TREND2019: Technology 03 Pro-Prosthetics กายอุปกรณ์ ศักยภาพใหม่ในความเป็นมนุษย์
Technology & Innovation

TREND2019: Technology 03 Pro-Prosthetics กายอุปกรณ์ ศักยภาพใหม่ในความเป็นมนุษย์

  • 01 Sep 2018
  • 6708

การศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์แครอล ดเวค (Carol Dweck) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนามนุษย์ของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด นำมาสู่การเขียนหนังสือเรื่อง MindSet โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า มนุษย์เกิดมาเป็นอย่างไร มีต้นทุนเท่าไรไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอยู่ที่ Mindset ซึ่ง Mindset สามารถทำให้มนุษย์เราพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ ดังนั้นในปี 2019 เทคโนโลยีที่ถูกนำมาสร้างโลกยุคใหม่ จึงเกี่ยวข้องกับการทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีกว่าเดิม อย่างศักยภาพใหม่ของเฮเลน โกลเวอร์ (Helen Glover) นักกีฬาพายเรือ ที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2012 ในกรุงลอนดอนได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์พายเรือแม้แต่ครั้งเดียว แต่การใช้เวลาฝึกฝน 4 ปี ทำให้เธอก้าวข้ามขีดจำกัดและพบศักยภาพใหม่ของตนเอง หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘พรสวรรค์’ ใหม่ที่สร้างได้ด้วยตนเองนั่นเอง

เช่นเดียวกับเจมส์ ยัง (James Young) ผู้ที่ศักยภาพทางร่างกายเกิดขึ้นหลังจากสูญเสียแขนซ้ายไปในอุบัติเหตุทางรถไฟในลอนดอนปี 2012 เมื่อระยะเวลาผ่านไป ปัจจุบันนี้เจมส์ ยัง กลายเป็นบุคคลที่ได้รับศักยภาพใหม่ด้วยแขนเทียมหน้าตาคล้ายแขนกลของสเนคในเกม Metal Gear Solid ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ค่ายเกมญี่ปุ่น Konami ในโปรเจ็กต์ Alternative Limb แก็ดเจ็ตใหม่ของร่างกายที่นอกจากเคลื่อนไหวได้เหมือนแขนจริงแล้ว ยังแข็งแรงกว่าและสามารถควบคุมโดรนได้เหมือนมีคู่หูบินตามไปด้วยตลอดทาง

แรงบันดาลใจจากเจมส์ ยัง ได้ส่งต่อให้บริษัท Konami เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวัยวะเทียมสำหรับเกม ซึ่งร่วมมือกับศิลปินโซฟี เด โอลิเวียรา บาราตา (Sophie De Oliveira Barata) ในโปรเจ็กต์ Phantom Limb  นับว่าเป็นการลบภาพอุปกรณ์เทียมทั่วไป ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม แปลกตา ชวนให้นึกถึงตัวละครในโลกแห่งเกม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศักยภาพที่ท้าทายขีดความสามารถเดิมของมนุษย์ได้ด้วยศิลปะและเทคโนโลยี เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์ Third Thumb ของสตูดิโอ Dani Clode ที่ผสานร่างกายเข้ากับเทคโนโลยีอุปกรณ์เทียม เพื่อเสริมประสบการณ์แบบจำเจด้วยการต่อนิ้วในมือให้กลายเป็น  6 นิ้ว และทดสอบดูว่าเมื่อคนเรามีนิ้วที่ 6 เพิ่มขึ้นมาแล้ว จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เปลี่ยนไปจากเดิมได้หรือไม่ การประดิษฐ์เกิดจากการเรียนรู้ปฏิกิริยาตอบสนองของ AI แล้วนำมาเป็นต้นแบบเพื่อเสริมเป็นศักยภาพใหม่ที่มนุษย์สามารถทำได้ เช่น การจับคอร์ดกีตาร์ด้วย 6 นิ้ว เพื่อให้ได้เสียงใหม่ที่ต่างไปจากเดิม หรือการหยิบจับข้าวของที่ยากต่อการควบคุมให้อยู่มือ โดยสตูดิโอยังต้องการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์เทียมดังกล่าวนี้ ให้ส่งต่อถึงผู้คนทั่วไปเสมือนเป็นเครื่องมือช่วยเหลือหรือพรสวรรค์ใหม่ จากเดิมที่อุปกรณ์เทียมหรืออวัยวะเทียมเป็นเพียงสิ่งที่ใส่เข้าไปเพื่อซ่อมหรือเปลี่ยนกลไกเดิมของอวัยวะของร่างกาย ให้กลายเป็นเปิดประสบการณ์ใหม่ด้วยศักยภาพใหม่ของร่างกาย

