TREND2018: IN/TO the future.
Technology & Innovation

TREND2018: IN/TO the future.

  • 01 Apr 2018
  • 4433

INdividual and TOgether with the New state of mind

ในช่วงเวลาแห่งความรู้ใหม่ สภาวะใหม่ โรคภัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ไลฟ์สไตล์ใหม่ การได้เผชิญกับความแปลกประหลาดใจในสิ่งที่ทั้งชีวิตไม่เคยพบมาก่อน หรือการที่เรื่องเล่าซึ่งเคยฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่วันหนึ่งก็เป็นไปได้จริงในช่วงชีวิตที่เรามีตัวตนอยู่...คำถามที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องว่า เราจะอยู่บนโลกนี้กันอย่างไร? 

ความเปราะบางทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่สั่นคลอน ไปจนถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ “เรา” ในฐานะมนุษย์ตัดสินใจไม่รอเวลาและการมาถึงของอนาคต แต่เลือกในสิ่งที่เราอยากจะเป็นทันที การแบ่งแยกกลุ่มคนตามความแตกต่างด้านอายุ เพศ หรือฤดูกาล กำลังกลายเป็นเรื่องเก่า เมื่อเส้นแบ่งเหล่านั้นได้พร่าเลือนความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียว เราจึงเป็นอะไรก็ได้ และทำอะไรก็ได้ 

ความไม่แน่นอน ยังทำให้ “เรา” ที่เคยอยู่แยก ต้องมาอยู่ร่วม จากคนหนึ่งจึงกลายเป็นมวลชน จากขอบเขตประเทศก็กลายเป็นโลก จากเทคโนโลยีที่ดูห่างไกลก็กลายเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ State of Mind หรือภาวการณ์คิดแบบเดิมจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป โลกในปี 2018 ต้องการวิธีคิดใหม่ เพื่อให้การอยู่อย่างเป็นอิสระของแต่ละหน่วย สามารถเพิ่มพลังเมื่ออยู่ร่วมกันได้ พร้อมขับเคลื่อนโลกสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความหวัง พร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่ยุคแห่งความเป็นหนึ่งเดียวที่ท้าทาย เป็นอิสระต่อกันได้ และอยู่ร่วมกันด้วย

New Me

อัตลักษณ์ของผู้คนจะกลายเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างจากความรู้สึกภายใน ไม่ได้ถูกนิยามโดยลักษณะภายนอกอีกต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมาพร้อมกับวิธีคิดแบบใหม่ที่เปิดกว้าง รายงานจาก The Intelligence Group สำรวจความคือเห็นของคนรุ่นใหม่และพบว่า 2 ใน 3 คิดว่า “เพศเดียว” ไม่สามารถนิยามตัวตนของคนหนึ่งคนได้อย่างครอบคลุม รุ่นวัยกลางคนและผู้สูงอายุจะหยุดคิดเรื่องตัวเลขวัยที่เพิ่มขึ้น แต่พร้อมที่จะมีความสุขไปกับการใช้ชีวิตและสถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า โดยสิ่งที่มีร่วมกันของประชากรในปี 2018 คือการยอมรับในความแตกต่าง ประเทศอนุรักษ์นิยมสุดขั้วอย่างเกาหลี หรือประเทศที่เคยปิดกั้นเช่น อินเดีย หรือกัมพูชา เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อการเปิดกว้างของสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ หลายเจเนอเรชั่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ ขณะที่การเปิดรับและเข้าใจคนอื่น จะเป็นสะพานที่เชื่อมโยงความแตกต่างให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้บนโลกใหม่ใบนี้

