The Now Age...Never Too Late
Technology & Innovation

The Now Age...Never Too Late

  • 04 Apr 2018
  • 8248
เมื่อพูดถึงสังคมผู้สูงอายุ เรามักจะมีภาพของคุณปู่คุณย่าปรากฏขึ้นก่อนเสมอ ท่ามกลางข้อเท็จจริงว่าเวลาที่ผ่านไปเร็วไวนั้น อาจทำให้ “ผู้สูงวัย” ในอนาคตอันใกล้นั้น...แท้จริงแล้วก็คือ “เรา” ในวันนี้
 
ปี พ.ศ. 2561 จะเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุแซงหน้าจำนวนประชากรเด็กเป็นครั้งแรก สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากอัตราการเกิดที่ลดลงแบบรวดเร็วต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ในขณะที่จำนวนแรงงานกำลังลดลง จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแบบทวีคูณ*  โดยจากรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า อัตราส่วนของผู้สูงอายุวัยมากกว่า 60 ปีขึ้นไปนั้น จะเพิ่มขึ้นจาก 16.5% ในปี 2030 เป็น 21.5% ในปี 2050 ความท้าทายจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมผู้สูงอายุนี้ จึงเป็นการผลักดันให้เกิดทั้งทางเลือกและโอกาสใหม่ในหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 
 
ด้วยอายุที่ยืนยาวขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ อัตราการเกิดที่ลดลงสวนทาง รวมทั้งการเข้าสู่วัยเกษียณของเจเนอเรชั่น “เบบี้บูมเมอร์” การเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลประชากรนี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของอนาคต ทั้งในด้านการยกระดับของความสนใจด้านสุขภาพ การมีไลฟ์สไตล์ใหม่ และมาตรฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี 
 
เพราะผู้สูงวัยอาจไม่ได้อยากอยู่ยาวนานขึ้น แต่อยากอยู่อย่างดีขึ้นมากกว่า
 
©elliq.com
สูงวัยเข้าใจเทคโนโลยี
 
หลังจากเลยคลื่นของ “สวัสดีวันจันทร์” ภาพดอกไม้สีสดติดข้อความสวัสดีหรือข้อความให้ข้อคิดและกำลังใจที่ฮิตถล่มทลายในโปรแกรมไลน์เมื่อหลายปีก่อน ในวันนี้เราก็เริ่มเห็นผู้สูงวัยบางส่วนที่รู้เท่าทันเทคโนโลยี (Digital Literacy) กันมากขึ้น โดยที่เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัยในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือที่ช่วยรองรับผู้สูงวัยที่ต้องอยู่อาศัยโดยลำพัง เพราะช่วยป้องกันภาวะโรคเรื้อรัง เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว และช่วยให้ไม่เหงาใจเกินไป ด้วยจำนวนของประชากรที่เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีต้องคำนึงถึงผลิตภัณฑ์และบริการอัจฉริยะที่จะเติบโตตาม เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มตลาดอายุ 50 ปีขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง 
 
©techcrunch.com
 
หนึ่งในรูปแบบของเทคโนโลยีที่น่าจับตามองคือ Voice Activation หรือการสั่งการด้วยเสียง ซึ่งเหมาะจะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับผู้สูงวัยที่มีเงื่อนไขด้านการมองเห็นหรือการเคลื่อนไหว ลดอัตราการแยกตัวออกจากสังคม เพราะสามารถเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้สูงวัยได้ติดต่อกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ดูแลได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างจาก ElliQ  อุปกรณ์และหน้าจอสื่อสารสำหรับผู้สูงวัยที่มีโปรแกรมการจดจำเสียง เป็นเพื่อนคนสำคัญที่มีปฏิสัมพันธ์และแสดงอารมณ์ได้ การเข้าถึงกลุ่มตลาดผู้สูงวัยของ ElliQ นี้ ทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 บริษัทนี้สามารถระดมทุนจาก iRobot ได้ถึง 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาให้ใช้งานได้จริงสำหรับพลเมืองผู้สูงอายุ
 
 
©oversixty.com.au
อยู่ติดบ้าน
 
คำว่าอยู่ติดบ้านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่ผู้สูงวัยนั่งเหงาซึมอยู่ในบ้าน ไม่กระตือรือร้น แต่หมายถึงการเปิดพื้นที่ในบ้านให้กับเพื่อนใหม่ แบ่งปันทรัพยากรที่มีอย่างสูตรอาหาร สวนสีเขียว พื้นที่ส่วนกลาง ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชั่วอายุ เหล่าธุรกิจด้านที่อยู่อาศัยต่างก็ตอบรับกับโจทย์ใหญ่ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี อย่าง Airbnb แพลตฟอร์มแชร์พื้นที่พักอาศัยให้กับคนแปลกหน้า ที่คนส่วนมากมักจะนึกว่ากลุ่มผู้ใช้งานหลักจะเป็นเหล่าเจนมิลเลนเนียลที่ชอบเดินทางออกท่องโลกเท่านั้น แต่ Airbnb ก็ขยับปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบรับสังคมผู้สูงอายุด้วยกลยุทธ์สำคัญ โดยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ Airbnb ร่วมมือกับ OverSixty เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวสำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร่วมกันสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัยที่ทั้งเป็นฝ่ายเดินทางเองหรือเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักเดินทาง ในระดับโลก เจ้าบ้านของ Airbnb ที่เป็นผู้สูงวัยคือกลุ่มคอมมูนิตี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ตลาดกลุ่มเจ้าบ้านผู้สูงวัยนั้นเติบโตสูงสุดที่ 100% 
 
ภาพจากนิทรรศการ “Dear Elder สวัสดีตัวฉันในอนาคต” โดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
 
ค้นพบ “ฉัน” คนใหม่ 
 
คำว่า “แก่” อาจไม่ใช่คำถูกหูเท่าไหร่นัก ด้วย 43% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-64 ปีในสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยว่าพวกเขาไม่ได้แก่ แต่พวกเขาเป็นแค่ผู้ใหญ่วัยกลางคน (Middle Adulthood) แอชตัน แอปเปิ้ลไวต์ (Ashton Applewhite) นักเขียนและนักกิจกรรมด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้สูงวัย เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่เห็นว่าผู้สูงวัยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือเป็นโรคที่ต้องรักษา แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า พลัง ธรรมชาติและกระบวนการของชีวิตที่เชื่อมโยงกับเราทุกคน” 
 
©thelavinagency.com
แอชตัน แอปเปิ้ลไวต์ นักเขียนและนักกิจกรรมด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้สูงวัย
 
คำว่า “เกษียณอายุ” สำหรับเบบี้บูมเมอร์จึงไม่ได้หมายถึงชีวิตที่หยุดชะงัก แต่หมายถึงการค้นพบชีวิตใหม่ผ่านการทำงาน การเรียนรู้ การท่องเที่ยว และงานอดิเรก จากการพบพานกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่วันที่ลูกหลานเติบโตจนย้ายออกจากบ้าน ผ่านโมงยามของความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก บ้างผ่านการหย่าร้างหรือการเผชิญกับอาการเจ็บป่วย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้สูงวัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ช่วงอายุ” ที่เหลืออยู่ จึงเป็นที่มาของการปรับมุมมองใหม่และโฟกัสไปในจุดที่ถูกต้องมากขึ้น มองเห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้น โดยที่ไม่มีข้อจำกัดทางสังคมอย่างที่พวกเขาเคยต้องเจอมาในช่วงชีวิตก่อนหน้า
 
แนวคิด “ฉันคนใหม่” จึงเป็นความรู้สึกถึงการมีตัวตนที่ชัดเจนและการได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ 
 
©medium.com
 
Midorexia คือคำที่ใช้เรียกกลุ่มผู้บริโภคสูงวัยที่กล้าแสดงออกเหมือนอายุยังหนุ่มสาว คำเรียกนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะที่ถูกเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนความคาดหวังต่อประชากรที่มีชีวิตมายาวนาน แสดงให้เห็นความสำคัญกับความสนุก
 
ในช่วงท้ายของชีวิต การรู้จักชื่นชมกับช่วงอายุและความเชื่อว่า ฉันคือคนที่น่าสนใจ ไม่ใช่เคยน่าสนใจอย่างในอดีต แต่ฉันน่าสนใจได้เลยทันที วันนี้ เดี๋ยวนี้ ดึงดูดใจได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ดังนั้นฉันจึงจะเต็มที่กับชีวิตวันนี้ให้ดีที่สุด
 
ท่องเที่ยว ออกเดท และไปเทศกาลดนตรี 
 
3 คำนี้ไม่ได้เป็นกิจกรรมสำหรับเฉพาะคนหนุ่มสาวเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ด้วยทัศนคติใหม่ในการมองโลกทำให้ผู้สูงวัยตัดสินใจลุกขึ้นมาทำกิจกรรมที่ตอบรับกับความต้องการ 
 
  • การออกเดินทางผจญภัยของผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีแบบที่เราเห็นตัวอย่างในประเทศไทยจากป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ อดีตข้าราชการที่ใช้เวลาหลังวัยเกษียณไปกับการแพ็คกระเป๋าออกเดินทางฉายเดี่ยวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และแทนที่จะเดินทางอย่างสบายด้วยเครื่องบินหรือเรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัยนี้กลับเลือกที่จะเดินทางราวหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยพลัง ทั้งโบกรถ ต่อเรือ และชอบเข้าร่วมเทศกาลเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงรักษา อย่างเช่น การเข้าร่วมพิธีกรรม Ayahuasca ในอเมริกาใต้ เทศกาลโฮลีในอินเดีย (Holi Festival) หรือไปแช่ออนเซ็นที่ญี่ปุ่น 
  • อีกหนึ่งตลาดสำคัญคือแอพพลิเคชั่นจับคู่ เมื่อมองดูอัตราการหย่าร้างในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ จะพบการแยกกันอยู่ของคนสูงวัย รายงานจาก The Economist ระบุว่า สำหรับผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปีในสหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มเป็นสองเท่า สอดคล้องกับงานวิจัยจาก Pew Research ที่ระบุว่าแอพฯ Tinder นั้นมีผู้ใช้อายุระหว่าง 55-64 ปีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระหว่างปี 2005-2015 โดยรายงานยังระบุอีกว่า 12% ของคนอายุระหว่าง 55-64 ปี เคยใช้เว็บไซต์เดทออนไลน์หรือแอพฯ หาคู่
  • เทศกาลดนตรีชื่อดังอย่างแกลสตันบูรี จากงานสำรวจของ Staysure พบว่า 1 ใน 5 ของผู้เข้าร่วมงานมีอายุมากกว่า 45 ปี โดย 20% อายุระหว่าง 45-65 ปี และ 3% อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความสำเร็จของเทศกาลดนตรี Desert Trip หรืออีกชื่อที่รู้จักกันว่า Oldchella ที่รวบรวมนักร้องรุ่นใหญ่จากยุค 60 มาแสดงรวมกันในเวทีเดียว ทั้งบ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) พอล แมคคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) เดอะโรลลิงสโตนส์ (The Rolling Stones) และเดอะฮู (The Who) ที่ไปตั้งเวทีในแคลิฟอร์เนีย บนพื้นที่เดียวกับ Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกของคนหนุ่มสาว
 
©gq-magazine.co.uk
 
สูงวัยอย่างไทย เรื่องอะไรที่ควรรู้
 
กลุ่มวิจัยและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ (ABLE Lab) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) (REDEK) และศูนย์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและฟื้นฟู มจธ. โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาบริบทในหลายมิติที่เกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับหัวหน้าโครงการ ABLE Lab อย่างอาจารย์พรยศ ฉัตรธารากุล ที่มาร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุภายใต้บริบทสังคมไทย
 
 
เราอาจยังสับสนว่าการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เป็นเรื่องการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุด้วย จริงๆ สองแนวคิดนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร 
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ  อย่างเก้าอี้ ทางเดิน ลิฟต์ ราวจับบันไดในที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนอื่นหรือสาธารณะสามารถใช้งานด้วยได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของ Universal Design แต่เมื่อพูดถึงการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ แต่ก่อนคนส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องการแพทย์ก่อน จนมาถึงในช่วงหลังๆ นี้ที่คนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น เราก็เริ่มค้นพบว่าประเทศไทยยังมีของเหล่านี้ไม่เยอะ การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุนั้นเฉพาะมาก เป็นการออกแบบมาเพื่อผู้ใช้กลุ่มหนึ่งๆ เท่านั้น เช่น เสื้อผ้า เสื้อผ้าสำหรับผู้สูงอายุในบ้านเรามีการรับรู้ในเชิงลวดลาย สีสัน รูปแบบ แต่ไม่ใช่เรื่องของการใช้งานหรือคุณค่าอื่น เป็นต้นว่าคนสูงอายุมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว  ถ้าเสื้อผ้าไปจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างผ้าที่มีเนื้อแข็งหรือเข้ารูปมาก ก็จะทำให้ยกแขนหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเนื้อผ้าสวยแต่ผู้สูงวัยสวมใส่เองได้ค่อนข้างลำบาก ก็ไม่ใช่เหมือนกัน
 
