Get the Picture
Technology & Innovation

Get the Picture

  • 06 Nov 2017
  • 4948

“ความรู้สึกของผมก็คือ สื่อทำให้โลกนี้ผิดหวังในปี 1945 ด้วยการสื่อภาพระเบิดปรมาณูในภาพ Mushroom Cloud* แทนที่จะสื่อถึงมันในแง่ของอาวุธเลวร้ายอย่างที่มันเป็น”

ไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ดูสารคดีชิ้นนี้ นอกจากเรื่องราวอันทรงคุณค่า มันคือสารคดีรวมภาพถ่าย “ความจริง” ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่โลกเคยเห็น

เรากำลังพูดถึงสารคดี Get the Picture (2013) ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวและชีวิตของจอห์น จี. มอร์ริส บรรณาธิการภาพผู้มีบทบาทในการบันทึกเรื่องราวของศตวรรษที่ 20

จะบอกว่าตลอดชีวิตการทำงานของจอห์นคือสงครามก็คงไม่ผิด ไล่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเขาทำงานให้กับนิตยสารไลฟ์ สงครามเย็น สงครามเวียดนาม และภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในฐานะบรรณาธิการภาพ เขาได้ทำงานกับช่างภาพชั้นยอดมากมาย หากไล่เรียงสังกัดที่เขาเคยอยู่ มันก็หมายถึงเหล่าช่างภาพอันดับหนึ่งของโลก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะมีภาพที่ผ่านสายตาของเขามามากมายเพียงใด แต่โปรดสงสัยเถิดว่า การตัดสินใจของเขาที่จะนำภาพไหนมาลงนั้น มีผลกับการมองโลกของเราทุกคนอย่างไร 

“ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ภาพก็คือบทสรุปที่จะอยู่ตลอดไป” นั่นคือสิ่งที่จอห์นบอกกับเรา

© talesofamadcapheiress.blogspot.com 

มันคือยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์ และนิตยสารไลฟ์ก็เป็นไม่ต่างจากโทรทัศน์

เพราะมันนำเสนอเรื่องราวโดยมี “ภาพ” เป็นหัวใจสำคัญ และจอห์นเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเขาในปี 1939 ด้วยการเป็นเด็กประจำออฟฟิศนิตยสารซึ่งในยุคนั้นมียอดขายหลายล้านฉบับต่อสัปดาห์หัวนี้

นั่นคือปีเดียวกับที่เขาแต่งงานครั้งแรก และเป็นปีเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น

เมื่อภรรยาของเขาตั้งครรภ์ จอห์นย้ายมาประจำการอยู่ในฮอลลีวูด ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเวทีและความบันเทิงเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ที่ออกรบและสร้างสปิริตในช่วงสงคราม แต่ในเวลาที่เขากำลังจะฉลองวันเกิดกับภรรยาซึ่งกำลังอบขนมเค้ก วิทยุก็รายงานข่าวญี่ปุ่นเข้าโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ 

สงครามมาถึงบ้านแล้ว จอห์นต้องเริ่มรวบรวมช่างภาพ และชีวิตการทำงานที่แท้จริงก็เริ่มขึ้นนับจากวันนั้น

อย่าลืมว่าสงครามไม่ได้หมายถึงการต่อสู้ในสนามรบ แต่หมายถึงทุกชีวิตที่ได้รับกระทบโดยผลพวงของสงคราม อย่างภาพการอพยพชาวญี่ปุ่นที่มาตั้งรกรากกันอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ต่างจากเชลยสงครามเช่นกัน

แม้แต่ชีวิตเขาเองก็มีเรื่องร้าย เพราะเขาต้องสูญเสียลูกสาวคนแรกไปในช่วงเวลานี้เอง 

© cloudfront.net
กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1944  
 

ไคล์แมกซ์ของการทำงานให้กับไลฟ์ของจอห์น ก็คือเหตุการณ์วันดีเดย์ เขามีช่างภาพ 6 คน (มีเพียงคนเดียวที่เคยทำข่าวสงคราม) กับลูกทีมอีก 4 คนในออฟฟิศที่ลอนดอน ซึ่งจอห์นประจำการอยู่ตอนนั้น กับเดดไลน์อันกระชั้นชิด

