อัพเดตข่าวสารแวดวงอุตสาหกรรมดนตรี
Technology & Innovation

อัพเดตข่าวสารแวดวงอุตสาหกรรมดนตรี

  • 01 Mar 2016
  • 2800
Music-Streaming.jpg
© thesweetsetup.com

Streaming Music มิติใหม่ของการฟังเพลง
หลายศตวรรษที่ผ่านมา ช่องทางการเสพดนตรีของนักฟังเพลงผันแปรไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลมากขึ้น ตั้งแต่การฟังผ่านเทปคาสเซ็ต สู่ยุคของซีดี และพัฒนาเป็นเอ็มพีสาม แต่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด จึงทำให้เกิดช่องทางใหม่ที่เรียกว่า ‘มิวสิก สตรีมมิง’ (Music Streaming) ซึ่งไม่ใช่แค่เทรนด์ของการฟังเพลง แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการฟังเพลงของคนยุคปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว
    
มิวสิก สตรีมมิง คือ บริการฟังเพลงออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ แทนการซื้อเพลงหรืออัลบั้ม โดยไม่ต้องดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่อง ซึ่งผู้ให้บริการมิวสิก สตรีมมิง จะร่วมมือกับค่ายเพลงต่างๆ รวบรวมเพลงมาไว้บริการบนเว็บไซต์โดยที่ผู้ฟังจะต้องจ่ายค่าบริการแบบเหมาจ่ายหรือสมัครสมาชิกเพื่อฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ จากนั้นบริษัทผู้ให้บริการก็จะจ่ายเงินให้กับศิลปินและค่ายเพลงโดยคำนวณจากการกดฟัง เพลงไหนที่มีคนฟังมาก ศิลปินก็จะได้เงินเยอะไปด้วย
    
ข้อดีคือ เราจะสามารถฟังเพลงกี่เพลงก็ได้ ศิลปินค่ายไหน วงไหนก็ได้ ที่ร่วมให้บริการแบบไม่จำกัดต่อเดือน ส่วนข้อเสียก็คืออินเทอร์เน็ตจะต้องเสถียรพอที่จะเล่นเพลงด้วย และถ้าบอกเลิกการเป็นสมาชิกหรือยกเลิกใช้บริการ เราก็จะไม่สามารถเข้าถึงเพลงได้อีก
    
มิวสิก สตรีมมิง จึงกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และถูกกฎหมาย ส่วนค่ายเพลงและศิลปินก็ได้เผยแพร่ผลงานอย่างกว้างขวาง เป็นการปกป้องลิขสิทธิ์ และได้ผลตอบแทนชัดเจน เรียกว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
    
เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่รองรับและอยู่ในที่ที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็สามารถสนุกไปกับเสียงดนตรีได้แบบไม่จำกัด ทุกที่ ทุกเวลา และไม่แน่ว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีสนับสนุนการฟังเพลงในรูปแบบนี้มากขึ้น มิวสิก สตรีมมิง อาจเป็นช่องทางเดียวในการเลือกฟังเพลงเลยก็ได้

ที่มา:
บทความ “What is Streaming Music” โดย Mark Harris จาก mp3.about.com
บทความ “Which Music Streaming App is Right for You?” โดย Sarah Mitroff จาก cnet.com


TEDx-Music.jpg
© facebook.com/TEDxMusicProject

Music Connects the World

เพราะว่าดนตรีคือภาษาสากล จังหวะและท่วงทำนองของเสียงดนตรีจึงสามารถส่งผ่านความรู้สึกถึงกันได้ อย่างไรก็ดี บทเพลง เสียงดนตรี และเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ก็เป็นทั้งเสน่ห์และความงดงาม และการได้รับฟังบทเพลงที่มีเนื้อร้อง ท่วงทำนอง หรือจังหวะที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคย จึงเป็นเสมือนการเชื่อมตัวเราเข้ากับโลกแห่งดนตรีที่กว้างใหญ่และน่าสนใจให้ค้นหา
        
TEDx Music Project เป็นโครงการซึ่งรวบรวมแทร็กเพลงที่คัดเลือกมาจากการแสดงดนตรีสดของอีเวนต์ TEDx รอบโลก ก่อตั้งโดย เอมี โรบินสัน (Amy Robinson) เมื่อปี 2012 โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับ TEDx Talks เวทีแห่งการรวมตัวกันของนักคิดนักทำที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เพียงแต่ว่า TEDx Music Project เป็นการจัดแสดงดนตรีของศิลปินทั้งแบบคลาสสิก หรือผสมผสานกับเครื่องดนตรีท้องถิ่นต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก พร้อมเก็บรวบรวมบันทึกการแสดงมาไว้ในรูปแบบของคลังห้องสมุดเพื่อเก็บรักษา และเผยแพร่บทเพลงที่มีคุณค่าเหล่านี้ต่อไป
        
การรวบรวมทรัพยากรบทเพลงจากการแสดงดนตรีทั่วโลกกว่า 10,000 อีเวนต์ ส่งผลให้ขณะนี้มีแทร็กเพลงอยู่ในคลังแล้วมากกว่า 500 แทร็ก ซึ่งมีที่มาจากเมืองต่างๆ ถึง 5,000 เมือง ใน 180 ประเทศทั่วโลก โดยแทร็กเพลงจะถูกจัดเก็บไว้บนแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘ซาวน์คลาวด์’ (SoundCloud) เว็บไซต์ฝากไฟล์เสียงสำหรับคนรักเสียงเพลงที่ใช้งานไม่ยาก เพียงอัพโหลดไฟล์เสียงที่บันทึกมาไว้บนเว็บ ก็สามารถแชร์แทร็กเพลงต่างๆ ส่งถึงกันได้ทั่วโลก พร้อมเป็นการเชื่อมโยงบทเพลงที่มีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ให้สื่อถึงกันได้ด้วยภาษาทางดนตรีที่เป็นสากลสำหรับนักฟังทั่วโลก

