Creativity + Tech: วิถีสตาร์ทอัพแห่งวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์
Technology & Innovation

Creativity + Tech: วิถีสตาร์ทอัพแห่งวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์

  • 02 Sep 2018
  • 15059

การพัฒนาทางเทคโนโลยีในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นปรากฏการณ์ที่ก่อตัวขึ้นควบคู่กับการเกิดของกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ หรือ “สตาร์ทอัพ” ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและลูกค้า ด้วยโมเดลทางธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตแบบก้าวกระโดด 

“ความคิดสร้างสรรค์” เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างไร และพวกเขาจะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้มากหรือน้อยเพียงใด

สร้างสรรค์ในความผันผวน
จากการสำรวจความคิดเห็นบริษัทชั้นนำต่างๆ จากนานาประเทศ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงทักษะในการประกอบอาชีพที่จำเป็นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยการเกิดขึ้นของระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Smart Robotics) และปัญญาเสมือน (Artificial Intelligence) จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ในบางสาขาอาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ และสร้างงานในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม  ทั้งนี้ “ความคิดสร้างสรรค์” ถือเป็นทักษะสำคัญ 1 ใน 3 อันดับแรกที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของแรงงานและผู้ประกอบการยุคใหม่ เพราะถึงแม้ว่าระบบหุ่นยนต์และปัญญาเสมือนจะช่วยให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลากหลายด้านที่มีแบบแผนชัดเจนอยู่แล้วเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าแรงงานมนุษย์ แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นยังคงไม่สามารถ “สร้างสรรค์” ได้มากเท่ามนุษย์ 

©blog.rackspace.com

เมื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการพัฒนาระบบปัญญาเสมือน เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality)เทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality) และบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สภาเศรษฐกิจโลกได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการปรับตัวให้เท่าทันความผันผวนต่างๆ ในด้านหนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สร้างความเป็นไปได้ในการใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพสามารถสร้างนวัตกรรมและปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในเชิงส่วนบุคคล (Personalization) มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถสื่อสารและจัดจำหน่ายสินค้าแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในวงที่กว้างยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนการผลิตและการต้นทุนการขยายกิจการที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการวางแผนและบริหารจัดการระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีกลายเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็เป็นได้ 

“Createch”… อุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งสร้าง
ในสภาวะที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ยังคงก่อให้เกิดความผันผวน โดยไม่แน่ชัดว่าผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และผู้ใดจะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้เสียในประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกำหนดทิศทางนโยบายและสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ภาคธุรกิจเดิม สามารถปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวัฏจักรแห่งความพ่ายแพ้ต่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และเอื้อให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ที่เป็นแรงขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 

การปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าจับตามอง เพราะประเทศดังกล่าวถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา และได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของธุรกิจดิจิทัลของโลกตะวันตก โดยในปี พ.ศ. 2560 สภาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประจำสหราชอาณาจักร (Creative Industries Council) ได้กำหนดสาขาอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้ชื่อ “Createch” ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจเกิดใหม่ และสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการผสมผสาน “ความคิดสร้างสรรค์” กับ “เทคโนโลยี” 

สภาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประจำสหราชอาณาจักรได้นิยามผู้ประกอบการในสาขา Createch ว่า เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (อย่างเช่น การออกแบบ การเล่าเรื่อง และการแสดง เป็นต้น) และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ โดยผู้ประกอบการ Createch มักมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมวัฒนธรรม อุตสาหกรรมออกแบบ และอุตสาหกรรมโฆษณา รวมทั้งในบางกิจการยังเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย 

หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมลูกผสมที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเช่น “FinTech” และ “HealthTech” สภาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักรยอมรับว่า Createch ยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ โดยถึงแม้หน่วยงานหลายภาคส่วนจะเริ่มเห็นเค้าลางการก่อตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว แต่การกำหนดขอบเขตกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการชี้วัดผลกระทบทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่มเท่านั้น ในแง่นี้ สภาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประจำสหราชอาณาจักรจึงได้เริ่มจัดงานสัมมนาประจำปี “Createch Conference” โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา เพื่อระดมสมองและสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพในสาขาดังกล่าว รวมทั้งการกำหนดนโยบายสนับสนุนและชี้วัดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในสาขานี้

Createch เป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสร้างงาน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่สหราชอาณาจักร จากการประมาณการข้อมูลเชิงสถิติเบื้องต้น พบว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีแรงงานสร้างสรรค์กว่าร้อยละ 27.3 ของแรงงานสร้างสรรค์ทั้งหมดในสหราชอาณาจักรที่ประกอบอาชีพในสาขา Createch โดยธุรกิจ Createch ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ Createch ยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในระดับที่สูงถึง 3.6 พันล้านปอนด์ 

สร้างสรรค์ไทย + เทคโนโลยีต่างประเทศ
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าประเทศไทยจะต้องค้นหาส่วนผสมที่ลงตัวของความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม คงไม่จำเป็นเสมอไปที่ไทยจะต้องลอกเลียนแบบการกำหนดสาขาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Createch ในสหราชอาณาจักร หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ “รอรับ” การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาตลอด โจทย์หลักในปัจจุบันคงได้แก่การค้นหาว่า “ใครบ้าง” ในระบบเศรษฐกิจไทยที่จะสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในสังคมไทยเข้ากับการปรับใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ และ “ใครบ้าง” ในระบบเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะลงทุน ลงแรง และที่สำคัญ คือ พร้อมเสี่ยงที่จะลองผิดลองถูกในการค้นหาส่วนผสมที่ลงตัวนี้ 

การขยายตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพในเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นความหวังหนึ่ง ที่ประเทศไทยจะสามารถฉกฉวยโอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไว้ และถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะพัฒนานโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ให้มีโอกาสที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดต่อไป

ที่มา:

รายงาน “Createch Resource Book” จาก thecreativeindustries.co.uk
รายงาน “Creative Disruption: the Impact of Emerging Technologies on the Creative Economy” (กุมภาพันธ์ 2018) โดย World Economic Forum
รายงาน “The Future of Jobs: Employment, Skills and Workforce Strategy for the Fourth Industrial Revolution” (มกราคม 2016) โดย World Economic Forum
 
เรื่อง : ภารุต เพ็ญพายัพ