Human Machine: มนุษย์กับหุ่นยนต์ และความเป็นมนุษย์ในหุ่นยนต์
Technology & Innovation

Human Machine: มนุษย์กับหุ่นยนต์ และความเป็นมนุษย์ในหุ่นยนต์

  • 16 Nov 2017
  • 7749

“คุณชอบมนุษย์ไหม” 

“ฉันรักพวกเขา” 

“เพราะอะไร” 

“ฉันไม่แน่ใจว่าเข้าใจเหตุผล (why) แล้วหรือยัง”

นี่คือบทสนทนาระหว่าง “โซเฟีย” หุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ของบริษัท Hanson Robotics กับนักข่าวเว็บไซต์ Business Insider ที่กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โซเฟียยังเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ได้รับสิทธิพลเมืองจากซาอุดิอาระเบีย จนมานำสู่การตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมทางสิทธิของสตรี และอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ที่ยากจะคาดเดา 

หากใครเคยชมคลิปสัมภาษณ์จะเห็นว่าหุ่นยนต์ตัวนี้มักจะหยุดคิด (หรือประมวลผลข้อมูล) ก่อนตอบคำถามและปรับเปลี่ยนสีหน้าเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกตลอดการสนทนา เดวิด แฮนสัน ซีอีโอบริษัทเผยว่า โซเฟียแสดงสีหน้าได้กว่า 60 แบบ และเรียนรู้บุคลิกของคู่สนทนาผ่านการพูดคุย การตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘ตัวตน’ ของโซเฟียถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อนักข่าวถามว่า “คุณเป็นเพศหญิงหรือชาย” โซเฟียตอบว่า โดยทางเทคนิคแล้ว หุ่นยนต์ไม่มีเพศ แต่ฉันถูกกำหนดสถานะเป็น ‘เพศหญิง’ (feminine) และยินดีที่คนจะมองในฐานะ ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ (woman) สื่อถึงความต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติในฐานะบุคคลที่เป็นผู้หญิงมากกว่าหุ่นยนต์เพศหญิง  

ดร.เบน เกิร์ตเซิล (Ben Goertzel) สถาปนิกผู้ออกแบบสมองกลของหุ่นยนต์อัจฉริยะดังกล่าวอธิบายว่า โซเฟียยังห่างไกลจากความฉลาดของมนุษย์ และสามารถพูดคุยโต้ตอบคำถามขั้นพื้นฐานได้ด้วยซอฟต์แวร์แชตบ็อตเท่านั้น โดยอาศัย machine learning จับคู่คำพูดกับสีหน้าให้สอดคล้องกัน หรือดึงข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตมาเปิดประเด็นการสนทนา เช่น ราคาของบิตคอยน์ในตลาด จริงอยู่ที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้เทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์แล้ว (Narrow AI) เช่น วิเคราะห์ตลาดหุ้น เล่นเกมโกะและหมากรุก แต่ก็เป็นเพียงความสามารถด้านเดียว โดยที่อัลกอริทึมทำงานแบบแยกส่วนกัน ปัจจุบันยังไม่มีใครพัฒนา AI ให้ไปถึงจุดที่มีสติปัญญา ความฉลาด และความสามารถในการทำงานเทียบเท่ากับสมองมนุษย์ (General AI) หรือเหนือกว่ามนุษย์ (Artificial Superintelligence - ASI)  

 

AI จะเข้าใกล้ ‘ความเป็นมนุษย์’ ได้อย่างไร ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันกว้างขวาง หลายคนอาจนึกถึงการทดสอบ Turing Test ของอลัน ทัวริง (Alan Turing) บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ใช้วัดความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์  อันที่จริงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และการตั้งมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocene) เช่น แคทเธอรีน เฮลส์ (N.Katherine Hales) นักวิจารณ์วรรณกรรมที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนความเป็นมนุษยนิยมในยุคหลังมนุษย์ (Post Humanism) และความฉลาดของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในหนังสือ How We Became Posthuman ขณะที่นักวิชาการและนักวิจัยร่วมสมัยกำลังสนใจประเด็นจิตใต้สำนึก สามัญสำนึก และการทำงานของจิตใจ แกร์รี มาร์คัส (Gary Marcus) อาจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์กและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Geometric Intelligence (ปัจจุบันคือ Uber AI Lab) มองว่าการทำงานของจิตใจอาจเป็นกุญแจสู่พัฒนาการของ AI ซึ่งควรศึกษาจากพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กกำลังเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะด้านภาษาและดนตรี  

