
EQ-Radio เทคโนโลยีที่เข้าใจทุกความรู้สึก
จะดีแค่ไหนถ้าเทคโนโลยีช่วยบอกได้ว่าความรู้สึกที่แท้จริงของแต่ละคนเป็นอย่างไร การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของใครสักคนเป็นเรื่องยาก การแสดงออกทางสีหน้าก็เชื่อถือไม่ได้ทุกครั้ง รอยยิ้มอาจซ่อนความกังวลใจไว้ ในขณะที่สีหน้าเรียบเฉยอาจหมายถึงการปิดบังผลประโยชน์ที่อยากได้จากอีกฝ่าย แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กำลังจะบอกเราได้ว่าคนๆ หนึ่งกำลังรู้สึกตื่นเต้น มีความสุข โกรธ หรือเศร้า ด้วยการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ล่าสุดกลุ่มนักวิจัยจาก MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) ได้พัฒนา “EQ-Radio” อุปกรณ์ตรวจจับความรู้สึกของคนด้วยสัญญาณไวไฟ โดยวัดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากการหายใจและจังหวะการเต้นของหัวใจอุปกรณ์ EQ-Radio นี้มีความเที่ยงตรงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ในการตรวจจับว่าคนๆ นั้นตื่นเต้น มีความสุข โกรธ หรือเศร้า และสามารถทำได้โดยไม่มีเซ็นเซอร์อยู่บนร่างกาย
© news.mit.edu
ดีน่า คาทะบี (Dina Katabi) ศาสตราจารย์และหัวหน้าโครงการคิดว่าอุปกรณ์ EQ-Radio สามารถใช้ได้กับงานในหลายๆ ด้าน ทั้งความบันเทิง การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค การดูแลสุขภาพ รวมทั้งสตูดิโอภาพยนตร์และเอเจนซี่โฆษณาก็สามารถนำอุปกรณ์ไปใช้ทดสอบปฏิกิริยาของผู้ชมที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสัญญาณไวไฟสามารถจับข้อมูลพฤติกรรมของคนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา และเชื่อว่าผลที่ได้จะเป็นการปูทางสำหรับเทคโนโลยีในอนาคตที่จะติดตามและวิเคราะห์สภาวะต่างๆ เช่น ความหดหู่และความวิตกกังวลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ผนวกกับบริษัท Emerald ได้พยายามพัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจจับและทำนายการหกล้มของผู้สูงอายุ โดยให้ EQ-Radio ใช้สัญญาณไวไฟที่สะท้อนออกจากร่างกายมนุษย์ เป็นตัวช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจให้ได้ถูกต้องเหมือนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง ECG โดยมีความผิดพลาดอยู่เพียงแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเครื่องนี้จะทำการศึกษาลักษณะคลื่นหัวใจ เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของแต่ละคนว่ามีลักษณะอย่างไรในสภาวะทางอารมณ์ทั้งสี่ด้าน (ตื่นเต้น มีความสุข โกรธ หรือเศร้า) ทั้งนี้หลักการทำงานของ EQ-Radio เป็นการส่งสัญญาณไวไฟที่สะท้อนออกจากร่างกายย้อนกลับไปยังอุปกรณ์ตัวนี้ โดยขั้นตอนอัลกอริทึม (Algorithm) ได้แยกจังหวะการเต้นของหัวใจที่มีรูปแบบเฉพาะของแต่ละคน และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในรอบการเต้นของหัวใจ เพื่อระบุระดับการตื่นตัวทางอารมณ์ เช่น คนที่มีการตื่นตัวต่ำและอารมณ์เป็นลบจะถูกวิเคราะห์ว่าอยู่ในอารมณ์เศร้า ขณะที่ถ้าอีกคนมีสัญญาณที่สัมพันธ์กับการตื่นตัวสูงและอารมณ์ที่เป็นบวกก็จะถูกวิเคราะห์ว่ารู้สึกตื่นเต้น ซึ่งอุปกรณ์ EQ-Radio สามารถตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกได้ถูกต้องถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่ได้มีข้อมูลการวัดการเต้นของหัวใจของคนๆ นั้นมาก่อนเพื่อใช้เปรียบเทียบก็ตาม ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าขั้นตอนอัลกอริทึมสามารถตรวจจับลักษณะของคลื่นจากการเต้นของหัวใจได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าในอนาคตอุปกรณ์นี้จะสามารถนำไปใช้ติดตามสุขภาพของผู้ป่วยในแบบที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น
เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
ที่มา: บทความ “Detecting Emotions with Wireless Signals” จาก news.mit.edu