ไมค์ ชูลต์ส (Mike Schultz) นักกีฬาสโนว์บอร์ดในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกรอบฤดูหนาว ชูลต์สได้แสดงศักยภาพของการควบคุมทิศทางสโนว์บอร์ด ด้วยนวัตกรรมขาเทียมที่ผสานเทคโนโลยี Moto Knee และ Versa Foot ของบริษัท BioDapt ความสามารถในการยกบอร์ดในการแข่งขันนี้ ทำให้นักวิจารณ์ด้านกีฬาต่างชื่นชม และเสนอว่าการแข่งขันด้วยศักยภาพเท่านี้ สามารถเทียบเท่ากับศักยภาพในการแข่งขันโอลิมปิกได้เลย ซึ่งในอนาคตการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอาจไม่จำกัดความสามารถของผู้แข่งขันในด้านร่างกาย แต่วัดศักยภาพของร่างกายที่ถูกผสานเข้ากับกายอุปกรณ์ให้มีพละกำลังเทียบเท่าคนปกติก็เป็นได้ เช่นเดียวกับบริษัท Roam Robotics ที่เชื่อว่าโครงกระดูกภายนอก (Exoskeleton) สามารถทำให้มนุษย์นำศักยภาพภายในออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ จึงพัฒนาเครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นโครงกระดูกเสริม เพื่อรับน้ำหนัก แรงต้าน แรงกระแทก และลดอาการเจ็บปวดจากกิจกรรมผาดโผน ออกแบบออกมาเป็นผ้ายืดนาโนที่มีระบบนิวเมติก (Pneumatic) ซึ่งหมายถึงการใช้อากาศอัดเข้าไปเป็นตัวกลาง ในการถ่ายทอดกำลังงานให้เป็นกำลังกล ทำให้สามารถควบคุมทิศทางกลไกการออกแรงของอวัยวะในร่างกาย และในขณะเดียวกันยังเพิ่มพลังการออกแรง แต่กลับใช้กำลังกล้ามเนื้อน้อยลง จึงลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ไม่ใชเพียงศักยภาพทางด้านร่างกาย ความสามารถในการพัฒนาศักยภาพสมองก็ถูกใช้เป็นต้นแบบในงานวิจัยหลายๆ งาน อย่างการคิดค้นยาเพื่อเพิ่มสมรรถภาพด้านความจำ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์สมองในการตอบสนองการรับรู้อย่างรวดเร็วและรับข้อมูลจำนวนมากได้ การพัฒนารูปแบบนี้เป็นการเกี่ยวโยงเทคโนโลยีคลื่นสมองเข้ากับนวัตกรรมเฮดเซ็ต ด้วยศาสตร์แห่งประสาทเทคโนโลยี (Neurotechnology) ซึ่งหมายถึงการศึกษาจิตใต้สำนึก ความคิด การทำงานของสมองและการสั่งการต่างๆ โดยการวิเคราะห์อัลกอริทึมจากคลื่นสมองที่ประมวลผลได้ ออกมาเป็นแพตเทิร์นของคำสั่งทางความคิด ที่สามารถตัดสินใจหรือควบคุมข้อมูลในระบบดิจิทัลได้ สามารถเรียกการทำงานของระบบที่เชื่อมต่อไปยังข้อมูลดิจิทัลว่า Brainternet หรือระบบ Brain-Internet

เช่นเดียวกับทีมวิจัยของบริษัท Bitbrain ที่ต่อยอดระบบ Brainternet มายังเครื่องสวมเฮดเซ็ต EEG ที่ทำงานโดยการควบคุมกลีบสมองทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจำแนกหรือตัดสินใจความคิดที่ขัดแย้งกัน ทำให้ผู้สวมใส่สามารถควบคุมอารมณ์ ตัดสินรวดเร็ว และมีสมาธิมากขึ้นตามพฤติกรรมธรรมชาติของสมองที่ควรจะเป็น อีกนัยยะหนึ่งของเทคโนโลยีประเภทนี้คือการทำหน้าที่ฝึกฝนสมอง บริหารให้เกิดการพัฒนาการตัดสินใจทางความคิดและมีศักยภาพในการทำกิจกรรมที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานของระบบ B2V หรือ Brain-to-Vehicle ของทีมวิจัยบริษัทนิสสัน ที่ผลิตเครื่องเฮดเซ็ตเพื่อเพิ่มศักยภาพการขับรถ หลีกเลี่ยงการเผชิญกับภยันตรายบนท้องถนนอันเกิดจากการตัดสินใจทันด่วน หรือเฮดเซ็ตของ BrainCo ที่สร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์และสมอง พัฒนาการทำงานของเฮดเซ็ตให้สามารถเป็นหนึ่งในเครื่องฝึกฝนการเรียนรู้ในสถานศึกษา ทำให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียน สามารถจดจำเนื้อหา และพัฒนาความจำเพื่อการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรม BrainCo นี้จะถูกนำไปทดสอบกับนักเรียนในสิงคโปร์ ภายใต้แบรนด์ Nature's Farm เป็นที่แรก เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสามารถทำได้มากขึ้น อย่างเช่นการเพิ่มพูนความรู้สึกด้านสุขภาพใจ หรือควบคู่ไปทั้งไอคิวและอีคิว

 ที่มา: 
บทความ “6 Hidden Talents พรสวรรค์ที่คุณยังค้นพบได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม” โดย Thanet Ratanakul จาก thematter.co
บทความ “BrainCo Focus1 Reaches Singapore” จาก naturesfarm.com
บทความ “Mindset: The New Psychology of Success” โดย Carol Dweck จาก www.aacu.org