โอกาสใหม่จากกลุ่ม Silver Tsunami
Technology & Innovation

โอกาสใหม่จากกลุ่ม Silver Tsunami

  • 04 Apr 2018
  • 7176

©thestar.com
 

ผลจากการเกิดคลื่นยักษ์ของกลุ่มผู้สูงอายุ (Silver Tsunami) ที่พยายามปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี ทำให้ฝั่งผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการอัจฉริยะต่างๆ ในตลาดสินค้าเพื่อชีวิตที่ยืนยาว เร่งพัฒนาชิ้นงานให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเน้นตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ข้อมูลจาก American Association of Retired Persons (AARP) ระบุว่าสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 7.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีอยู่ที่ราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

©thestar.com
 

ตลาดสินค้าผู้สูงอายุนับเป็นอีกตลาดใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้สูงวัย และหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้ก็คือญี่ปุ่น ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และกำลังผลักดันอย่างเต็มกำลัง ให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เช่น PARO หุ่นยนต์เชิงโต้ตอบที่ใช้แมวน้ำเป็นตัวแทนมาดูแลและเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งช่วยสังเกตอาการของโรคและพฤติกรรมของผู้สูงอายุ พัฒนาโดย National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ซึ่งเป็นหน่วยงานกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือแม้แต่แบรนด์รถยนต์อันดับหนึ่งอย่างโตโยต้าเอง ก็กำลังเปลี่ยนทิศทางจากการพัฒนายานยนต์มาสู่การผลิตหุ่นยนต์ที่มีวิวัฒนาการด้านอารมณ์และความรู้สึก โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2016  โตโยต้าได้เปิดตัวหุ่นยนต์ที่ชื่อ Kirobo Mini ที่สามารถจดจำเสียงและสื่อสารกับผู้ใช้งานในฐานะผู้ช่วยในบ้านและในรถยนต์ได้ “เราต้องมองให้ไกลกว่าแค่การผลิตรถยนต์ และมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงเดินทางได้แม้หลังจากที่พวกเขาไม่สามารถขับขี่ได้ด้วยตนเอง” โตชิยะ อิโซเบะ (Toshiyuki Isobe) เอ็มดีของโตโยต้าคนปัจจุบันกล่าว นอกจากนี้ โตโยต้ายังกำลังลงทุนในการวิจัยและผลิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยสำหรับผู้สูงอายุที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอย่าง Fujita Health University อีกด้วย

©toyota.jp
 

ส่วนด้านงานบริการนั้น ก็ได้เกิดบริการแบบใหม่ในร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ตลาดผู้สูงอายุที่มีอยู่ถึง 27% ของจำนวนประชากรทั้งหมดด้วยเช่นกัน เช่น Aeon เน้นกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยที่อยู่ในเมืองโดยเปิดให้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์พร้อมส่งตรงถึงบ้าน  ส่วน Lawson เน้นบริการสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร โดยการให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพสำหรับครอบครัว ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลพยาบาลประจำอยู่ในช่วงกลางวันคอยตอบปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงระบบการประกันสุขภาพ หรือวิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้าน ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำเรื่องสถานพยาบาลผู้สูงอายุในบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในร้านยังมีการจำหน่ายสินค้าสำหรับการดูแลผู้สูงวัย เช่น ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ถ่านสำหรับเครื่องช่วยฟัง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณบรรจุน้อย ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่ใช้วีลแชร์ ร้านค้ายังมีการออกแบบให้ทางเดินในร้านกว้างขึ้น พร้อมติดตั้งราวจับที่รถเข็นช้อปปิ้งและที่วางตะกร้าให้อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าปกติ พร้อมจ้างงานผู้สูงวัยให้เป็นพนักงานคอยแนะนำพื้นที่สันทนาการสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้สูงวัยให้ได้มีปฏิสัมพันธ์และรู้จักพูดคุยกัน โดย Lawson มีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการร้านค้าเพื่อผู้สูงวัยอย่างครบวงจรเช่นนี้ในเมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น หลังจากเปิดให้บริการแล้วกว่า 30 แห่งแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ที่มา : บทความ “Robot revolution: why technology for older people must be designed with care and respect” (1 กุมภาพันธ์ 2017) จาก theconversation.com, parorobots.com และ toyota.jp/kirobo_mini

เรื่อง : ชมพูนุท วีรกิตติ และปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข