หรือ AI จะแย่งงานนักเขียน?
Technology & Innovation

หรือ AI จะแย่งงานนักเขียน?

  • 01 Oct 2018
  • 28941

นักเขียนทั่วไปใช้เวลาตั้งแต่เป็นชั่วโมง ไปจนถึงเป็นเดือน เป็นปี ในการผลิตงานเขียนต่างๆ แล้วแต่ความยาวและความยาก แต่ ณ วันนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ใช้เวลาเพียง ‘ไม่กี่วินาที’ ผลิตเนื้อหาที่อ่านแล้วแยกไม่ออกว่ามนุษย์เขียนหรือหุ่นยนต์เขียน

©pixabay.com/mohamed hassan 

นี่ไม่ใช่เพียงความเห็นของคนๆ เดียว แต่มีสิ่งที่เรียกว่า Turing Test ทำหน้าที่ทดสอบ ‘ความเป็นมนุษย์’ ในงานเขียน ตั้งแต่ปี 2014 หุ่นยนต์ Chatbot ชื่อยูจีน (Eugene) สอบผ่าน Turing Test เป็นตัวแรกของโลก เพราะผู้เชี่ยวชาญอ่านสิ่งที่ยูจีนเขียนแล้วตอบไม่ได้ว่าหุ่นยนต์หรือคนจริงๆ เขียนกันแน่

©independent.co.uk

นักเขียนทั้งหลายฟังแค่นี้ก็ใจหล่นวูบไปอยู่ตาตุ่ม จะตกงานกันก็คราวนี้

อย่าเพิ่งตกใจไป AI เขาพัฒนามาให้ ‘ช่วย’ นักเขียน ไม่ใช่ให้ ‘แย่งงาน’ มาดูกันว่าช่วยอย่างไร

NLP (Natural Language Processing) และ NLG (Natural Language Generation) คือ 2 เทคโนโลยีที่ทำให้ AI ‘เขียน’ ได้ NLP คือโปรแกรมที่ทำให้หุ่นยนต์เข้าใจเสียงพูดของมนุษย์และแปรเป็นตัวอักษร (เช่น ซอฟต์แวร์แปลภาษาต่างๆ) และประมวลผลฐานข้อมูลต่างๆ ส่วน NLG ไปไกลกว่านั้น หลังจาก NLP ประมวลข้อมูลต่างๆ แล้ว NLG จะทำหน้าที่ผลิตข้อความ บทความ หรือข้อเขียนประเภทอื่นๆ โดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยช่วย 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ AI ‘เขียน’ อยู่ตอนนี้ คือพวกเนื้อหาที่ต้องอาศัยข้อมูลเยอะมหาศาล เช่น รายการทางการเงิน บทสรุปสำหรับผู้บริหาร คำบรรยายผลิตภัณฑ์ และบทความข่าวต่างๆ คือส่วนใหญ่แล้วเป็นบทความที่ตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในระยะสั้น แต่อะไรก็ตามที่ไม่ได้อาศัยข้อมูลจากอัลกอริธึม (algorithms) และข้อเท็จจริงต่างๆ AI ยังเขียนไม่ได้ 

©alibaba.com

ข่าวล่าสุดของเดือนกรกฎาคม 2018 รายงานว่า เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ Alibaba.com มี AI ที่เขียนเนื้อหาได้กว่า 20,000 บรรทัดต่อวินาที (ไม่ได้ระบุว่ากี่คำ) เพื่อช่วยให้ผู้ค้าที่ใช้บริการ Alibaba เขียนคำบรรยายผลิตภัณฑ์ที่ตนเองกำลังจะโพสต์ขาย โดยอาศัย NLP และ NLG ในการประมวลผลข้อมูลตัวอย่างนับล้านๆ รวมทั้งข้อความรีวิวผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าเขียน (ที่มีอยู่แล้วในเว็บไซต์ Alibaba) เพื่อ ‘เขียน’ ข้อความส่งเสริมการขายให้ผู้ค้า และมีผู้ค้าใช้บริการนี้เกือบหนึ่งล้านครั้งต่อวัน

JD.com คู่แข่งตัวเอ้ของ Alibaba รวมทั้งแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Esprit และ Dickies ต่างก็เริ่มใช้ AI ในการเขียนเนื้อหาเช่นกัน ผู้ใช้เลือกความยาวของข้อความหรือบทความที่ต้องการได้ และยังเลือก ‘อารมณ์’ ของเนื้อหาที่ต้องการได้ด้วย เช่น ต้องการให้เป็นเนื้อหาเชิงส่งเสริมการขาย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน สนุกสนาน ฟังดูคล้องจองกัน หรืออบอุ่นใจ