และเมื่อฟิล์ม 4 ม้วนมาถึงมือจอห์น มันก็เป็นฟิล์มที่ยับเยินและใช้การไม่ได้เกือบทั้งหมด

โชคดีว่ายังมีภาพเหลืออยู่ 11 ภาพท้ายๆ ฟิล์มม้วนหนึ่ง ที่ทำให้ชาวอเมริกันได้เห็นภาพจากนอร์มังดีซึ่งถ่ายโดยโรเบิร์ต คาปา บนนิตยสารไลฟ์ก่อนใคร

โรเบิร์ต คาปา หรือที่จอห์นเรียกเขาว่า “บ๊อบ” ก็คือช่างภาพสงครามในตำนาน ผู้มีสุภาษิตว่า ถ้าภาพของคุณยังไม่ดีพอ คุณก็ยังเข้าไปไม่ใกล้พอ 

© talesofamadcapheiress.blogspot.com  
กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1944 
 

สงครามไม่เพียงคร่าชีวิตของผู้ถืออาวุธและเหยื่อ หากยังคร่าชีวิตของผู้สังเกตการณ์ที่ต้องการทำหน้าที่ “สื่อสาร” อยู่บ่อยครั้ง 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตลอดชีวิตการทำงานอันยาวนานของจอห์น เขาต้องเจอกับความสูญเสียใกล้ตัวมากเพียงใด เมื่อคนที่เขาทำงานด้วยเป็นหลัก ก็คือช่างภาพผู้ต้องเข้าไปใกล้เหตุการณ์เพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเหล่านั้น

เช่นเดียวกับภาพอีกนับไม่ถ้วนที่โลกจะไม่มีวันได้เห็น ด้วยประเด็นทางด้านอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงจริยธรรม

การเป็นบรรณาธิการภาพ ไม่ได้หมายความเพียงแค่การแจกจ่ายงานให้กับช่างภาพ แล้วนั่งรอเลือกภาพอยู่ที่ออฟฟิศ ในหลายครั้ง มันคือการที่เขาจะติดไปกับช่างภาพ-ผู้สื่อข่าว (หลายครั้งเป็นคนเดียวกัน) ในสนามจริงด้วย อย่างจอห์นเองก็ใช้ชีวิตหนึ่งเดือนเต็มอยู่ในสนามรบที่นอร์มังดี

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มที่ผู้สื่อข่าวเองกลายเป็นเป้าหมายในสนามรบนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ และสารคดีชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วยไม่น้อย

นั่นรวมถึงการสัมภาษณ์หัวหน้าข่าวต่างประเทศรุ่นใหญ่ของซีเอ็นเอ็นอย่างคริสเตียน อามันพัวร์ (ใครที่เคยเปิดดูช่องซีเอ็นเอ็นต้องเคยเห็นเธอแน่ๆ) เธอให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสมัยก่อน คู่สงครามจะมองสื่อเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีความเป็นกลาง และเป็นผู้นำ “สาร” ของพวกเขาออกมาให้โลกรู้ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่า สื่อคือเป้าหมายของการโจมตีมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้เรื่องราวหลุดออกมาข้างนอก (ทั้งนอกสนามและนอกประเทศ) นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นนับจากต้นทศวรรษ 1990 หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายและมีความขัดแย้งมากมายในพื้นที่ที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตเก่า ข้อมูลที่น่าตกใจก็คือ ในจำนวนสื่อที่เสียชีวิตในปี 2011 ร้อยละ 46 ไม่ได้เสียชีวิตในสนามรบ แต่พวกเขาถูกฆาตกรรม

ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าสื่อเองก็เริ่มมีอิทธิพลในการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในสงคราม หรือแม้กระทั้งกำหนดวาระได้ด้วยตัวเองในการชี้นำความคิดเห็นของสาธารณะ หรืออาจถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายในหลายกรณี อย่างไรก็ดี การที่สื่อเริ่มเพี้ยนจากความเป็นกลางทำให้ทุกคนตั้งคำถามกลับถึงคำว่าฐานันดรที่สี่ ซึ่งมอบให้สื่อในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการรับรู้ความจริง  