การสร้างองค์ความรู้ในประเทศไทยเรื่องสังคมผู้สูงอายุก็มีอยู่มาก ปัญหาคืออะไร
 
ทุกวันนี้ทุกคนต่างทำเรื่องผู้สูงอายุ ปัญหาคือการขาดศูนย์กลาง ส่วนใหญ่มันไปจบในเรื่องทางกายภาพ ที่เราทำงานมาทั้งหมดเราค้นพบว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องเชิงจิตวิทยาและสังคม เป็นเรื่องที่มาก่อนกายภาพทั้งนั้น แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะไปเน้นเรื่องกายภาพ ส่วนเรื่องจิตวิทยาต่างก็เดาและคิดแทนกันเอาเอง กายภาพเป็นเรื่องของมาตรฐานและการออกแบบ แต่การออกแบบก็เป็นเรื่องของการนำมาตรฐานมายืดหยุ่นต่อบริบทหรือสถานการณ์ต่างๆ 
 
ผมมักพูดเสมอว่าสังคมเรา (คนทั่วไป) ไม่พูดถึงเรื่องผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ของเราที่เป็นคนทำงานปกติ พอวันหนึ่งที่เขาต้องหยุดทำงาน เขาก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรื่องของอารมณ์ ร่างกายก็ตกต่ำตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราไม่ต้องพึ่งพาจากรัฐคือการใช้เทคโนโลยี ในต่างประเทศนั้นไปได้ไกล แต่ในไทยก็มีการเริ่มต้นบ้างแล้วเหมือนกัน และน่าจะพัฒนาไปได้ดี เช่น  แอพพลิเคชั่นช่วยเหลือผู้สูงอายุ เริ่มจากการเรียกแท็กซี่ แค่ไม่ต้องเดินออกจากซอยไปเพื่อเรียกรถ หรือการใช้แอพฯ เพื่อบอกสถานะว่าอยู่ตรงไหนของการเดินทาง เรื่องเหล่านี้เราสามารถกระโดดข้ามบริการจากรัฐได้ รวมถึงการไปซื้อยา ผู้สูงอายุอ่านฉลากไม่ออก เขาค้นหาชื่อยาในมือถือแล้วขยายขนาดตัวอักษรได้ ถ้ามัวแต่รอให้กฎหมายมาบังคับบริษัทยามาขยายตัวหนังสือให้ใหญ่ก็ไม่มีวันได้ซื้อ แต่ถ้าผู้สูงวัยใช้วิธีแบบนี้ ถึงแม้จะซับซ้อนขึ้นมาหน่อย แต่มันก็เป็นทางออกได้ผ่านเทคโนโลยี 
 
 
นับตั้งแต่ก่อตั้ง ABLE Lab ผลของโครงการขับเคลื่อนหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง
 
ผมเคยได้ยินผู้ประกอบการคนหนึ่งพูดว่าสังคมผู้สูงอายุนั้นเห็นผู้ใช้ (user) อยู่จำนวนมาก แต่มองไม่เห็นตลาด (market) เลยว่าอยู่ตรงไหน นี่เป็นคำที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นทิศทางในช่วงแรก ABLE Lab ได้ทำวิจัยกับผู้สูงอายุราว 60-80 คน ทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกและสังเกตพฤติกรรมในบ้าน เราค้นพบว่ามันมีความต้องการจริงๆ แต่พอทำเป็นผลิตภัณฑ์ไปแล้วกลับไม่มีคนซื้อ หรือเพราะผู้สูงอายุไม่ได้มีกำลังซื้อหรือเข้าถึงแหล่งจัดจำหน่ายได้ ไม่เหมือนกับสินค้าเด็ก เพราะตลาดเด็กพ่อแม่คือคนซื้อ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุเลยต้องปรับวิธีการขาย เช่น ถ้านำขายหน้าร้านจะขายได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย แต่พอขายแบบเปิดบูธที่งานแฟร์ต่างๆ กลับขายได้ดี เพราะผู้สูงอายุชอบไปเดินงานแฟร์ อย่างเช่นงาน OTOP แต่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านก็ตื่นตัวกันมากขึ้น เริ่มมีการพูดถึงสินค้าเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น 
 
คนรุ่นหลังจะสามารถรับมือกับสังคมผู้สูงอายุต่อจากนี้อย่างไร
 
คิดว่าคนจะระดับการเรียนรู้ (Learning Curve) ที่เร็วขึ้น ด้วยปัจจัยด้านภูมิหลัง การศึกษา ความเข้าใจในข้อมูลต่างๆ แต่ในแง่ของ influencer หน่วยงานต่างๆ หรือภาครัฐเองก็ไม่สามารถรอได้ ไม่สามารถปล่อยให้เขาสร้างระดับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เราต้องช่วยกันด้วยการใช้วิธีที่อาจจะ passive มากๆ มันก็เลยกลับมาเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจกลุ่มผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เช่น การศึกษาลักษณะของผู้สูงอายุในประเทศไทยจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ทัศนคติที่มีต่อเรื่องต่างๆ เป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้ Learning Curve นั้นสั้นและเราผ่านช่วงนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว 
 
