Let’s Change การศึกษาที่ต้องตามโลกให้ทัน
Technology & Innovation

Let’s Change การศึกษาที่ต้องตามโลกให้ทัน

  • 01 Feb 2017
  • 10642
 
ในขณะที่สังคมกำลังต้อนรับเด็กเจเนอเรชั่นมิลเลนเนียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในรั้วการศึกษาก็กำลังต้อนรับเด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วพอๆ กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

กระแสธารแห่งเทคโนโลยีที่เชี่ยวกรากกำลังไหลผ่านทั่วทุกพื้นที่บนโลกใบนี้อย่างไม่หยุดยั้ง สังคม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา และความรู้ ต่างถูกทำให้เปลี่ยนรูปไปตามแรงส่งจากเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงจากที่แต่เดิมใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะเห็นชัด นับวันกลับยิ่งทวีความเร็วแบบติดสปีด คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าทุกๆ นาทีจะเกิดของใหม่ๆ ที่เป็นผลพวงจากเทคโนโลยีขึ้นมา ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนยุคใหม่อย่างเราล้วนรอคอยการจัดแสดงสินค้าทางเทคโนโลยีที่จัดขึ้นทุกๆ ปี เราเฝ้าดูความเร็วของการประมวลผลจาก CPU ที่ดูเหมือนจะเร็วขึ้น 2 เท่าทุกๆ 6 เดือน สิ่งของต่างๆ ที่เราซื้อวันนี้เหมือนจะตกรุ่นทันทีที่จ่ายเงิน ความเร็วของการสื่อสารจาก 2G สู่ 3G และไปที่ 4G เหมือนจะไม่สามารถรั้งรอได้อีกต่อไป เทคโนโลยีของผู้คนที่เกิดขึ้นในวันนี้แตกต่างจากผู้คนที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วมหาศาล

กลุ่มเด็กๆ เจเนอเรชั่นอัลฟ่าในวันนี้จึงต้องใช้ชีวิตราวกับอยู่บนกระดานโต้คลื่น ท่องไปบนกระแสธารแห่งเทคโนโลยีอย่างมีชีวิตชีวาและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ความเร็วของเทคโนโลยีที่ว่าเร็วแล้ว และต่อให้เร็วขึ้นอีกสักกี่เท่า ก็อาจยังไม่เท่าทันใจเด็กๆ เจเนอเรชั่นนี้ การศึกษาสำหรับเจเนอเรชั่นอัลฟ่าจึงไม่สามารถดำเนินตามรูปแบบเดิมๆ ได้ในทุกมิติ หากระบบการศึกษาต้องเผชิญกับการปรับตัว ตั้งแต่สถานที่ สภาพแวดล้อม ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน หลักสูตรเนื้อหาสาระการเรียน จนไปถึงผู้สอนที่ไม่เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน แต่ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของเยาวชนในวันนี้อย่างแท้จริงด้วย
 
education2.jpg
© makezine.com

Generation เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไป
เจเนอเรชั่นอัลฟ่าเป็นชื่อเรียกเด็กที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นลูกของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ หรือกลุ่มคนที่เกิดในยุคซึ่งต้องปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้สอดรับกับกระแสคลื่นเทคโนโลยีที่เริ่มผลิบาน ผิดกับกลุ่มเจเนอเรชั่นอัลฟ่าที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่สุกงอม เด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าเกิดและเติบโตในโลกแห่งโซเซียลเน็ตเวิร์ก ในยุคสมัยที่ข้อมูลต่างๆ เคลื่อนที่ผ่านอากาศที่ความเร็วแสง สามารถเข้าถึงทุกที่ในทุกมิติด้วยสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ถูกหลอมด้วยวัฒนธรรมแห่งข้อมูลที่ท่วมท้น เข้าถึงง่าย และให้ความสำคัญกับภาพสะท้อนความสำเร็จที่รุนแรงทันทีทันควัน นิยมการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง ให้ความสำคัญกับการลงมือทำตามวิถีทางที่กำหนดขึ้นด้วยตัวเอง มากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน

ค่านิยมที่สะท้อนออกมาทางพฤติกรรมเหล่านี้ เริ่มเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสองสาวพี่น้องตระกูลบีตตี (Beatty) ที่เริ่มจากความสนใจในหุ่นยนต์ จนนำมาสู่การเรียนรู้การสร้างและเปิดบริษัทจำหน่ายหุ่นยนต์ให้พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาในวัยเพียง 11 และ 14 ปี หรือ เอเลนา ไซม่อน (Elena Simon) ที่เอาชนะโรคมะเร็งตับที่คุณหมอชั้นนำทุกคนบอกว่าไม่มีทางรักษาด้วยการยืมใช้ห้องแล็บของมหาวิทยาลัย ค้นหาวิธีรักษาตัวเองจนหายขาด และหากเรายิ่งค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ก็จะยิ่งพบกรณีศึกษาจากเด็กกลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมาตั้งคำถามขึ้นว่าแล้วระบบการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับเด็กเจเนอเรชั่นนี้ได้บ้าง
 
