TREND2018: Transportation and Space 03 จะไปสู่จักรวาล
Technology & Innovation

TREND2018: Transportation and Space 03 จะไปสู่จักรวาล

  • 06 May 2018
  • 7460

©space.com
 

Space Economy

นับตั้งแต่ในยุค 1960 สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในช่วงสงครามเย็นที่ไดัประกาศต่อสาธารณชนว่าสหรัฐฯ จะต้องไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในสิ้นปี 1970 ได้สร้างความหวังใหม่ให้กับมนุษยชาติในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ หรือที่เรียกว่า Moon Shot ไว้อย่างยิ่งใหญ่  และช่วงเวลาดังกล่าวยังนับเป็นปฐมบทของความหวังและความเป็นไปได้ครั้งใหม่ที่ส่งแรงกระเพื่อมให้นาซ่ากลายมาเป็นผู้นำโครงการด้านอวกาศของโลก นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโครงการอะพอลโลในปี 1961 กระทั่ง นีล อาร์มสตรอง ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จในโครงการอะพอลโล 11 ในปี 1969 ตลอดจนโครงการที่มีเป้าหมายเดียวกันนี้ในส่วนอื่นๆ ของโลกซึ่งเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นตามมา อย่างอีเอสเอ (ESA) แห่งยุโรป หรือรอสคอสมอส (Roscosmos) ของรัสเซีย

หากปี 2017 กลับเป็นช่วงที่ต่างจากความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายในช่วงปี 1972 ของยูจีน เซอร์นัน (Eugene Cernan) นักบินอวกาศชาวอเมริกันผู้ซึ่งเป็นบุคคลลำดับที่ 11 และลำดับสุดท้ายที่เดินบนดวงจันทร์จากยานอะพอลโล 17 ที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 1972  เพราะทุกวันนี้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาครัฐบาลเป็นอย่างมากในการช่วยสร้างก้าวใหม่ของการเดินทางสู่ดวงจันทร์หรือแม้แต่ดาวอังคารในเชิงพาณิชย์อย่างแบบเต็มรูปแบบ จนเรียกได้ว่า เป็นยุคแห่ง Space Economy เช่น การก่อตั้ง SpaceX ของอีรอน มักส์ ที่เริ่มต้นจาก Falcon 1 ก่อนจะลองผิดลองถูกจนพัฒนาสู่ Falcon 9 ที่สามารถใช้ในการส่งยานอวกาศและดาวเทียมขนาดใหญ่ได้ และกลายเป็นที่สนใจของนาซ่าในการเป็นช่องทางลำเลียงเสบียงขึ้นสู่สถานีอวกาศ จนชนะการประกวดที่เรียกว่า CRS หรือ Commercial Resupply Services ซึ่งสร้างฐานลูกค้าหลากหลายให้เกิดขึ้นจากทั่วโลก รวมถึงดาวเทียม THAICOM ของไทยเอง ตั้งแต่ Thaicom 6, Thaicom 7 และดวงล่าสุด Thaicom 8 ก็ถูกส่งขึ้นไปโดย SpaceX เช่นกัน การเริ่มต้น SpaceX ของอีรอน มักส์ ยังทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนดาวเพียงดวงเดียว (Multi-Planet Life) ไม่ต่างจากความรู้สึกของการค้นพบทวีปต่างๆ เมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่นำมาซึ่งวิวัฒนาการทางสังคมโลกอีกมากมาย

โดยโครงการต่อไปที่ SpaceX กำลังดำเนินการอยู่นั่นคือ  ภารกิจไปเยือนดาวอังคารแบบไร้มนุษย์ในปี 2018 และการเดินทางสู่ดาวอังคารแบบมีมนุษย์ในปี 2025 ทั้งยังเพิ่มเติมอีกว่า การเดินทางสู่อวกาศจะไม่ต่างกับการเดินทางโดยสารกับเครื่องบินหรือเรือสำราญเลย โดยมีการออกแบบระบบความบันเทิงต่างๆ และระบบที่พร้อมแก่การอยู่อาศัย มากไปกว่านั้น ยังมีบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่เข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ตั้งแต่ Virgin Galactic บริษัทการขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่มีนักท่องเที่ยวอวกาศจับจองตั๋วล่วงหน้ากับทางบริษัทเรียบร้อยแล้วกว่า 500 ใบ หรือเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้บริหารแห่งแอมะซอน ที่ได้ปั้นโครงการ Blue Origin เพื่อเป้าหมายการส่งผู้โดยสารขึ้นไปท่องเที่ยวในอวกาศเป็นเวลา 11 นาที รวมทั้งจะทำให้การเดินทางในอวกาศเป็นเรื่องง่ายและสะดวกขึ้น

