เอสโตเนีย : สร้างชาติใหม่ ไร้พรมแดน
Technology & Innovation

เอสโตเนีย : สร้างชาติใหม่ ไร้พรมแดน

  • 04 Oct 2018
  • 97550

จากที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ประชาชนมีฐานะยากจน โทรศัพท์ไม่มีใช้ และไร้ซึ่งทรัพยากรหรือความสามารถในการแข่งขันดั่งเช่นประเทศอื่น เอสโตเนีย ประเทศขนาดเล็กที่ในอดีตมีน้อยคนนักที่จะบอกตำแหน่งที่ตั้งของพวกเขาบนแผนที่โลกได้ สามารถล้างกระดานแห่งอดีตและผันตัวเองให้กลายเป็นสังคมดิจิทัลที่ประกาศให้ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสิทธิ์พื้นฐานของมนุษยชน ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง จ่ายภาษี หรือจดทะเบียนบริษัท อีกทั้งเป็นแหล่งรวมโปรแกรมเมอร์มากฝีมือจนได้รับสมญานามว่าเป็น “ซิลิคอนแวลลีย์แห่งยุโรป” พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี

ริโฮ แตร์ราส (Riho Terras)

ล้มกระดาน สร้างชาติใหม่
“พวกเราไม่มีอะไรเลย” ริโฮ แตร์ราส (Riho Terras) ผู้บังคับการกองกำลังติดอาวุธของเอสโตเนีย เล่าถึงช่วงเวลาที่เอสโตเนียได้เอกราชคืนมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 หลังจากที่อยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ประชาชนได้รับเงินคนละประมาณ 10 ยูโรเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ “เรามีแค่นั้น เราเริ่มต้นทุกอย่างจากเงินในกระเป๋าคนละ 10 ยูโร” ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์มีน้ำมันเหลือเฟือ สวีเดนมีลายเซ็นงานออกแบบที่ชัดเจน เอสโตเนียไม่มีแม้แต่ทรัพยากรหรือความสามารถในการแข่งขันที่น่าจดจำ “คุณคิดถึงอะไรเมื่อคุณได้ยินชื่อลิทัวเนียหรือสโลเวเนีย นึกอะไรไม่ออกเลย” เตวิ กอตกา (Taavi Kotka) ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงแห่งเอสโตเนียกล่าว ด้วยทรัพยากรที่จำกัดและจำนวนประชากรเท่าหยิบมือ ผู้นำเอสโตเนียในเวลานั้นจึงมองหาวิธีพลิกฟื้นประเทศจากความซบเซาหลังสงคราม การมาถึงของอินเทอร์เน็ตและเวิล์ดไวด์เว็บทำให้พวกเขามองเห็นอนาคตของประเทศไปไกลกว่าสภาพความจริงและเลือกเดินบนเส้นทางที่จะพาเอสโตเนียไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พวกเขาฝันไกลและรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน

ในปี 1996 โทมัส เฮ็นดริก อิลเวส (Toomas Hendrik Ilves) อดีตประธานาธิบดีของเอสโตเนีย ปูทางให้ชาวเอสโตเนียนพร้อมเดินบนเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่สังคมดิจิทัลด้วยโครงการ Tiger's Leap ที่มุ่งลงทุนในการพัฒนาและขยายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศสำหรับภาคการศึกษา คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกห้องเรียนในเอสโตเนีย นักเรียนชั้นประถมทุกคนรู้วิธีการเขียนและออกแบบโปรแกรม ในขณะที่เอสโตเนียกำลังสร้างคนผ่านระบบการศึกษา พวกเขายังเตรียมสร้างเมืองให้พร้อมเป็นสังคมดิจิทัลในเวลาเดียวกัน ความจริงที่ว่าแค่ในช่วงเวลานั้น มีแค่ครึ่งประเทศที่มีโทรศัพท์ใช้ ไม่ได้ทำให้เอสโตเนียย่อท้อแต่อย่างใด พวกเขาปฏิเสธที่จะเริ่มต้นสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากระบบโทรศัพท์บ้านและเริ่มลงทุนในระบบอินเทอร์เน็ตใยแก้วนำแสงแบบไร้สาย ภายในปี 2000 เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิ์พื้นฐานของมนุษยชน