©Flickr.com/Gastev

สำหรับธุรกิจประเภท B2B (business-to-business) มีการประมาณว่า ภายในปี 2018 นี้ ประมาณ 20% ของเนื้อหาเชิงธุรกิจทั้งหมดจะถูกเขียนขึ้นโดย AI เป็นต้นว่า ข่าวแจก (press release) เอกสารทางกฎหมาย บันทึก (memo) ภายในบริษัท รายงานสภาวะตลาด (market reports) และเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับงานอื่นๆ ที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาท ‘ช่วย’ นักเขียนที่เป็นมนุษย์แล้วก็มี การพิสูจน์อักษร การตรวจแก้หากมีการใช้คำซับซ้อนเกินจำเป็น หรือใช้คำซ้ำบ่อยๆ นอกจากนี้ AI ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นคว้าข้อมูลก่อนเขียน นักเขียนส่วนใหญ่มักเจอปัญหาว่ามีข้อมูลมากมายเหลือเกิน และไม่รู้ว่าข้อมูลส่วนไหนที่สำคัญ เพราะไม่มีเวลาอ่านทั้งหมด AI ช่วยได้โดยการทำสรุปย่อของข้อมูลทุกอย่าง โดย Salesforce บริษัทชั้นนำของโลกด้านเทคโนโลยีฐานข้อมูล พัฒนา AI ที่โดดเด่นเรื่องการทำสรุปย่อ เพื่อให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ที่เป็นลูกค้า

©Unsplash.com/Wenni Zhou

ดังนั้น นักเขียนทั้งหลาย สบายใจได้ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) และหันมาพัฒนาฝีมือเขียนกันเถอะ คริสตินา ลู (Christina Lu) ผู้จัดการทั่วไปของ Alimama (แผนกการตลาดดิจิทัลของ Alibaba.com) กล่าวว่า เธอไม่คิดว่า AI จะมาแทนที่ความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ สิ่งที่ AI จะ ‘แทนที่’ คืองานเขียนที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ซ้ำไปซ้ำมา และ ‘มีมูลค่าน้อย’ (low-value) เท่านั้น

Gennaro Cuofano นักวิเคราะห์ ก็กล่าวว่า งานเขียนที่ไม่ต้องใช้พลังมากนัก จำพวกบทความฮาวทู บทความสอนเรื่องต่างๆ (tutorials) จะถูกแทนที่โดยนักเขียนหุ่นยนต์ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว นักเขียนตัวจริงควรใช้เวลาผลิตสิ่งที่ AI (ยัง) ทำไม่ได้ AI อาจเขียนเรื่อง ‘ทำอย่างไร’ (how) ได้ นักเขียนจึงควรทุ่มเทพลังเพื่อผลิตงานเขียนประเภท ‘ทำไม’ (why) ซึ่งต้องใช้สมองและอารมณ์มนุษย์ในการคิด จะอาศัยเพียงแค่การประมวลผลข้อมูลไม่ได้

©Unsplash.com/Jame Starbotton

ลองนึกถึงนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ของโลก ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิตและฝีมือของนักเขียน หรือหนังสือเชิงสารคดีชั้นดี ที่เขียนโดยนักเขียนชั้นครู เขียนด้วยลีลาน่าอ่าน ได้ความรู้ งานเขียนเหล่านี้อยู่มาแล้วเป็นร้อยๆ ปี และเชื่อว่าจะอยู่คู่ชั้นหนังสือของนักอ่านทุกรุ่นทุกวัยต่อไป รวมทั้งจะมีนวนิยายและสารคดีคุณภาพจากนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ต่อไป เพราะสิ่งหนึ่งที่ AI ไม่มีเหมือนมนุษย์ คือชีวิตและจิตใจ

ที่มา:
บทความ How Artificial Intelligence will impact professional writing โดย Ben Dickson จาก thenextweb.com
บทความ ARTIFICIAL INTELLIGENCE + CONTENT WRITING: WHAT HAPPENS NEXT? โดย Michael O'Neill จาก brafton.com 
บทความ Alibaba e-commerce merchants turn to AI for content creation โดย Eileen Yu จาก zdnet.com

เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