AI อนาคตของคนรากหญ้า
Technology & Innovation

AI อนาคตของคนรากหญ้า

  • 02 Oct 2018
  • 12721

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขณะที่สังคมไทยก็เริ่มตื่นตัวและมีการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมายโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสังคมสู่สังคมดิจิทัลส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของผู้คนในเมืองกรุง เพื่อแก้ปัญหาของผู้ที่มีฐานะหรือเป็นชนชั้นกลาง แต่สำหรับปัญหาของคนรากหญ้า ยังเป็นที่น่าสนใจว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร

หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นของรัฐบาลก็คือบัตรคนจนสำหรับผู้ที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี และผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี โดยการมอบบัตรที่มีเทคโนโลยีควบคุมการเงิน ทำให้รัฐบาลควบคุมการทุจริตทางการเงินได้ และกำหนดรายจ่ายของผู้ถือบัตรได้ โดยสามารถใช้จ่ายได้กับสินค้าอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าเพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้บัตรคนจนยังใช้ได้กับรถเมล์ รถไฟฟ้า และรถไฟ เพื่อส่งเสริมให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

Folk Rice

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีเป็นทางออก ยังเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยในต่างจังหวัด Folk Rice คือหนึ่งในผู้ให้บริการทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้ผู้ซื้อกับผู้ขายที่เป็นเกษตรกรรายย่อยสามารถติดต่อกันได้โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นับเป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

©tabica.jp

ประเด็นของผู้คนยากจน คงไม่ได้มีเพียงเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาเท่านั้น แต่ประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เช่น โขน มวยไทย ลิเก หรือผ้าไทย ต่างก็เริ่มจางหายไปเรื่อยๆ อันเป็นผลพวงมาจากการหลากเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกและเทคโนโลยีซึ่งเข้ามาแทนที่ แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น กลับสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้คนยากจนในชนบท ยกตัวอย่างเช่น Hyakusenrenma และ TABICA ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการที่พักและจัดทริปให้นักท่องเที่ยวได้พักในบ้านพักของชาวนาหรือชาวประมง พร้อมท่องเที่ยวด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ และศึกษาชีวิตแบบชนบทของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด จนได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ใส่ใจในธรรมชาติ ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถนำเข้ามาปรับใช้และพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยากจนได้หลากหลายมุมมอง เหลือก็เพียงรอให้ผู้ที่สนใจหยิบใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง

©unsplash/Marko Dukic

ที่มา:
บทความ “ชม 7 ตัวอย่างธุรกิจ Startup ญี่ปุ่นน่าสนใจ ใครๆ ก็ว่าโดน” จาก estopolis.com 

บทความ “ชำแหละ “บัตรคนจน” ซื้อตรงไหน ใช้อย่างไร ได้กี่อย่าง” จาก sanook.com
บทความ “Folk Rice ตลาด (กลาง) ออนไลน์เพื่อเกษตรกรไทย” จาก isranews.org

เรื่อง: พฤฒ มิ่งศุภกุล