© ft.com  
โรเบิร์ต คาปา 
 

ช่างภาพสงครามส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ต่อต้านสงคราม และมันน่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะสงครามจะยิ่งน่าเกลียดเข้าไปอีก เมื่อมองในระยะใกล้ และช่างภาพสงครามนั้นยิ่งต้องใกล้กว่าผู้สื่อข่าวเสียอีก นั่นคือสิ่งที่จอห์นบอกกับผู้ชมสารคดีชิ้นนี้

ในฐานะบรรณาธิการข่าวผู้ต้องอยู่กับกองภาพถ่ายสงคราม ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาเองก็เป็นผู้ต่อต้านสงครามตัวยง

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกับจิตใจของจอห์นไม่น้อยน่าจะเป็นระเบิดปรมาณูสองลูกนั้น

ในตอนนั้น จอห์นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บรรณาธิการภาพสำหรับนิตยสารอิมแพกต์ของเพนตากอน และสิ่งที่เพนตากอนต้องการก็คือภาพความสำเร็จของ “โครงการแมนฮัตตัน” ชื่อเรียกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อันยิ่งใหญ่ของพวกเขา โดยเฉพาะอำนาจในการทำลายล้าง อันหมายถึงประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของโครงการนี้

“สิ่งที่เลวร้ายก็คือมันไม่ได้ช็อกชาวอเมริกัน แต่ชาวอเมริกันยอมรับสิ่งนี้ว่าเป็นความจำเป็น”

สารคดีไม่ได้บอกเราว่า นี่หรือเปล่าที่เป็นสาเหตุให้จอห์นเปลี่ยนงานหลังสงครามสิ้นสุด แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือเขามีงานใหม่เป็นบรรณาธิการภาพให้กับ Lady’s Home Journal นิตยสารผู้หญิงหัวแถวของอเมริกาในตอนนั้น

เขามีความสุขกับการหยิบจับคัดเลือกภาพชีวิตผู้คนธรรมดา อาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ และเมื่อเข้าสู่ยุคของสงครามเย็น การได้ภาพหญิงชาวนารัสเซีย คนที่อยู่หลังม่านเหล็ก และอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกอุดมการณ์มาขึ้นปก ก็คือความภาคภูมิใจของเขา

แม้ความอ่อนไหวทางการเมืองจะทำให้ตัวนิตยสารไม่กล้าโปรโมตนิตยสารปกนี้ แต่เมื่อออกวางจำหน่าย มันก็ขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว “ผมเชื่อว่าผู้คนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข หากพวกเขามีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน…ผมคือจอมอุดมคติในเรื่องนี้ และผมยอมรับ” นั่นคือสิ่งที่จอห์นบอกกับเรา

ความตื่นเต้นครั้งใหม่ก็คือ “แมกนั่มโฟโต้” การรวมตัวกันในทางธุรกิจของช่างภาพชั้นนำซึ่งจอห์นรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้วทุกคน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือบ๊อบ คาปา ผู้ชวนจอห์นมาร่วมงานในฐานะบรรณาธิการอาวุโสคนแรกและคนเดียวที่แมกนั่มเคยมี

นั่นเป็นเวลาไม่นานเลย ก่อนที่คาปาจะเหยียบกับระเบิดและเสียชีวิตลงระหว่างการเก็บภาพในสงครามอินโดจีน

© static01.nyt.com
 

หากเปรียบชีวิตเป็นบทละคร เดอะนิวยอร์กไทม์สก็คือบทสำคัญอีกบทของจอห์น

มันคือข้อเสนอที่เดินมาเคาะประตูในปี 1967 และนั่นทำให้จอห์นตื่นเต้นอย่างมาก ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทรงพลังที่สุด สิ่งที่ปรากฏอยู่บนปกเดอะนิวยอร์กไทม์สในแต่ละวัน จะส่งอิทธิพลต่อสื่อทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นทำให้ความเป็นกลางกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา

แน่นอนว่าการทำงานในฐานะบรรณาธิการภาพของเดอะนิวยอร์กไทม์สเป็นทั้งความทรงจำที่งดงามและเจ็บปวด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเป็นสื่อทรงอิทธิพล เครือข่ายช่างภาพรุ่นใหญ่ในมือ และประสบการณ์ของจอห์นเอง จะทำให้เขาต้องดีลกับภาพที่ส่งตรงจากสงครามเวียดนามในเวลานั้นมากเพียงใด 

แต่ที่แน่ๆ สงครามเวียดนามเองก็เป็นเครื่องบอกให้เรารู้ว่า Photojournalism หรือภาพเล่าข่าวนั้น มีผลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความคิดที่ชาวอเมริกันมีต่อสงครามเวียดนาม 

เป็นเรา เราจะเลือกเชื่ออะไรระหว่างสิ่งที่นักการเมืองและรัฐบาลพยายามจะบอก กับภาพความจริงที่เราเห็น?