education4.jpg
© static.guim.co.uk

Space สลายขอบเขตพื้นที่แห่งการเรียนรู้
เมื่อแหล่งความรู้และข้อมูลสามารถเข้าถึงได้เพียงปลายคลิก ห้องเรียนแบบเก่าที่มีคุณครูเป็นศูนย์กลางจึงถูกปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ โดยกระจายสู่พื้นที่นอกโรงเรียนในรูปแบบพื้นที่เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ โมเดลการเรียนรู้ใหม่ๆ ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงความรู้และทักษะของเด็กสู่การปฏิบัติจริง เช่น KidZania ที่ให้เด็กทดลองสวมบทบาทอาชีพต่างๆ การปรับพื้นที่ทำงานจริงของผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ได้ลงมือทดลอง เช่น FABLAB Makerspace หรือ Tinker Lab ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ให้พวกเขาได้ทดลองแปลงแนวคิดสู่ชิ้นงานด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิทัล (Digital Fabrication) หรือรูปแบบพื้นที่ที่ดึงผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอนผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) พร้อมทุนสนับสนุน เช่น space10 ของ IKEA
 
education5.jpg
©unsplash.com
 
Fandom แฟนดอม แฟนพันธุ์แท้คุณครูพันธุ์ใหม่
มิติหนึ่งระบบการศึกษามีรูปแบบเป็นเส้นตรงและถูกแบ่งเป็นส่วนๆ ตามช่วงภาคการศึกษา เนื้อหาสาระถูกจำกัดไว้เฉพาะที่มีในตำรา ถูกนำเสนอตามลำดับช่วงวัยของผู้เรียน เกิดขึ้นเฉพาะในคาบเรียน และจบลงทันทีที่สิ้นสุดคาบเรียน กล่าวอีกอย่างก็คือหากคุณอยากเรียนหนังสือ คุณต้องพาตัวเองเข้าสู่ชั้นเรียนให้ได้ ในเวลาที่เหมาะสม และยิ่งถ้าความรู้ที่สนใจเป็นเรื่องเฉพาะทางด้วยแล้ว อาจจะต้องรอเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับมิติบนโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งพื้นที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อเวลา อยากเรียนอะไร อยากรู้อะไร ก็สามารถเรียนได้ทันที ไม่ว่าเรื่องที่อยากเรียนรู้จะเป็นเรื่องอะไร โลกอินเตอร์เน็ตจะมีกลุ่มสังคมที่สนใจเรื่องเดียวกับเรารออยู่แล้วเสมอ ข้อมูลหรือองค์ความรู้นั้นรับประกันได้เลยว่าสดใหม่และไม่ใช่ข้อมูลระดับพื้นๆ แต่เป็นข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มคนที่เรียกว่าแฟนดอม หรือแฟนพันธุ์แท้ที่หมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างสุดตัว ข้อมูลจากกลุ่มคนเหล่านี้ถูกแบ่งปันอยู่บนพื้นที่ของโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะบทความ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถแปลงให้อยู่ในรูปของดิจิทัลได้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือข้อมูลหรือองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้ที่หยุดนิ่ง แต่เป็นองค์ความรู้ที่เปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดการแก้ไขและต่อยอดไปสู่ข้อมูลสำเร็จรูปใหม่ล่าสุดที่นำไปปรับใช้ได้ทันที เรียกได้ว่าความรู้วางอยู่ตรงหน้าจอให้เราเลือกเรียนได้โดยอิสระ
 
education3.jpg
© rosanbosch.com

Reframing Knowledge การรื้อสร้างหลักสูตร
มีอะไรบ้างที่ไม่สามารถหาได้จากโลกอินเทอร์เน็ต การศึกษาแบบดั้งเดิมเปรียบเป็นเสาหลักของภาคการศึกษา โดยรับหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ผู้เรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ ด้านหนึ่งพวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่การศึกษาต่างเป็นอิสระไร้ขอบเขตและแปรเปลี่ยนไปตามห้วงเวลา ซึ่งห้วงเวลาของพวกเขาดูเหมือนนับวันจะยิ่งหมุนเร็ว ความรู้บางประการจึงก้าวล้ำกว่าความรู้ที่สอนในโรงเรียนแบบเก่าไปมาก แต่ในทางกลับกัน องค์ความรู้สำคัญๆ ที่ถูกมองข้ามและเพิกเฉยไปนั้น กลับมีเสียงสะท้อนที่บอกเราว่าเราไม่อาจละทิ้งการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมไปได้เสียทั้งหมด การเรียนการสอนรูปแบบนี้ยังคงต้องมีอยู่ แต่ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

