ชะตาชีวิต ใครกำหนด?
Technology & Innovation

ชะตาชีวิต ใครกำหนด?

  • 03 Oct 2018
  • 14286

คงจะปฏิเสธได้ยากว่า อัลกอริทึมของเอไอในปัจจุบันได้ช่วยเหลือมนุษย์เราหลากหลายด้าน อาทิ ช่วยเรื่องการสื่อสารอย่างการแปลภาษา ช่วยตรวจจับใบหน้ามนุษย์ บล็อกสแปมในอีเมล ตรวจหาการโกงบัตรเครดิต หรือกระทั่งช่วยวินิจฉัยโรคร่วมกับแพทย์ แต่ความล้ำหน้าของอัลกอริทึมเหล่านี้ที่เกิดจาก “กระบวนการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning)” อันเกิดจากการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่มีโครงสร้าง และปล่อยให้ระบบตอบคำถามที่อิงกับความน่าจะเป็นของสิ่งที่มนุษย์กำลังมองหาอยู่ กลับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะมนุษย์เรายังไม่อาจรู้ด้วยซ้ำว่าเอไอสามารถแยกแยะผิดหรือถูกได้จริงหรือไม่

ดูเหมือนจุดอ่อนหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่เอไอยังไม่สามารถขจัดอคติที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันได้ เมื่อเอไอรับข้อมูลจำนวนมากที่เต็มไปด้วยอคติแฝงของมนุษย์ อย่างเช่น เรื่องเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ สิ่งที่มนุษย์หวังอยากให้เอไอมาช่วยเหลืออย่างระบบการคัดเลือกบุคลากรให้ตรงกับความต้องการขององค์กรโดยปราศจากอคติต่างๆ ก็อาจพบปัญหาขึ้น เช่น นักวิจัยจำนวนมากพบว่า ผู้หญิงมักเห็นโฆษณาการหางานในตำแหน่งที่ได้เงินเดือนต่ำกว่าผู้ชาย หรือหากผู้จ้างงานค้นหาชื่อคนสมัครงานที่มีสัญชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ก็มีแนวโน้มจะเจอโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม แม้ว่าคนๆ นั้นจะไม่มีประวัติอาชญากรรมก็ตาม เซย์เน็ต ตูเฟ็กซี (Zeynep Tufekci) โปรแกรมเมอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสังคมวิทยาชาวตุรกีได้ทำนายว่า ระบบการคัดคนเข้าทำงานโดยเอไออาจจะคัดคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตหรือผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าออกไป ดังนั้นแล้ว เอไอในมุมหนึ่งที่แม้จะช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสในชีวิตให้คนๆ หนึ่งได้ มันก็อาจจะกดชีวิตบางคนให้ตกต่ำได้ด้วยเช่นกัน คำถามคือ นี่คือสังคมที่เราอยากได้หรือไม่ หากไม่ใช่ การให้อำนาจเครื่องจักรในการตัดสินใจเรื่องบางอย่างแทนมนุษย์ โดยที่เรายังไม่อาจเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ คงต้องมาพิจารณากันเสียใหม่ เพราะแม้ว่ามนุษย์จะเป็นเจ้าของมันสมองที่ชาญฉลาดเพียงใด แต่หากยังสอบตกในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การจะหวังให้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยแก้ปัญหานี้ก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ที่มา : วิดีโอ “Machine intelligence makes human morals more important” (มิถุนายน 2016) โดย Zeynep Tufekci จาก ted.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