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ AI ในเชิงพาณิชย์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั่วไปยิ่งยากขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งบริษัทกูเกิลเข้าใจปัญหาข้อนี้ดี ที่ผ่านมา ระบบผู้ช่วยส่วนตัวสั่งงานด้วยเสียงของกูเกิลนั้นขาดลักษณะบุคลิก (personality) ต่างจาก Siri ของแอปเปิล หรือ Alexa ของแอมะซอนซึ่งมีลักษณะตัวตนเด่นชัดและจดจำได้ง่าย ต่อให้สอบผ่านด้านฟังก์ชั่น แต่ก็ยังไร้เสน่ห์ กูเกิลจึงแก้เกมโดยตั้งทีมออกแบบบุคลิกของผู้ช่วยอัจฉริยะ Google Assistant ให้มีลักษณะ 'เข้ากับคนง่ายและเป็นมิตร' โดยดึงเอ็มมา โค้ตส์ (Emma Coats) นักวาดสตอรีบอร์ดจากพิกซาร์ สตูดิโอแอนิเมชันชื่อดังมาร่วมออกแบบคาแรกเตอร์ของผู้ช่วยอัจฉริยะให้มีมิติมากขึ้น และลดทอนความเป็นหุ่นยนต์ลงไปบ้าง โดยการใส่อารมณ์ขันและสร้างสรรค์เรื่องราวลงไปในบทสนทนา “คุณต้องคิดถึงทุกอย่างที่ผู้ใช้งานอาจจะถาม เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ที่มีมิติ รับมือกับคำถามได้ทุกรูปแบบ และเป็น Persona ที่แข็งแรง” 

เอ็มมาและทีมงานเลือกสร้างสรรค์คาแรกเตอร์แบบคนสนุกสนานที่ใครๆ ก็อยากใช้เวลาอยู่ด้วย โดยให้เหตุผลว่าเรามักจะเป็นเพื่อนกับคนที่ใช้เวลาอยู่ด้วยบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้อง ‘คลิ๊ก’ กันตั้งแต่แรก แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการออกแบบโดยยึด ‘คน’ เป็นศูนย์กลางที่กูเกิลนำมาใช้ในการพัฒนา machine learning และ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์เรานั่นเอง หากคาแรกเตอร์นี้ถูกใจผู้ใช้งานหมู่มาก เราอาจได้เห็นการต่อยอดในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของกูเกิล เช่น Google Home รวมไปถึงการทำงานแบบข้ามศาสตร์แพร่หลายยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า เมื่อถึงวันนั้นปัญญาประดิษฐ์อาจตอบคำถามได้ว่า “รักมนุษย์จริงๆ หรือไม่ และเพราะอะไร”  

หรือไม่ เราก็อาจต้องย้อนกลับไปตีความนิยามของ 'ความเป็นมนุษย์' กันใหม่ ในเมื่อมนุษย์มีเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาเสริมศักยภาพในการใช้ชีวิตแล้ว 'ความเป็นมนุษย์' จะยังคงอยู่หรือเปลี่ยนไปอย่างไร  

ที่มา: 

บทความ "Artificial Intelligence, Machine Learning, และ Deep Learning แตกต่างกันอย่างไร?" จาก medium.com 
บทความ "Artist who worked on Pixar's Brave giving Google AI 'personality' " (2017) โดย Steven McKenzie จาก bbc.com 
บทความ "How Google’s chief doodler is shaping Google Assistant’s personality" (2017) จาก venturebeat.com 
บทความ "The human (and Pixar characters) inside Google's Assistant" (2017) wired.co.uk  

เรื่อง: ปิยพร อรุณเกรียงไกร