 
ไม่ต้องไปสถานที่ราชการ บริการทุกอย่างทำออนไลน์

เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ และภาษาคอมพิวเตอร์กลายเป็นภาษาที่สองสำหรับชาวเอสโตเนีย เอสโตเนียจึงเริ่มยุทธศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้นพร้อมกับผลักดันให้กลายเป็นความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่แท้จริง ในปี 1997 เอสโตเนียเริ่มโปรเจ็กต์ e-Governance ผ่านเว็บไซต์ e-Estonia (https://e-estonia.com/) ที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสามารถทำธุรกรรมตามเวลาที่สะดวกได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภาษีออนไลน์ คือหนึ่งในบริการแรกๆ ที่ได้รับการจัดทำขึ้นและช่วยให้ประชาชนสามารถจ่ายภาษีได้เสร็จเรียบร้อยภายใน 5 นาที ความสะดวกรวดเร็วนี้ทำให้ในแต่ละปีมีชาวเอสโตเนียใช้บริการยื่นภาษีออนไลน์ถึงร้อยละ 95 หลังจากนั้นบริการออนไลน์อื่นๆ อีกมากมายก็ได้ถูกจัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การจดทะเบียนการค้า การเซ็นรับรองเอกสาร การเปิดบัญชีธนาคาร ประกันสุขภาพ หรือการนัดพบหมอ เมื่อประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องไปสถานที่ราชการเพื่อรับบริการ เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ประจำการตามสถานที่ราชการ ค่าใช้ในจ่ายในการดูแลงานส่วนนี้จึงค่อยๆ ลดลง จะมีเพียงแค่ไม่กี่บริการที่ยังไม่สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า และการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2002 การทำธุรกรรมออนไลน์สมบูรณ์แบบมากขึ้น เมื่อชาวเอสโตเนียเริ่มถือบัตรดิจิทัลไอดีหรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมากกว่าแค่บัตรแสดงตัวตน แต่เป็นบัตรสำหรับใช้เข้ารับบริการต่างๆ บนเว็บไซต์ e-Estonia “เมื่อคุณเล่าถึงบัตรดิจิทัลไอดีนี้ หลายคนจะถามว่าทำไมฉันถึงจะต้องการใช้บัตรที่ว่า แต่เมื่อคุณเพิ่มบริการต่างๆ ที่สามารถทำผ่านบัตรใบนี้ได้ คุณสามารถซื้อรถยนต์จากห้องนั่งเล่นของคุณ หรือเมื่ออากาศข้างนอกติดลบ 40 องศาและคุณเพิ่งคลอดลูกเล็ก คุณคงไม่อยากไปที่เขตเพื่อลงทะเบียนชื่อของลูก คุณสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ได้” ซิเร็ต ชัตติง (Siret Schutting) เจ้าหน้าประจำโปรเจ็กต์ e-Estonia กล่าว

