มุมชวนคิดเพื่อการเรียนรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์
Technology & Innovation

มุมชวนคิดเพื่อการเรียนรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์

  • 05 Oct 2018
  • 39253

[Featured Book]
The Book of Why: The New Science of Cause and Effect
โดย Judea Pearl และ Dana Mackenzie

คำว่า “ทำไม” นั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรม เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาคำตอบ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอนาคต การที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม” สิ่งที่ต้องเข้าใจลำดับแรกคือ อะไรคือ “สาเหตุ” และเราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “Correlation doesn’t imply causation.” ซึ่งเป็นการย้ำเตือนให้ระวังเสมอว่า สิ่งที่มันอาจสัมพันธ์กันนั้น มันอาจไม่เป็นเหตุเป็นผลระหว่างกัน มันไม่ได้บ่งบอกถึงสาเหตุ และเพื่อไม่ให้ตกหลุมพลางของความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล ที่บางครั้งคล้ายว่ามีอิทธิพลต่อกัน แต่แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ได้บอกอะไรก็เป็นได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักสถิติรู้ดีว่าต้องอาศัยการพิสูจน์และหาปัจจัยเงื่อนไขที่สร้างผลกระทบเพื่อหาสาเหตุต่อไป

ในทางคณิตศาสตร์เมื่อมีสมการหนึ่งให้พิสูจน์ เช่น x = yz การที่จะบอกว่า x เป็นสาเหตุของ z นั้นไม่ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากทั้งสามตัวแปรล้วนสามารถสร้างผลกระทบให้กับตัวแปรที่เหลือ ดังนั้นคงพูดไม่ได้อย่างชัดเจนว่าตัวแปรหนึ่งเป็นตัวทำให้เกิดอีกตัวแปรหนึ่งขึ้นมา และด้วยหลักการนี้ สถิติจึงมุ่งเน้นไปที่การสรุปผลที่ได้จากข้อมูล มากกว่าการตีความ อนุมานถึงสาเหตุ ซึ่งศาสตราจารย์เพิร์ล ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้เห็นว่าบางสิ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลหรือที่เรามักได้ยินศัพท์ที่คุ้นหูอย่าง Big Data และอาจทำให้เสียเวลาและพลาดโอกาส หากไม่นำเอาความสัมพันธ์และข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นมาร่วมพิจารณาถึงสาเหตุ 

ผู้แต่งได้นำเสนอระดับขั้นของการหาสาเหตุว่ามี 3 ระดับที่แตกต่างกัน ระดับแรก จากการมองเห็น การสังเกต หรือการเข้าไปมีส่วนร่วม แล้วอ้างอิงจากข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์และเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งปัจจุบันองค์ความรู้ของเทคโนโลยีในกลุ่ม Machine Learning ยังอยู่ในระดับแรกนี้เท่านั้น ระดับที่สอง จากการลงมือกระทำอะไรบางอย่าง แล้วประมวลผลที่จะเกิดขึ้น จากคำถามถ้าทำเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไหร่ อย่างไร และระดับที่สาม จากการจินตนาการเชิงเปรียบเทียบกับสิ่งที่ยังไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และทำไมถึงได้ผลเช่นนั้น 

หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงศาสตร์อันเป็นที่มาของเหตุและผล ซึ่งเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจของมนุษย์ และเป็นองค์ความรู้สำคัญสำหรับการสร้างปัญญาประดิษฐ์