ความอิสระของการเรียนบนโลกอินเทอร์เน็ตนำไปสู่บทบาทใหม่ของผู้เรียน ผู้เรียนหรือนักเรียนไม่ได้เป็นผู้รับข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีอิสระในการออกแบบวิธีการเรียนให้ตรงกับความสนใจของตนเองมากที่สุด โดยเลือกตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น เพิ่มพูนเนื้อหาสาระที่จำเป็น ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงผลที่ได้จากการเรียนด้วยตัวเอง เพื่อแบ่งปันบนโซเชียลมีเดียและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับกลุ่มแฟนดอม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความรู้ใหม่ๆ แต่ยังรวมถึงแผนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ วิธีเรียนแบบใหม่ เครื่องมือใหม่ๆ ซึ่งหลุดจากกรอบการเรียนในโรงเรียนแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง เครื่องมือรูปแบบใหม่ถูกสร้างขึ้นจากผู้เรียนโดยตรง ซึ่งตอบโจทย์ที่มีความเฉพาะเจาะจงได้อย่างตรงประเด็น รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น Summly เป็นแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยนิค ดัลลอยซิโอ (Nick D’Aloisio) ในขณะที่เขาอายุเพียง 17 ปี เพื่อสรุปประเด็นเนื้อหาทางออนไลน์ ให้กระชับทันใจวัยรุ่น กลุ่ม Lifelong Kindergarten ของ MIT Media Lab ได้ทดลองใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของชุมชนย่านบอสตัน ในการย่อยการเรียนโปรแกรมมิ่งที่ดูซับซ้อนให้กลายเป็นชุดของเล่นเด็กอย่าง scratch หรือ Vittra School Telefonplan ที่จัดพื้นที่การเรียนเป็นกลุ่มที่สามารถเชื่อมโยงถึงกัน ให้เด็กเข้ามาเลือกใช้และเชื่อมโยงการเรียนรู้ของตัวเอง

Money แหล่งเงินทุนในหมู่เมฆ
ในขณะที่การศึกษาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของหลายๆ ประเทศ แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นกลับใช้เวลาดำเนินการช้า และกลายเป็นปัจจัยที่ชะลอความก้าวหน้าด้านการศึกษา Crowdfunding (การระดมทุนสาธารณะ) จึงกลายเป็นทางออกในปัจจุบันของหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ขาดแคลน ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาในรูปแบบของโปรเจ็กต์ จากการระดมทุนบนแพลตฟอร์มอย่าง Kickstarter, Indiegogo หรือ 100 Percent Project ตั้งแต่การซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนในถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยสำหรับการสร้างยานอวกาศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกวันนี้เด็กๆ รุ่นใหม่สามารถเติบโตและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเร็วและท่วมท้นจากกลุ่มเด็กเจเนอเรชั่นซี (Generation Z) คนแล้วคนเล่า ตามมาแบบติดๆ กับกลุ่มเด็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่าที่ตบเท้าเข้าแถวเป็นเศรษฐีตัวน้อย สิ่งที่เรียกว่าตำนานถูกเขียนขึ้นและลบลงชนิดวันต่อวัน จากเด็กคลื่นลูกใหม่ที่มาเร็วกว่าที่เคย ความสำเร็จอาจไม่สามารถวัดได้จากตัวเลขในบัญชี แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินคือมาตรวัดความสำเร็จหนึ่งที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด เด็กๆ มากมายกำลังก้าวออกมาไล่ตามความฝัน โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เทคโนโลยีที่เคยถูกมองว่าเป็นของซับซ้อน ยาก และเป็นเรื่องของอนาคต ไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับเด็กๆ ยุคใหม่อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงมิติหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายมิติที่เด็กต้องเรียนรู้และต้องการการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมอยู่ แม้ว่าวิธีการสอนแบบดั้งเดิมนั้นดูราวจะหยุดนิ่งไปกับช่วงเวลาในอดีตก็ตาม การปลดล็อกเวลาให้กลับมาเดินได้อีกครั้งอาจไม่พอ แต่ยังต้องเร่งเวลาให้เร็วกว่ากระแสธารแห่งเทคโนโลยี เพื่อที่การศึกษาจะเป็นผู้ประคับประคองและผลักดันให้เด็กเจเนอเรชั่นใหม่เติบโตและก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่อง: สมรรถพล ตาณพันธุ์ และ กัลยา โกวิทวิสิทธิ์

ที่มา:
beatty-robotics.com
en.wikipedia.org/wiki/Fab_lab
indiegogo.com
kidsteachingkids.com
llk.media.mit.edu
100percentproject.org
summly.com
today.com/video/today/54974685
youtube.com