เมื่อเอสโตเนียต้องการส่งเสริมให้ผู้คนใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ของภาครัฐ รัฐบาลจึงมอบสิทธิ์ในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวเพื่อเป็นการซื้อใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลจากประชาชน ชาวเอสโตเนียสามารถใช้บัตรดิจิทัลไอดีล็อกอินเข้าระบบ เพื่อตรวจสอบว่ามีใครที่เข้ามาดูข้อมูลของตนอย่างไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ถ้าพบว่าแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ประจำตัวของตนเข้ามาดูประวัติเรื่องยาหรือการรักษา เจ้าตัวมีสิทธิ์แจ้งผู้ตรวจสอบข้อมูลของรัฐสภาเพื่อขอตรวจสอบสาเหตุการรุกล้ำข้อมูลได้ บริการมากมายบนเว็บไซต์ e-Estonia สามารถเกิดขึ้นได้จากการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันบน X-Road ที่เป็นเส้นทางหลักของระบบเน็ตเวิร์กที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2001 เพื่อช่วยส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ X-Road ได้รับการพัฒนาขึ้นในลักษณะการกระจายข้อมูลไว้ตามเซิร์ฟเวอร์ของแต่ละหน่วยงานและสามารถเรียกข้อมูลเพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตามต้องการ เมื่อข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ถูกรวมอยู่ที่เดียวกัน การจัดการเรื่องความปลอดภัยจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการรวมศูนย์ข้อมูล อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแล นอกจากนี้ X-Road ยังเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ได้หลากหลายรูปแบบทำให้สามารถขยายระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกันนี้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การรวมบริการจากหน่วยงานต่างๆ ไว้ในรูปแบบออนไลน์เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ในเดือนเมษายนปี 2007 ที่ทำให้ระบบธนาคาร รัฐสภา โทรคมนาคม ตลอดจนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศล้มเหลวทั้งหมด “พวกเราพึงพาระบบออนไลน์เป็นอย่างมาก เราไม่มีเอกสารที่เป็นหลักฐานต้นฉบับเก็บไว้” มาร์ติน รูเบล (Martin Ruubel) ประธาน Guardtime บริษัทซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยกล่าว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เอสโตเนียมุ่งสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้กับสังคมดิจิทัลของพวกเขา และนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความร่วมมือป้องกันไซเบอร์แห่งนาโต้ ในกรุงทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนีย อีกทั้งก่อตั้ง “สถานทูตแห่งข้อมูล” ในประเทศลักเซมเบิร์ก สถานทูตแห่งนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นแหล่งแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมดของเอสโตเนียเพื่อให้พร้อมต่อการรีบูตประเทศถ้าหากเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ในอนาคต

 
e-Residency ประชากรออนไลน์

สังคมดิจิทัลที่เอสโตเนียต้องการสร้างขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ทางกายภาพและประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ต้องการไปให้ไกลกว่านั้นด้วยการเป็นสังคมดิจิทัลที่เปิดรับผู้คนจากทั่วโลกให้เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน เอสโตเนียเริ่มโครงการ e-Residency ในปี 2014 เพื่อเปิดประเทศแบบไร้พรมแดน ต้อนรับชาวต่างชาติที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นประชากรออนไลน์เพื่อได้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้เช่นเดียวกับชาวเอสโตเนีย ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ e-Residency จะได้รับบัตรดิจิทัลไอดีสำหรับเข้าใช้บริการออนไลน์ต่างๆ เช่น การลงชื่อและการเซ็นรับรองแบบดิจิทัลเพื่อยืนยันตัวตนใน การจัดตั้งบริษัทที่ใช้เวลาแค่ประมาณ 15 นาที และจดทะเบียนกับธนาคารในเอสโตเนียเพื่อเริ่มทำธุรกิจ รวมทั้งดำเนินการด้านภาษีได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากว่ากรมสรรพากรของเอสโตเนียเชื่อมต่อระบบเข้ากับธนาคาร การกรอกข้อมูลภาษีจึงสามารถทำได้อย่างสะดวกผ่านบัตรดังกล่าว การเข้าร่วม e-Residency ทำได้สะดวกเพียงกรอกข้อมูลสมัครออนไลน์พร้อมอธิบายเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมถึงอยากเข้าร่วม แนบพาสปอร์ตพร้อมรูปถ่าย ชำระเงินประมาณ 100 ยูโรและยืนยันการสมัครที่สถานทูตเอสโตเนีย ถ้าคุณได้รับสิทธิ์ e-Residency ทางสถานทูตจะแจ้งให้ไปรับบัตรดิจิทัลไอดีซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียงประมาณหนึ่งเดือน

