TREND2018: Transportation and Space การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ
Technology & Innovation

TREND2018: Transportation and Space การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ

  • 02 May 2018
  • 10234

©virgin.com
 

ความเป็นไปได้มากมายปรากฏขึ้นในโลกแห่งการคมนาคมขนส่งและการเดินทาง โดยปี 2016 ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่มีผลต่อธุรกิจการขนส่งเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะระบบข้อมูลที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบปฏิบัติการของระบบการขนส่ง หลายบริษัทเร่งพัฒนาระบบเครือข่ายข้อมูลให้สามารถตอบโต้ได้รวดเร็วขึ้น สามารถติดตามข้อมูลการเดินทางหรือการขนส่งสินได้อย่างโปร่งใส รู้ที่หมายที่แน่ชัด ตรงเวลา และฉับไวกว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงตัวแปรด้านเทคโนโลยีเท่านั้นที่ส่งผลต่อการปรับตัวในธุรกิจการขนส่งและการเดินทาง แต่ตัวเลขการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 31,000 ล้านบาร์เรลต่อปี (85 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ก็นับว่าสูงมาก ตรงข้ามกับแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ที่หายากมากขึ้นทุกขณะ ทั้งการขุดเจาะก็มีต้นทุนสูงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะทำอีกต่อไป แสดงถึงการเข้าสู่สถานการณ์ที่กำลังการผลิตน้ำมันของโลกเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคอยู่ในระดับสูงสุด (Peak Oil) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและราคาน้ำมันดิบก็จะพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สถานการณ์เรื่องการกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของรถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายเมืองใหญ่ของยุโรป  เช่น ปารีส แมดริด เอเธนส์ ซึ่งเริ่มประกาศห้ามไม่ให้รถยนต์ที่ใช้เครี่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเมืองตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ตามข้อตกลง C40 บนเวทีการประชุมสหประชาชาติ หรือการที่ ซาดิค ข่าน นายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอนแห่งอังกฤษประกาศจะเรียกเก็บเงินรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูงที่ต้องการเข้ามาวิ่งในเมือง เพื่อลดจำนวนรถยนต์ในเมืองใหญ่และลดปัญหาด้านมลพิษระยะยาว ก็ทำให้หลายประเทศต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการเร่งประสิทธิภาพการขนส่งกับปัญหาสุขภาพของประชากรในเมืองใหญ่ ที่ตามเอกสารการประชุม C40 ระบุว่า มีประชากรจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนในแต่ละปี ที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคที่มาจากระบบทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากอนุภาคไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะอนุภาคที่เป็นอันตรายอย่างไนโตรเจนออกไซด์

จะรถยนต์ไฟฟ้า หรือไร้คนขับต่างก็ไต่ระดับ

ท่ามกลางปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจนี้ ประเทศจีนซึ่งติดอันดับต้นๆ ด้านประเทศที่มีปัญหามลพิษของโลก ได้สนับสนุนและผลักดันโครงการรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมทั้งยังคาดหวังการเป็นตลาดรถยนต์สะอาดแหล่งใหญ่ของโลก ฌอง-ฟรองซัวร์ บีลอร์กีย์ (Jean-Francois Belorgey) ผู้เชี่ยวชาญแห่ง Ernst and Young Auto Expert กล่าวว่า หากจีนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกราคาลดต่ำลง และ ณ เวลาที่มลภาวะเพิ่มขึ้นเช่นนี้ รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการกระตุ้นการพัฒนายานยนต์ใหม่ รัฐบาลกลางจึงออกกฎระเบียบในการมอบเงินอุดหนุนจำนวน 55,000 หยวน สำหรับผู้ซื้อยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ เพื่อต้องการให้บรรลุผลยานยนต์สีเขียว 5 ล้านคันบนท้องถนนในปี 2020 ส่วนในประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ EV chargers ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Inhabitat เขียนโดย Cat DiStasio ระบุว่า ญี่ปุ่นมีจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่ถึง 40,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดและกำจัดการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลลงไปได้กว่า 5,000 จุด นอกจากจะเป็นประเทศที่มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากแล้ว ญี่ปุ่นกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่อีกขั้น นั่นคือสังคมไฮโดรเจน (Hydrogen Society) ด้วยการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานพื้นฐาน เพราะเล็งเห็นว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเผาไหม้ อีกทั้งยังมีปริมาณไม่จำกัดเพราะเป็นส่วนหนึ่งของน้ำ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังร่วมมือกับภาคการผลิตในการผลักดันรถยนต์แบบไฮโดรเจนออกสู่ตลาด ที่ออกมาสู่ตลาดบ้างแล้ว อาทิ รถยนต์รุ่นมิไร ( Mirai) ของโตโยต้า ที่ออกสู่ตลาดในปี 2014 มากไปกว่านั้นเพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ญี่ปุ่นมีแผนจะใช้รถโดยสารขนส่งนักกีฬาที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนอีกด้วย

สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อยอดขายรถยนต์ทั่วโลก 
จากการวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Statista, International Energy Agency และ Inside EV
 

สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าในช่วงปี 2012-2016 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะเติบโตที่ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก 2017 ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากครึ่งปีแรก 2016 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และกลุ่มตลาดใหม่อย่างอินโดนีเซีย เม็กซิโก อินเดีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เรียกได้ว่าไทยเป็นฐานการผลิตและประกอบรถยนต์เบอร์ต้นๆ ในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหรือใช้งานมากกว่าที่เป็นอยู่ หน่วยวิจัยอีไอซี (Economic Intelligence Center) คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเริ่มทำตลาดในไทยได้ เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้พัฒนาถึงจุดที่จะทำให้เกิดความต้องการอย่างก้าวกระโดดในขณะนี้ ด้วยความหลากหลายในเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตรถยนต์เองก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าเทคโนโลยีชนิดไหนจะตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ดีที่สุด ประกอบกับยังมีต้นทุนสูงซึ่งทำให้ต้องมีการพัฒนาเพื่อหาตัวเลือกต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเสนอว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำในตอนนี้คือ การสร้างระบบนิเวศและวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ดีเสียก่อน ตลอดจนการเร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าประมาณ 100 กว่าแห่งตามสถานที่สาธารณะทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้าและลานจอดรถ โดยผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ กรุงเทพฯ จะต้องมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 200 กว่าแห่งให้ได้ ผนวกกับผลจากแรงกระเพื่อมและการผลักดันนโยบายพลังงานไทย 4.0 ของภาครัฐบาลและกระทรวงพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นสมาร์ตซิตี้ (Smart City) ภายในระยะเวลา 19 ปีข้างหน้า หรือในปี 2579 โดยตั้งเป้าไว้ว่า ประเทศจะเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปพึ่งพาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงในภาคยานพาหนะส่วนบุคคลเท่านั้นที่กำลังก้าวเข้าสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่รถยนต์แบบไร้คนขับก็มีพัฒนาการที่ก้าวล้ำเช่นกัน อาทิ ระบบ Kinetic Warmth ของโตโยต้าที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และยานยนต์ในระบบปฏิบัติการ AI ได้อย่างมีชีวิต ส่วนนิสสันก็ได้นำเสนอ Nissan IDS ที่ทำงานด้วยระบบ AI อัจฉริยะอย่าง SAM (Seamless Autonomous Mobility) ซึ่งพัฒนาโดย NASA  ให้สามารถประมวลผลจากข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายรถคันอื่นๆ ผ่านระบบดาวเทียม รวมทั้งระบบ ไลดาร์ของบริษัท Waymo ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจภูมิประเทศที่ทำงานในแบบเดียวกับเรดาร์ (Radar) ที่วัดระยะทางจากระยะเวลาในการเดินทางของเลเซอร์ที่เดินทางจากเซ็นเซอร์ไปยังวัตถุเป้าหมาย 

มาด้วยกัน ไปด้วยกัน

©thedrive.com
 

ระบบการเดินทางสาธารณะก็มีการปรับตัวไม่ต่างกัน ตั้งแต่โครงการที่พัฒนามายาวนานอย่าง Straddling Buses ของจีนที่ออกแบบมาเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ โดยส่วนท้องของรถถูกออกแบบให้ยกสูงประมาณ 7 ฟุต และกางขาทั้งสองข้างออกได้เพื่อคล่อมถนน ทำให้ยานพาหนะอื่นๆ สามารถวิ่งลอดได้โดยไม่เกิดภาวะติดขัด ซึ่งความเร็วสูงสุดสามารถวิ่งได้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยมลพิษคาร์บอน ไม่เพียงเท่านั้นในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องจำนวนผู้ปั่นจักรยานจำนวนมากอย่างเนเธอร์แลนด์ ยังจัดสรรพื้นที่และระบบการจัดการใหม่สำหรับพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่เพื่อการจอดจักรยาน ออกแบบโดย  Ector Hoogstad Architecten พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวน 3 ชั้น ซึ่งในปี 2018 พื้นที่จอดจักรยานจะเรียบร้อยสมบูรณ์ สามารถจอดจักรยานได้ 12,500 คัน และจะกลายเป็นที่จอดจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสถานที่ดังกล่าวยังเป็นเสมือนศูนย์กลางการเดินทางใหม่ที่ผู้ใช้จักรยานจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