We-topia

เมื่อโลกทั้งใบคือบ้าน อัตลักษณ์ของคนหนึ่งคนจะไม่ถูกจำกัดอยู่ในประเทศใดหรือเพียงเชื้อชาติเดียว แต่เป็นการซึมซับและผสมผสานวัฒนธรรมจากหลายพื้นที่มารวมกันเป็นหนึ่ง ตั้งแต่พื้นที่ที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตของคนหนึ่งคนซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากหลายท้องถิ่น (Multilocal) อัตลักษณ์ของคนนั้นๆ จึงเป็นเรื่องของการหยิบจับประสบการณ์ที่ผ่านพบ ซึ่งมาพร้อมกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบคนร่อนเร่ในยุคโมเดิร์น เกิดเป็น “ชนชั้นสร้างสรรค์ (Creative Class)” ที่รวมตัวกันตามความเชื่อและแนวคิดเดียวกัน สู่การสร้างคอมมูนิตี้ที่จะมีขนาดเล็กลงและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยมีพื้นที่ชานเมืองเป็นสวรรค์แห่งการตั้งรกราก เมื่อบ้านคือทุกที่ ออฟฟิศทำงานคือทุกแห่ง และเส้นแบ่งประเทศจะไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตอีกต่อไป

Allclusive

เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจะค่อยจางลงทุกที Phygital หรือเทรนด์ที่ผสมผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและสิ่งที่สัมผัสได้กับการใช้สื่อดิจิทัล จะกลายเป็นความธรรมดาใหม่ที่ทุกคนคุ้นเคย ประสบการณ์ที่ได้รับจากการอยู่ในพื้นที่จริงกับผ่านอุปกรณ์จำลองนั้นจะใกล้เคียงกันอย่างแยกไม่ออก จากจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ (ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ นาฬิกาอัจฉริยะ) ในปี 2016 จำนวน 7.8 พันล้านเครื่อง โดยในปี 2018 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่าประชากรบนโลกนี้อย่างแน่นอน เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงช่วยสร้าประสบการณ์ที่เทียบเคียงความเป็นจริงได้ให้มนุษย์เท่านั้น แต่ยังนำเอาความเข้าอกเข้าใจของมนุษย์มาปรับใช้เข้ากับเพื่อนใหม่ในทศวรรษหน้าอย่าง “หุ่นยนต์” ทั้งเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์กำลังฝึกหัดทักษะการเข้าใจนี้อย่างเต็มกำลัง เพื่อมุ่งตอบสนองผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง ทั้งยังอาจพัฒนาไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างมนุษย์ อย่างการใช้ AR และ VR เพื่อยกระดับการรับรู้ของผู้ป่วยทางจิต ผู้พิการ ปัญหาทางสังคม และเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การที่นักศึกษาจาก Royal College of Art ในอังกฤษ พัฒนาชุดเครื่องมือ AR ที่จำลองประสบการณ์จากผู้ป่วยออทิสติก หรือ Project Empathy ซีรีย์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ต้องหาซึ่งพ้นโทษจากเรือนจำและกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมผ่านเทคโนโลยี VR กระทั่งโปรเจ็กต์อย่าง Depression Simulator โดยบริษัทเกม Parallax Visions ซึ่งสร้างสรรค์เกมที่เปิดให้ทุกคนก้าวเข้าสู่ทางเดินที่เต็มไปด้วยตัวอักษรบนกำแพงในโลกเสมือน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้คนที่มีภาวะเครียดและกดดัน เป็นต้น 

Ultra-normal

ธรรมดาและไม่หวือหวาคือชีวิตที่หลายคนจะใฝ่หา การใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ยิ่งสะสมความแห้งแล้งภายในมากเท่านั้น จนเกิดเป็นกระแสการมองหาความจริงแท้ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง ของเสียจะกลายเป็นของสวย จะไม่มีการคัดเลือกเพราะหน้าตาภายนอก แต่จะเป็นการเลือกเพราะคุณค่าที่มีภายใน ชีวิตธรรมดาที่ไม่ผ่านฟิลเตอร์คือการนำเสนอความงามตามจริงที่น่าสนใจ อัตราการโหยหาธรรมชาติจะเพิ่มเป็นเท่าตัว ไม่ใช่แค่เพียงการนำความสดชื่นจากพื้นที่สีเขียวมาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่จะมีกลุ่มคนที่ตัดสินใจเดินเข้าไปในป่า เพื่อเข้าถึงธรรมชาติที่แท้ สด จริง และดี ต่อการมีชีวิตอยู่