Biomimicry – ลอกเลียนเพื่อเปลี่ยนชีวิต
Technology & Innovation

Biomimicry – ลอกเลียนเพื่อเปลี่ยนชีวิต

  • 23 Feb 2016
  • 17386
Biomimicry1.png
© heinzawards.net

เมื่อธรรมชาติเป็นครูที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์สิ่งที่มนุษย์พบเห็นในธรรมชาติจึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์อารยธรรมงานศิลปะสิ่งประดิษฐ์สถาปัตยกรรม นวัตกรรม และอื่นๆอีกมากมาย 

Biomimicry คืออะไร?
Biomimicry คือ การเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์   

Biomimicry มีต้นกำเนิดมาจากภาษากรีกคำว่า 'Bios' เเปลว่า ‘ชีวิต’ และ 'Mimic' มีความหมายว่า ‘ลอกเลียนแบบ’ดังนั้น Biomimicry จึงเป็นศาสตร์พหุสาขา (Interdisplinary) ที่ศึกษารูปร่าง (shape) กระบวนการ (process) เเละระบบ (system) ในธรรมชาติเพื่อที่จะเรียนรู้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาของธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

บางคนอาจมองว่า ‘Biomimicry’ เป็นสิ่งไกลตัว แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ใช้ศาสตร์ Biomimicry มาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบ ศิลปะ เเละ นวัตกรรมต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ หรือเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาในการดำเนินชีวิตมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ลองมาดูกันว่าผลงานที่เกิดขึ้นจากศาสตร์ Biomimicry นั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

Biomimicry2.png
© biomimicry.in.th
   
ปี 1984 จอร์จ เดอ เมสทรอล (George de Mestral) นักประดิษฐ์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกไปเดินเล่นในขณะที่กำลังเดินกลับบ้านเขาได้พบว่ามีเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่ฝักมีหนามติดกับกางเกงกลับมาด้วย George จึงสังเกตลักษณะของฝักดังกล่าวด้วยกล้องจุลทรรศน์และมองเห็นรูปทรงคล้ายตะขอ (hook) เกี่ยวอยู่กับผ้าของกางเกง เขาสังเกตว่าพืชใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการสร้างเมล็ดที่มีลักษณะเป็นตะขอนี้เพื่อให้สามารถเกาะเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อใช้เป็นพาหนะในการขยายพันธุ์ไปยังแหล่งต่างๆ การค้นพบนี้ทำให้ George เกิดแนวคิดมาต่อยอดและประดิษฐ์เป็น Velcro หรือที่เราเรียกกันว่า “แถบตีนตุ๊กแก”

Biomimicry3.png
© interfacedesignspace.com

ปี 2004 บริษัท Speedo ผู้ผลิตชุดว่ายน้ำได้ผลิตชุดว่ายน้ำเพื่อใช้ในการแข่งขันโดยเลียนแบบจากผิวหนังของฉลามที่มีรูพรุนเล็กๆ เพื่อช่วยลดการเสียดสีและแรงต้านในน้ำ เมื่อนำมาประยุกต์เข้ากับชุดว่ายน้ำจึงช่วยทำให้ผู้สวมใส่สามารถว่ายน้ำได้คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น

Biomimicry4.png
© biomimicry.org

ในปี 2006 ‘Biomimicry Institute’ สถาบันวิจัยและศึกษาในด้านชีวลอกเลียนได้ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย Janine Benyus หนึ่งในผู้บุกเบิกศาสตร์สาขานี้ ร่วมกับ Bryony Schwan เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้าน Biomimicry ผ่านการออกเเบบ กระบวนการเรียนรู้ สำหรับคนทุกวัย ตั้งเเต่เด็กไปจนถึงนักวิจัย เเละนักธุรกิจ ด้วยเเนวคิดที่ว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้กลยุทธ์ในทุกๆ ศาสตร์ได้จากธรรมชาติ ‘Biomimicry Institute’ ยังพัฒนาเครื่องมือที่ให้นักออกเเบบสามารถค้นหากลยุทธ์เเละเเรงบันดาลจากธรรมชาติที่ตอบโจทย์งานของตนเองได้ ผ่านทางเว็บไซต์ asknature.org โดยมุ่งเป้าให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับทุกคน

Biomimicry5.png
© ascannotdo.wordpress.com

แซม สเตียเออร์ (Sam Stier) จากสถาบัน Biomimicry Institute กล่าวว่า นวัตกรรมที่ใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาตินั้นพบได้ทุกๆที่ เช่น ยารักษาโรค สถาปัตยกรรม การออกแบบรถยนต์ หรือสิ่งทอ แรงบันดาลใจดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ล่วงรู้ถึงสาเหตุว่า ทำไมเมื่อเราโดนยุงกัดจึงไม่รู้สึกเจ็บและนำไปพัฒนาเข็มฉีดยาที่ทำให้เจ็บปวดน้อยที่สุด

คริสโตเฟอร์ ไวนี่ (Christopher Viney) อาจารย์ด้านวิศวกรรมได้ทำการศึกษาว่า ทำไมฮิปโปโปเตมัสจึงมีผิวหนังที่เปียกชื้นและไม่เคยไหม้เลยแม้จะอยู่ภายใต้แสงอาทิตย์ตลอดทั้งวัน และยังใช้อุจจาระพอกตัวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้ามได้โดยที่ไม่มีแมลงวันคอยตอม โครงสร้างที่ผิดปกติของโมเลกุลที่ทำให้ผิวหนังของฮิปโปเปียกชื้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผิวหนังจากแสงแดด ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาการสร้างโมเลกุลลอกเลียนธรรมชาตินี้ และนำมาผลิตเป็นโลชั่นที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับโมเลกุลบนผิวหนังของฮิปโป