ที่มา :
soundcloud.com/tedxmusicproject
tedxmusicproject.com
วิกิพีเดีย


joox.jpg
© music.sanook.com

ฟังสนุกกับ JOOX MUSIC
จากโมเดลการฟังเพลงรูปแบบสตรีมมิงที่ประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน บริษัทไอทีสัญชาติจีนชั้นนำของโลกอย่างเท็นเซ็นต์ (Tencent) ผู้ผลิตแอพพลิเคชัน WeChat และเว็บไซต์ weibo.com ได้เปิดตัวแอพพลิเคชันการให้บริการฟังเพลงฟรีในรูปแบบสตรีมมิงภายใต้ชื่อ “JOOX” ครั้งแรกในปี 2014 ที่ฮ่องกง และขยายการให้บริการต่อเนื่องมาที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยล่าสุดบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ได้เปิดตัว JOOX ให้ใช้บริการครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
    
แอพพลิเคชัน JOOX ไม่ใช่แค่เครื่องมือที่ให้บริการฟังเพลงฟรี แต่ยังคง “ออกแบบการฟังเพลง” ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างเพลย์ลิสต์ส่วนตัว หรือเลือกฟังเพลงจากเพลย์ลิสต์ที่ทีมงานคัดสรรจากลักษณะธีมเพลงต่างๆ หรือจากเพลย์ลิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสปอนเซอร์ รวมทั้งสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกวีไอพีที่เสียค่าบริการรายเดือนจะสามารถฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าสมาชิกธรรมดา พร้อมได้สิทธิ์ฟังเพลงพิเศษที่สมาชิกปกติไม่สามารถฟังได้โดยไม่ถูกกวนใจจากโฆษณาคั่นขณะฟังเพลง ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชันดังกล่าวโดยนับจากการเปิดหน้าจอโดยเฉลี่ยแล้ว 20 ล้านครั้งต่อวัน นอกจากนี้ JOOX ยังมีเว็บไซต์ music.sanook.com Powered by JOOX ที่ทำหน้าที่สร้างคอนเท็นต์ต่อเนื่องจากการฟังเพลงเพื่ออัพเดตความรู้และความเคลื่อนไหวของวงการเพลงจากศิลปินไทยและต่างประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง

ที่มา :
บทความ “Sanook! เปิดตัวแอปพลิเคชัน  JOOX อย่างเป็นทางการในประเทศไทย” (19 มกราคม 2016) จาก thumbsup.in.th
music.sanook.com
วิกีพีเดีย


Apple-Music-.png
© asmo.ru
 
Apple Music นักรบมาแรงในสงครามสตรีมมิง
หลังจากที่ในปี 2013 รายได้จากการดาวน์โหลดเพลงของไอทูนส์สโตร์ ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดให้บริการ ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้บริการสตรีมมิงกันมากขึ้น โดยมี Spotify และ Deezer เป็นสองผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันมาพักใหญ่ เมื่อกลางปี 2015 แอปเปิลจึงได้กระโจนเข้าสู่สงครามสตรีมมิงอย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดตัว Apple Music บริการฟังเพลงแบบเก็บค่าบริการรายเดือนซึ่งนอกจากจะเลือกฟังเพลงอะไรก็ได้ที่อยู่บนไอทูนส์สโตร์แล้ว ยังมีบริการสถานีวิทยุ Beats 1 ที่เชิญดีเจชื่อดังมาจัดรายการวิทยุให้ฟังด้วยแนวเพลงหลากหลาย ยิ่งไปกว่านั้น แอปเปิลยังนำ Apple Music บุกมาขยายบริการบนแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่างแอนดรอยด์อีกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะจากการรายงานของ IDC ส่วนแบ่งตลาดของแอนดรอยด์ในตลาดสมาร์ทโฟนในทุกไตรมาสของปี 2016 นั้นสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไอโอเอสได้ส่วนแบ่งเพียง 13-16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2016 มีรายงานว่า Apple Music มียอดผู้ใช้งานแบบเสียเงินทะลุ 10 ล้านราย หลังจากเปิดให้ใช้งานเพียงแค่ 6 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Spotify ยักษ์ใหญ่ในวงการสตรีมมิงที่ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานแบบเสียเงินมากกว่า 20 ล้านคนนั้นต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในขณะที่ Pandora ผู้ให้บริการวิทยุออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งานประจำอยู่ที่ 78 ล้านรายนั้น ก็มีเพียง 3.9 ล้านรายที่ยอมจ่ายค่าบริการแบบพรีเมียม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่า ความร้อนแรงในสงครามเพลงยุคดิจิทัลคงจะไม่มีวันลดอุณหภูมิลงง่ายๆ อย่างแน่นอน

ที่มา:
บทความ “Apple Music for Android ถึงเวลาแอปเปิลครองโลกดนตรี!?” (2015) จาก manager.co.th
บทความ “New and interesting music is harder to find than ever” (2016) จาก economist.com
บทความ “แอปเปิ้ลเปิดบริการฟังเพลงแบบรายเดือน Apple Music” (2015) จาก siampod.com

เรื่อง: ชาคริต นิลศาสตร์, ปิยะพร สวัสดิ์สิงห์, วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ และ ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