอิสระด้านเมกเกอร์ในแถบซานฟรานซิสโกเลือกที่จะใช้วิธี Additive Manufacturing ซึ่งคือกระบวนการผลิตแบบเติมวัตถุดิบทีละชั้นกับการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้พิมพ์ในการสร้างผลงาน 

Emerging Objects กล่าวไว้บนเว็บไซต์ว่า “นวัตกรรมของเราเกิดจากวิธีการเลือกใช้วัสดุและขนาดของวัตถุที่ไม่เหมือนใคร เราเชื่อว่าการพิมพ์ 3 มิติเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้เราสร้างไอเดียดีๆ ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้”

...และเขาก็ไม่ได้พูดเล่นๆ ซะด้วยสิ

utah-teapot8.jpgutah-teapot5.jpeg

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักออกแบบและนักวัสดุศาสตร์ของ Emerging Objects (นำโดย Virginia San Fratello และ Ronald Rael) ได้เลือกวัสดุไม่ธรรมดา นั่นก็คือ ผงชาสำเร็จรูปมาใช้พิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่อสร้างกาน้ำชา Utah Teapot

Utah Teapot (มีอีกชื่อหนึ่งว่า Newell Teapot) เป็นโมเดลต้นแบบที่หลายโปรแกรมการออกแบบ (Computer-aided design - CAD) ใช้เป็นโมเดลตัวอย่าง และเป็นโมเดล 3 มิติรุ่นแรกๆ ของโลกที่ออกแบบโดย Martin Newell นักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกในปี 1975

utah-teapot1.jpgutah-teapot6.png

บางคนกล่าวว่ารูปทรงธรรมดาพื้นฐานของกาน้ำชานี้มีความเท่าเทียมกับการโปรแกรมคำว่า “hello, world” ซึ่งเป็นการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานที่สุด  เพราะ Utah Teapot ถูกใช้เป็นโมเดลในการสร้างฉาก 3 มิติในคอมพิวเตอร์แบบง่ายๆ เพื่ออ้างอิงการลงน้ำหนักแสงเงาและการสร้างวัตถุแวดล้อมอื่นๆ

Emerging Objects กล่าวว่า “บางคนอาจจะคิดว่าเซรามิคเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพิมพ์ Utah Teapot ให้ออกมาเป็นวัตถุ 3 มิติ แต่เรากลับเลือกที่จะพิมพ์โดยใช้ชาจริงๆ ในการพิมพ์แทน”

utah-teapot4.jpegutah-teapot3.jpeg

“นอกจากกาน้ำชาแล้ว Utah Tea Set นี้ยังมีถ้วยชา ซึ่งใช้ชาจริงๆ เป็นวัสดุในการพิมพ์อีกด้วย นี่จึงเป็นชุดกาน้ำชาที่บอกจุดประสงค์การใช้งานของตัวเองได้อย่างขบขันจริงๆ” 

นอกจากกาน้ำชาและถ้วยชาที่เข้าชุดกันแล้ว Emerging Objects ยังพิมพ์ช้อนชา 3 มิติที่ทำจากผงชา ซึ่งมีปริมาตรเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือ 5 ลูกบาศก์เซนติเมตรพอดี

ผลงานนี้เป็นงานที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรมและให้แง่มุมที่น่าสนใจให้แก่ประวัติศาสตร์ของโมเดล 3 มิติ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่ Utah Teapot ได้ถูกสร้างเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้

utah-teapot7.jpg
 
ในปี 2009 สตูดิโอออกแบบ Unfold ก็ได้สร้าง Utah Teapot ในเวอร์ชั่นเซรามิกที่ชื่อว่า Utanalog ซึ่งมีรูปทรงเช่นเดียวกับกาน้ำชาต้นแบบ โดยมีดีไซน์เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหน้าราบตามแบบโมเดลทรงเรขาคณิต สตูดิโอ Unfold เล่าว่า วัตถุประสงค์ของ Utanalog คือ “การคืนกาน้ำชาต้นแบบกลับสู่รากฐานของการเป็นภาชนะที่ใช้งานได้ ในขณะเดียวกันก็แสดงสถานะของการเป็นไอคอนในโลกดิจิทัล”

สำหรับคนที่อยากลองสร้าง Utah Teapot เป็นของตัวเอง Unfold ได้อัพโหลดโมเดล 3 มิติของกาน้ำชาไว้ที่ Thingiverse ซึ่งสามารถปรับแบบให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติส่วนใหญ่ได้

อ้างอิง: บทความ “Emerging Objects 3D prints Utah Teapot Set out of instant tea” จากเว็บไซต์ www.3ders.org