[Book]
Superintelligence
โดย Nick Bostrom

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเทคโนโลยีฉลาดมากๆ และวันหนึ่งมันอาจฉลาดกว่ามนุษย์ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เทคโนโลยีที่ฉลาดเหล่านั้นจะไม่ใช่ภัยคุกคามมนุษยชาติ ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้จากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันถึงยุคของการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องรอรับคำสั่งจากมนุษย์แล้ว อีกไม่เกิน 50 ปี เราอาจจะได้เห็นเครื่องจักรสามารถคิดเชื่อมโยงความรู้ในสาขาที่แตกต่างกัน และมีความสามารถเข้าใกล้สมองของมนุษย์เข้าไปทุกที สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ เราจะสามารถควบคุมเทคโนโลยีที่ฉลาดกว่าเรานั้นได้จริงหรือ เมื่อมันเก่งมากๆ มนุษย์จะเข้าสู่ภาวะที่เราขาดเทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้ และปัญญาประดิษฐ์อาจกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะสร้างขึ้น ความหวังเดียวจึงอาจเป็นนอกจากที่จะให้เครื่องจักรคิดแต่เรื่องประสิทธิภาพที่ดีที่สุดเพื่อจะไปถึงเป้าหมายเท่านั้น อาจต้องใส่ความรู้ความเข้าใจด้านจริยธรรม และการอยู่ร่วมกันกับสังคมมนุษย์ให้เครื่องจักรได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

[Book]
HELLO, ROBOT
DESIGN BETWEEN HUMAN AND MACHINE

จากนิทรรศการ Hello, Robot. Design between Human and Machine ที่จัดแสดงที่ Vitra Design Museum ในปี 2017 นำเสนอให้เห็นถึงบทบาทของหุ่นยนต์ในมิติต่างๆ และแนวคิดเรื่องหุ่นยนต์นั้นเกิดขึ้นมานานจนแทบแยกออกจากชีวิตของเราไม่ได้ กระทั่งหนังสือที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อนิทรรศการได้ถูกจัดทำขึ้นมาหลังจากนั้น พร้อมนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของคำว่า “Robot” ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ที่มีต่อกัน อาทิ การที่การ์ตูนและภาพยนตร์ในยุคหลังๆ สร้างมโนทัศน์ว่าหุ่นยนต์ไม่ได้เป็นแค่ศัตรู แต่เป็นมิตรกับเรา หรือหากวันหนึ่งหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนเรา โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไปไกลจนถึงขั้นที่ว่าหุ่นยนต์และมนุษย์กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกหนึ่งความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการจัดหน้าหนังสือ (Layout) ด้วยระบบอัลกอริทึม โดยร่วมมือกับ Double Standard จากเบอร์ลิน ถือเป็นการทดลองนำหุ่นยนต์มาสร้างสรรค์งานออกแบบ แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะดูกระจัดกระจาย แต่กลับสะท้อนให้เราเห็นว่าการรับรู้ความงาม (Sense of Aesthetics) นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้หุ่นยนต์ต่างจากมนุษย์ แต่ก็เป็นไปได้ที่ในอนาคตความคิดนี้จะหายไป และเราอาจได้เห็นหุ่นยนต์สร้างงานออกแบบแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์

[ TV Series]
Secret Forest (Stranger)

ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้รักษาความยุติธรรมนำอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ฮวางชีมก อัยการหนุ่มจากทีวีซีรีย์ Secret Forest คืออัยการมือฉมังทว่ามีปัญหาด้านบุคลิกภาพเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์จากผลพวงการผ่าตัดสมองในวัยเด็ก เมื่อประสาทความรู้สึกด้านอารมณ์ธรรมชาติ รัก โลภ โกรธ หลง เยี่ยงมนุษย์ไม่ตอบสนอง เขาจึงไม่ต่างอะไรจากสมองกลอัจฉริยะ การพิจารณาคดีความในความรับผิดชอบของฮวางซีมกจึงปราศจากความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ กระบวนการพิพากษาประมวลผลจากหลักฐานทุกประเภทที่เกี่ยวข้อง สามารถชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ตั้ง -ตอบคำถามเชิงจริยธรรมว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด จึงเชื่อได้ว่าคำพิพากษาจากฮวางชีมกนั้นยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดจากข้อบกพร่องของมนุษย์ มีแนวโน้มสูงว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence จะเป็นหนึ่งทางเลือกที่เข้ามารับบทบาทผู้ผดุงความยุติธรรมแทนที่มนุษย์ก็เป็นได้

เรื่อง : เลอชาติ ธรรมธีรเสถียร รัชดาภรณ์ เหมจินดา และอำภา น้อยศรี