แม้ว่าการถือสิทธิ์ e-Residency ไม่ได้หมายถึงการได้สัญชาติเป็นชาวเอสโตเนียนหรือได้สิทธิ์ในการเดินผ่านตม. ที่สนามบินเพื่อเข้าประเทศ แต่สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจ นี่คือโอกาสที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะการถือสิทธิ์ e-Residency เปรียบเสมือนใบเบิกทางที่น่าเชื่อถือสำหรับการทำธุรกิจในยุโรป อีกทั้งสามารถบริหารจัดการธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทที่ไหนเมื่อไรก็ได้ตามสะดวก ความสะดวกสบายนี้เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจต่างชาติสนใจเข้าร่วมมากขึ้น และคือจุดแข็งที่เอสโตเนียมุ่งสร้างเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ถ้าต่างชาติสามารถดำเนินธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ของเอสโตเนียได้อย่างสะดวก พวกเขาอาจจะสนใจตั้งธุรกิจที่นี่ ใช้บริการของธนาคารเอสโตเนีย จ่ายค่าบริการนิดหน่อยเพื่อรับบริการต่างๆ เพราะเอสโตเนียสามารถมอบบริการต่างๆ ที่ทำให้การจัดการธุรกิจง่ายขึ้นกว่าการทำธุรกิจในประเทศของเขาเอง  “เอสโตเนียกำลังแข่งขันกับเพื่อนบ้านในเรื่องคุณภาพของส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน (UI : User Interface)  คุณอาจจะเปลี่ยนไปใช้บริการของอีกธนาคารเพียงเพราะโมบายแอพพลิเคชันดีกว่าธนาคารที่คุณใช้อยู่ ชาวเอสโตเนียต่างหวังว่าคุณจะย้ายธุรกิจของคุณมาอยู่ในประเทศที่มีระบบโครงสร้างที่ใช้ง่ายมากกว่า” เบน แฮมเมอร์สลีย์ (Ben Hammersley) นักเขียนชาวอังกฤษกล่าว

 
 
ซิลิคอนแวลลีย์แห่งยุโรป

การเตรียมพร้อมด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และบริการต่างๆ ให้พร้อมสำหรับเส้นทางสู่สังคมดิจิทัลทำให้เอสโตเนียกลายเป็นแหล่งรวมโปรแกรมเมอร์มากฝีมือและบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกภายในไม่กี่ทศวรรษ เกิดเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ชัดเจนของประเทศอย่างที่ตั้งใจ โปรแกรมสื่อสารแบบวีโอไอพี (VoIP ย่อมาจาก Voice over Internet Protocol คือการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) ทำให้คนทั่วโลกสามารถติดต่อกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Skype คือหนึ่งในผลงานการันตีความสามารถของชาวเอสโตเนีย “ฟินแลนด์มีโนเกีย เราไม่มีแบรนด์ชื่อดัง แต่หลังจาก Skype ถูกคิดค้นขึ้น ทุกคนเริ่มใช้ Skype ก็เป็นเหมือนนามบัตรสำหรับเอสโตเนีย เราภูมิใจมาก” ไฮดี เฮอินพาลู (Heidy Heinpalu) ผู้จัดการออฟฟิศ Skype ประจำเอสโตเนียกล่าว โทมัส เฮ็นดริก อิลเวส ประธานาธิบดีของเอสโตเนียเคยพูดติดตลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “มีไม่กี่คนหรอกที่รู้ว่าเอสโตเนียอยู่ที่ไหน แต่ทุกคนรู้จัก Skype ผมเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่เป็นต้นกำเนิด Skype ครับ”