Biomimicry6.png
© vicshousepainting.net

โดยธรรมชาติ บัวจะเติบโตอยู่ในโคลนแต่กลับไม่มีโคลนติดอยู่เลย เนื่องจากมีร่องขนาดเล็กทั่วทั้งใบบัวที่สามารถดักจับฟองอากาศไว้ได้ เมื่อมีน้ำหรือสิ่งสกปรกหยดลงบนใบบัว ก็จะสัมผัสกับฟองอากาศทำให้ไม่สามารถเกาะติดที่ผิวของใบบัวได้ และเมื่อฝนตกสิ่งสกปรกก็จะถูกชำระล้างออกไป จากแนวคิดนี้บริษัท Sto Corp. ได้ผลิตสีที่มีคุณสมบัติคล้ายกับพื้นผิวบัว เมื่อสีแห้งสิ่งสกปรกจะไม่สามารถเกาะติดอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อทาสีอาคารด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็จะช่วยให้อาคารนั้นดูสะอาดอยู่เสมอ        

เมื่อปลายปี 2015 บริษัท Biomimicry Institure (สถาบันวิจัยและศึกษาด้านชีวลอกเลียน) ในสหรัฐอเมริกา ได้จัดการแข่งขัน ที่มีชื่อว่า Global Biomimicry Design Challenge เพื่อค้นหานวัตกรรมที่เลียนแบบกระบวนการทำงานของสิ่งมีชีวิตจากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก โดยโจทย์ที่ท้าทายในครั้งนี้คือ การแก้ไขปัญหาอาหารของโลกโดยมีทีม BioX เยาวชนไทยจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน หรือ Junior Science Talent Project (JSTP)  เป็นทีมไทยทีมเดียวที่เข้าร่วมโครงการและได้รับเลือกให้เป็น 1 ในสามทีมที่ชนะเลิศในระดับประชาชนทั่วไป พร้อมคว้ารางวัลมูลค่า 7,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 225,000 บาท) โดยนับเป็นทีมที่เด็กที่สุดในการแข่งขัน


Biomimicry7.png
© biomimicry.in.th
   
นวัตกรรมที่ทีม BioX ส่งเข้าประกวดคือ Jube อุปกรณ์จับแมลงที่เลียนแบบการทำงานของพืชกินแมลง หน้าที่ของ Jube คือการหาโปรตีนทางเลือก (แมลง) ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นธุรกันดาร โดยมีหลักการใช้ง่ายๆ คือเมื่อนำอาหารที่เหลือในชีวิตประจำวันใส่ลงใน Jube แมลงก็จะเข้ามากินอาหาร และติดกับดัก ไม่สามารถออกไปได้

biox1.jpg
© biomimicry.in.th
   

Jube ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคนิคการสานจากภูมิปัญญาไทย สามารถผลิตได้ง่ายในหลายๆ พื้นที่ด้วยอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นผลงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการผสมผสานแนวคิดทาง Biomimicryเข้ากับมุมมองทางศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้เกิดงานที่มีมิติใหม่และสอดคล้องกับโจทย์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนอาหาร


“ในการทำให้หมุนเวียนได้ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆแล้วในธรรมชาติไม่มีของเสียเราเป็นเพียงแค่สัตว์ตัวหนึ่งที่อยู่ในโลกใบนี้ดังนั้นถ้าเราจะอยู่ในโลกใบนี้ดำรงชีวิตได้อย่างสง่างามต่อไปเราจะต้องสร้างระบบผลิตของเราทำให้เป็นระบบเหมือนธรรมชาติเพื่อทำให้ไม่มีขยะของเสียอีกสิ่งหนึ่งจะเป็นวัตถุหรืออาหารให้กับอีกสิ่งหนึ่งเสมอไป” - ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ สมาชิกทีม BioX

jube2.jpg
© biomimicry.in.th

ตอนนี้ทีม BioX กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาตัวต้นเเบบของ Jube เเละต่อยอดเป็น Social Enterprise Startup เพื่อที่จะนำไปนำเสนอในงาน Bioneer Conference ที่ Silicon Valley สหรัฐอเมริกาในเดือนสิงหาคม ปี 2016

Biomimicry.jpg
© biomimicry.in.th

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับชีวลอกเลียน (Biomimictry) ก่อตั้งขึ้นแล้ว ในชื่อ ‘Biomimicry Thailand’ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน Biomimicry หรือที่เรียกว่า ‘กระบวนการสร้างและออกแบบนวัตกรรมโดยการเลียนแบบธรรมชาติ’ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเรียนรู้จากธรรมชาติ ค้นหาไอเดีย แรงบันดาลใจ และทางออกต่อโจทย์ปัญหาที่ต้องการเพื่อที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพและกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อไป

เรื่อง: ชาคริต นิลศาสตร์

Biomimicry Thailand
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชั้น 12 อาคาร 2 ศูนย์ทัพยากรการเรียนรู้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90100
โทร. 074-282831 หรือ 087-3927961 โทรสาร. 074-282831
www.biomimicry.in.th

เรียบเรียงข้อมูลจาก
บทความ “Innovative Prototype – Jube 2015” จาก web.patthai.org
บทความ “มหัศจรรย์จากธรรมชาติ ต้นแบบเทคโนโลยีเพื่ออนาคต” จาก biomimicry.in.th
บทความ “ค้นหาแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีจากธรรมชาติ” จาก biomimicry.in.th
บทความ “Finding technological inspiration in nature” จาก www.washingtonpost.com