©metro.co.uk
 

ท่ามกลางบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยเรื่อง Space Economy แบรนด์สินค้าทั่วโลก ต่างก็อิงกับกระแสดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น “Bud on Mars” ของแบรนด์เบียร์อย่าง Budweiser ที่ประกาศว่า จะไปชงเบียร์บนดาวอังคาร หรือไม่นานมานี้แบรนด์ไก่ทอดชื่อดังอย่าง KFC ก็มีแผนจะเปิดตัวเบอร์เกอร์เมนูใหม่ Zinger Burger กลางอวกาศ ซึ่งสร้างกระแสฮือฮาและมีผู้ติดตามในยูทูบจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับศิลปินอย่างทอม แซกซ์ (Tom Sachs) ที่ร่วมมือกับแบรนด์ Nike ออกรองเท้าวิ่งรุ่น  NIKECraft Mars Yard 2.0 ที่โปรโมตสินค้าในพื้นที่แบบ Space Camp กลางมหานครนิวยอร์ก รวมทั้งการย้อนรอยความสำเร็จของนาฬิกาหรูอย่าง OMEGA ในงานฉลองครบรอบ 60 ปี นาฬิการุ่นไอคอนิคอย่าง “Speedmaster” นาฬิกาโครโนกราฟเรือนแรกที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งงานช่างประดิษฐ์และทักษะแห่งการท้าทายที่อยู่เหนือกาลเวลา

©luxury-insider.com
 

ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ IKEA ที่เพิ่งประกาศตัวภายในงาน Democratic Design Days 2017 ที่เมืองอัมฮุลท์ของสวีเดน ว่าทางบริษัทจะร่วมมือกับนาซ่าทำการทดลอง โดยการส่งทีมนักออกแบบไปทดลองใช้ชีวิตที่ Mars Desert Research Station (สถานีจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร) ที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 3 วัน เพื่อสัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกับที่นักบินอวกาศต้องเผชิญ และเก็บข้อมูลว่าการออกแบบในพื้นที่ใช้สอยที่จำกัดนั้นควรเป็นอย่างไร โดยไมเคิล นิโกลิก (Michael Nikolic) หัวหน้าแผนกทีมครีเอทีฟของอิเกียกล่าวว่า “ในยานอวกาศเป็นพื้นที่ขนาดเล็กและจำกัด อิเกียจึงพยายามที่จะเข้าไปสัมผัสในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หรือเหล่าวิศวกรได้เรียนรู้จากการเดินทางไปดาวอังคาร การค้นพบนี้จะทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้ชีวิตประจำวันของเราที่บ้านบนโลกใบนี้ได้”

©ikea.today
 

ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังเริ่มส่งสัญญาณว่า จักรวาลอาจไม่ใช่เรื่องไกลโพ้น และผู้คนในเจเนอเรชั่นถัดไป อาจได้เดินทางไปสู่จักรวาลแบบเช้าไปเย็นกลับได้อย่างไม่ยากเย็น

ที่มา : 
nutn0n.com/mars/
บทความ “รัฐบาลสหรัฐต้องการให้ NASA ส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในปี 2576” (16 มีนาคม 2560) โดย AiNoTsubasa จาก ai-no-tsubasa.blogspot.com
บทความ “Countdown: What will 2030's new space economy look like?” (12 มิถุนายน 2017) โดย Ellen R. Stofan และ George Whitesides จาก weforum.org
บทความ “กระตุ้นไอเดีย! IKEA จับมือ NASA ส่งดีไซเนอร์ไปอยู่ที่แบบจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร” (13 มิถุนายน 2017) โดย ปณชัย อารีเพิ่มพร จาก thestandard.co