แต่บางครั้ง ภาพที่เราเห็นก็เป็น “ภาพนิ่ง” ที่ไม่ได้บอกกล่าวความจริงทั้งหมด ภาพชนะรางวัลพูลิตเซอร์ที่ถ่ายโดยเอ็ดดี้ อดัมส์ จับภาพผู้บัญชาการตำรวจของสาธารณรัฐเวียดนามในขณะใช้ปืนส่วนตัวจ่อยิงศีรษะของนักโทษชาวเวียดกงที่ถูกจับใส่กุญแจมือ และจอห์นเลือกหยิบมาลงเดอะนิวยอร์กไทม์ส กลายเป็นภาพที่ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ก็จริง แต่ก็มีเรื่องราวตามมาหลังจากนั้นอีกมาก และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้ในที่สุดช่างภาพต้องออกมาขอโทษผู้บัญชาการตำรวจ หลังจากภาพถูกปล่อยออกมาและทำลายชีวิตของเขาอย่างไม่สิ้นสุด

© capacenter.hu
 

ในหลายครั้ง ภาพถ่ายไม่เป็นเพียงการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เป็นผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้วยตัวของมันเอง

“ผมอายุได้ 93 ในตอนที่ตกหลุมรักเธอซึ่งมีอายุ 84 ถึงตอนนี้เราใช้ชีวิตร่วมกันกว่าปีแล้ว และมันเป็นเรื่องวิเศษ ถ้าผมทำได้ ถ้าเราทำได้ ทำไมทุกคนถึงจะทำไม่ได้” 

เขายังคงหัวเราะทุกวัน และมองโลกในแง่ดี ไม่ว่าโลกจะยุ่งเหยิงเพียงใด “ผมไม่สามารถฝืนตัวเองไม่ให้มองโลกในแง่ดีได้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม” 

“ผมมีชีวิตผ่านช่วงเวลาที่โลกย่ำแย่ และผมนั้นโชคดีมากที่ไม่ต้องกังวลว่าอาหารมื้อต่อไปจะมาจากไหน ผมแทบไม่เคยต้องกังวลว่าค่ำนี้จะนอนที่ไหน ผมรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในหลายเมืองของโลก ไม่ว่าจะเป็นชิคาโก ลอสแอนเจลิส ลอนดอน หรือนิวยอร์กที่เขาใช้ชีวิตในการทำงานอยู่มากที่สุด แต่สำหรับจอห์น ปารีสคือบ้านของเขา 

เขาถึงกับเคยชวนคนรักล็อกกุญแจไว้บนสะพาน ตามธรรมเนียมที่คู่รักชาวปารีสเคยทำด้วย (ก่อนจะถูกยกเลิกไปในที่สุด) 

บางที ถ้าชีวิตนี้ได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการพลัดพรากมามากพอ ความรักจึงเป็นเรื่องวิเศษที่ดีงามในตัวมันเองที่สุดแล้ว

“ผมมีอายุเพียง 93 ในตอนที่ตกหลุมรักเธอที่มีอายุ 84 ถึงตอนนี้เราใช้ชีวิตร่วมกันกว่าปีแล้ว และมันเป็นเรื่องวิเศษ ถ้าผมทำได้ ถ้าเราทำได้ ทำไมทุกคนถึงจะทำไม่ได้”   

หมายเหตุ: จอห์น จี. มอร์ริส เสียชีวิตลงในเดือนกรกฎาคม 2017 ด้วยอายุ 100 ปี 7 เดือน 21 วัน   

*Mushroom Cloud คือกลุ่มควันขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดจากการระเบิดของปรมาณู 

 
 

ที่มา: สารคดี Get the Picture (2013), Content Media Corporation

เรื่อง: Little Thoughts