 
เราจะใช้ประโยชน์จากความทรงจำ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของผู้สูงวัยได้อย่างไร
 
ต้องบอกว่าประเทศไทยยังมีระบบการจัดการความรู้ไม่ดี ทำให้ Local Wisdom ผูกติดกับตัวคน คนรุ่นหลังจึงต้องพึ่งพาเรื่องความรู้จากผู้สูงอายุ ทั้งนี้ถ้าเรามีระบบจัดการที่ดี ความรู้จะถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ แต่หากระบบจัดการไม่ดี ความรู้ก็จะไปอยู่กับผู้สูงอายุอย่างเดียว เราเลยเสียดายความรู้ตรงนั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความหลงใหล (passion) ยกตัวอย่างคนญี่ปุ่นที่เริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงสูงวัย คนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เริ่มจากงานหรือสิ่งที่เขาทำเพื่อเลี้ยงชีพตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเลย แต่เป็นสิ่งที่เป็นแพชชั่นของเขาล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องที่เขาทำเป็นงานกันมาตลอดชีวิต 
 
ตัวอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกับ Local Wisdom เราชอบคิดว่าเอาความรู้ของเขามาทำให้เกิดธุรกิจ แต่เราไม่เคยมองว่าผู้สูงอายุต่างจังหวัดทอผ้าขาย เขาเบื่อกันไหม มันไม่ได้แค่แง่มุมว่าเขาเชี่ยวชาญอะไร เลยคิดว่าถ้ามีแพลตฟอร์มที่ให้ผู้สูงวัยได้ลองทำดูก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่เพราะบ้านเราไม่ได้มีกลไกให้ค้นหาตัวเองกันตั้งแต่เด็ก แม้แต่คนรุ่นเราเองยังสงสัยกันเลยว่าที่ทำงานกันอยู่ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ใช่หรือไม่ และสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมที่ส่งเสริมงานอดิเรก ซึ่งงานอดิเรกนี้เองคือตัวช่วยให้ผู้สูงอายุมีอะไรทำ เพราะงานอดิเรกมักจะมาจากแพชชั่น พอวันหนึ่งที่ผู้สูงวัยมีเวลาโดยไม่ต้องทำงานอีก งานอดิเรกตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างกิจกรรม สร้างความสุข สร้างรายได้ได้ 
 
 
การออกแบบสำหรับผู้สูงอายุและปัจจัยที่ควรคำนึงถึง 
 
ในส่วนของการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ นอกจากปัจจัยสำคัญอย่าง Human Factors หรือลักษณะและวิธีการที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งรอบข้าง ยังมีปัจจัยอื่นที่ควรคำนึงถึงอย่างสังคมและวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ เหล่านี้เป็นข้อควรคำนึงที่ทำให้การออกแบบสำหรับผู้สูงอายุนั้นสอดรับกับความต้องการที่แท้จริง  
 
  • การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรม: ถิ่นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม อาชีพ สถานะทางสังคม พฤติกรรมภูมิหลัง ประสบการณ์ อาจส่งผลให้เกิดการวิตกกังวลและความสามารถในการสื่อสาร
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก: ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการมองโลก แรงผลักดัน วิถีชีวิต มองเหตุการณ์ ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อพฤติกรรม ประสิทธิภาพของร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงระดับความสามารถ
  • การเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ: กายภาพและความสามารถในการควบคุมร่างกาย ประกอบด้วยกายภาพที่เปลี่ยนไป การควบคุมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง ระบบอัตโนมัติ ทั้งการรับรู้และการตอบสนอง
 
ที่มา: 
agelab.mit.edu
เนื้อหาจากนิทรรศการ “Dear Elder สวัสดีตัวฉันในอนาคต” โดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
บทความ “เทรนด์เจเนอเรชัน Baby Boomer” จาก wgsn.com
บทสัมภาษณ์อาจารย์พรยศ ฉัตรธารากุล หัวหน้าโครงการ ABLE Lab วันที่ 19 มีนาคม 2561
วิดีโอ “BETTVR WITH AGE” โดย Jake Kahana จาก vimeo.com
วิดีโอ “ELLIQ - The active aging companion” (12 มกราคม 2017) โดย Intuition Robotics จาก youtube.com
วิดีโอ “Let's end ageism” โดย Ashton Applewhite 
หนังสือ New Aging เขียนโดย Matthias Hollwich, Bruce Mau Design Inc
รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
เรื่อง:  กมลกานต์ โกศลกาญจน์