นิคลัส เซนน์สตรอม (Niklas Zennström) เยนุส ฟรีส (Janus Friis) อาห์ติ เฮอินลา (Ahti Heinla) ปรีต์ คาเซซาลู (Priit Kasesalu) และ ญานน์ ทาลลินน์ (Jaan Tallinn) โปรแกรมเมอร์ชาวเอสโตเนียร่วมกันพัฒนา Skype และเปิดตัวโปรแกรมในเดือนสิงหาคมปี 2003 Skype มีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 19.8 ล้านคนในเวลาเพียงหนึ่งปี ความสำเร็จนี้เชิญชวนให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง eBay ซื้อ Skype ไปในราคา 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2005 และ Microsoft ซื้อ Skype ไปในราคา 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2011 การซื้อขายครั้งนั้นทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น เพราะร้อยละ 44 ของพนักงาน Skype ยังทำงานอยู่ในเอสโตเนีย ความสำเร็จอันท่วมท้นของ Skype คือประตูแห่งโอกาสที่พาพวกเขาไปทำงานที่ไหนก็ได้ดั่งใจฝัน แต่อดีตพนักงานของ Skype เลือกที่จะอยู่และลงทุนในเอสโตเนีย พวกเขาก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ และควักกระเป๋าจ่ายเงินลงทุนให้กับธุรกิจเหล่านั้น “ผู้คนคิดว่าถ้าชาวเอสโตเนียสามารถสร้างผลงานอย่าง Skype ได้ ฉันเองก็ทำได้เหมือนกัน” แอนดราส อกส์ (Andrus Oks) จากบริษัท Terra Venture Partners บริษัทเงินลงทุนในกรุงทาลลินน์กล่าวในปี 2014 อาห์ติ เฮอินลา และเยนุส ฟรีส จาก Skype ร่วมก่อตั้ง Starship Technologies บริษัทสัญชาติเอสโตเนียนที่นำเสนอ Starship หุ่นยนต์ส่งอาหารที่วิ่งให้บริการในเมืองเรดวูด ซิตี้ รัฐแคลิฟอร์เนียและกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชัน DoorDash หรือ Postmates ความสนใจในบริการนี้มีมากขึ้นจนกระทั่งปี 2017 บริษัท Domino Pizza ใช้บริการของ Starship ส่งอาหารให้กับผู้คนในเมืองฮัมบรูก์ ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ Starship กำลังทดลองระบบการส่งอาหารในเมืองใหญ่ๆ อีกมากมาย ซึ่งรวมถึงกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปี 2011 ตาเวต ฮินริคุส (Taavet Hinrikus) พนักงานคนแรกของ Skype ร่วมก่อตั้ง TransferWise กับบริษัทให้บริการโอนเงินออนไลน์ ที่คิดค่าบริการโอนเงินต่างประเทศในราคาที่เหมาะสมและช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จุดแข็งดังกล่าวทำให้ในปัจจุบัน TransferWise ดูแลการโอนเงินจากทั่วโลกมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน มีออฟฟิศทั้งหมด 9 แห่งและมีพนักงานกว่า 600 คนใน 4 ทวีป

ในปี 2017 เอสโตเนียมีจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งหมด 413 ราย อาจจะฟังดูเป็นจำนวนที่ไม่มากแต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในเอสโตเนียทั้งหมด ถือว่ามีจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพสูงถึง 31 ธุรกิจต่อ 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพในยุโรปคือ 5 ธุรกิจต่อจำนวนคน 100,000 คน คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนักว่าเอสโตเนียอาจจะยังไม่ได้ครองความสำเร็จด้านเทคโนโลยีได้เหมือนรุ่นพี่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น แต่จากประเทศที่ไม่มีแม้แต่ทรัพยากรหรือความสามารถทางการแข่งขันใดๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเล็กๆ แห่งนี้สามารถสร้างรากฐานที่แข็งแรงด้านเทคโนโลยีให้กับทรัพยากรคน และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจนสามารถพลิกสถานการณ์สร้างชาติใหม่ให้เป็นสังคมดิจิทัลไร้พรมแดนที่ก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ภายในเวลาไม่กี่สิบปี เพียงแค่นี้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร

 
ที่มา: 
บทความ “Concerned about Brexit? Why Not Become an E-Resident of Estonia” โดย Ben Hammersley จาก 
wired.co.uk
บทความ “Chapter 2: Welcome to Estonia, Silicon Valley with a Moat” จาก microsoft.com
บทความ “Don't Skype Me: How Microsoft Turned Consumers Against a Beloved Brand” โดย Dina Bass และ Nate Lanxon จาก bloomberg.com
บทความ “Is This Tiny European Nation a Preview of Our Tech Future?” โดย Vivienne Walt จาก http://fortune.com
บทความ “Skype, eBay Divorce: What Went Wrong” โดย Jeff Bertolucci จาก pcworld.com
e-estonia.com
starship.xy
 

เรื่อง : ชาลินี วงศ์อ่อนดี