©designboom.com

©spacex.com

จะไปสู่จักรวาล

 

ไม่เพียงโครงการภาคพื้นดินเท่านั้น เพราะโครงการกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากที่ยานอพอลโล 17 เดินทางไปดวงจันทร์เมื่อปี 1972 ก็กลับมาพร้อมความรุดหน้า โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอแห่งสเปซเอ็กซ์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจก็คือ สเปซเอ็กซ์ไม่ได้ส่งนักบินอวกาศ แต่เป็นการส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นคนธรรมดาจำนวน 2 ที่นั่งไปทัวร์ดวงจันทร์แทน ด้วยจรวดรุ่นใหม่ที่ชื่อ SpaceX’s Falcon Heavy Rocket จรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยประกอบด้วยจรวด Falcon 9 รุ่นปกติอยู่ตรงกลาง เสริมด้วยจรวดเพิ่มกำลังอีกสองตัว เมื่อรวมแล้วจะมีเครื่องยนต์ทั้งหมด 27 เครื่อง มีกำลังขับในสุญญากาศ 24,681 กิโลนิวตัน ซึ่งอีลอน มัสก์ ยังบอกว่าผู้โดยสารทั้งสองจะเดินทางไปในระบบสุริยะได้เร็วและไกลกว่ามนุษย์ทุกคนที่เคยออกสู่อวกาศ แม้จะเกิดระเบิดที่จุดปล่อยตัวในฟลอริดา แต่ SpaceX ก็เริ่มส่งจรวดอีกหลายลำแทนเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์นี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยุคนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างเม็ดเงินจากอวกาศ (Space Economy) อย่างแท้จริง เพราะมีบริษัทมากมายเข้ามาดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ Virgin Galactic บริษัทการขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ซึ่งมีการวิจัยพัฒนาการบินอวกาศร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศนาซ่า หลังจากประสบความล้มเหลวในการทดลองครั้งแรก ยาน SpaceShipTwo ลำใหม่ก็ได้ทดสอบบินอีกครั้งในช่วงต้นปี 2016 โดยยานลำนี้ของบริษัทมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะถูกใช้เป็นยานขนส่งนักท่องเที่ยวอวกาศที่ได้จองตั๋วล่วงหน้ากับทางบริษัทเรียบร้อยแล้วกว่า 500 ใบ  ไม่เพียงเท่านั้นเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) แห่งแอมะซอน ยังมีโครงการ Blue Origin ที่มีเป้าหมายจะส่งผู้โดยสารขึ้นไปท่องเที่ยวในอวกาศเป็นเวลา 11 นาที โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มทดสอบปล่อยกระสวยอวกาศลำแรกได้ในปีนี้ และเริ่มให้บริการจริงในปีหน้า โดยมีเป้าหมายในระยะยาวอย่างการลดต้นทุนสำหรับเที่ยวบินสู่อวกาศ เพื่อที่ในอนาคตคนเราจะสามารถเดินทางไป-กลับอวกาศได้ทุกวัน รวมทั้งโครงการ Kuang Chi Science ของจีน ที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต พร้อมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในสาขาต่างๆ รวมถึงการสำรวจอวกาศที่จะมีมนุษย์คนแรกออกไปท่องอวกาศในปี 2020 โดยโครงการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนขยับก้าวของการเดินทางในอวกาศให้ทะยานออกไปไกลอีกขั้นหนึ่ง โดยเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์อาจมีบ้านหลังใหม่บนดาวอังคารตามความมุ่งหวังของอีลอน มัสก์ ที่ต้องการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารตามวารสารวิชาการที่ชื่อ “New Space” เพื่อให้เป็นโอกาสใหม่ในการพักอาศัยของมนุษยชาติ

©blueorigin.com
 

อ้างอิง
บทความ “2017 Commercial Transportation Trends” จาก strategyand.pwc.com บทความ “World's largest bicycle parking garage opens in Utrecht” จาก dezeen.com
บทความ “รถยนต์ไฟฟ้า...ก้าวย่างสู่การพลิกโฉมวงการรถยนต์ไทย” จาก scbeic.com
บทความ “ยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ก้าวไกลสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โลก” จาก scbeic.com
บทความ “มองปัจจุบันสะท้อนภาพอนาคตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเทศไทย” จาก thestandard.co
https://www.dezeen.com/2017/08/22/worlds-largest-bicycle-parking-garage-opens-utrecht-netherlands-architecture-news/
https://www.nextwider.com/2015/11/06/virgin-galactic-is-the-worlds-first-commercial-spaceline/