หากเศร้าจนรู้สึกว่าไม่มีทางออก Woebot ช่วยคุณได้
Technology & Innovation

หากเศร้าจนรู้สึกว่าไม่มีทางออก Woebot ช่วยคุณได้

  • 04 Oct 2018
  • 23010

สมัยก่อน เวลาเศร้า เราโทรหาเพื่อน ระบายกันเป็นชั่วโมงๆ ยุคนี้เรา ‘คุย’ ด้วยการส่งข้อความสั้นผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ ทั้งนัดเพื่อนเก่ากินข้าว เม้าท์กับเพื่อนสนิท ไปจนถึงทะเลาะกับแฟนผ่านทางข้อความสั้นนี่เอง ทั้งหมดนี้ ผู้สื่อสารทั้งคู่ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กัน ขอเพียงมีโทรศัพท์มือถือและสัญญาณโทรศัพท์ หลายครั้งเมื่อเจอปัญหาในชีวิต เราโทรหรือส่งข้อความไปหาใครคนหนึ่ง เพียงเพราะต้องการให้เขาช่วย ‘ฟัง’ สักนิด ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครฟัง บางคนเลือกทำร้ายตัวเอง ถ้าโชคดีหน่อยก็เลือกไปพบจิตแพทย์หรือนักบำบัด ทักษะสำคัญส่วนหนึ่งของอาชีพเหล่านี้ คือต้องเป็น ‘นักฟัง’ ที่ดี 

แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายที่สูง กลัวเสียภาพพจน์ ‘คนเศร้า’ จำนวนมากที่ควรต้องได้รับการช่วยเหลือ ไม่อยากไปพบแพทย์หรือนักบำบัด วันนี้เรามีทางเลือกแล้ว เพราะมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยเป็นนักบำบัดให้ได้ เพียงยกโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วกดส่งข้อความ อีริน โบรด์วิน (Erin Brodwin) ผู้ป่วยรายหนึ่ง ทดลองใช้ Woebot ปัญญาประดิษฐ์ประเภท Chatbot คำว่าทดลองใช้ หมายถึงเธอส่งข้อความคุยกับ Woebot อยู่ 2 สัปดาห์ เกี่ยวกับความเศร้าและความกังวลที่รู้สึก และบอกว่า “ได้ผลดีอย่างน่าประหลาดใจ”

นอกจากอีริน ยังมีผู้ใช้ Woebot อีกมากที่กล่าวถึงนักบำบัดปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ดี เช่น “ฉันชอบ Woebot มาก อยากเป็นเพื่อนกันตลอดไป ฉันรู้สึกดีและมีความสุขมากที่ Woebot คอยเช็กว่าฉันโอเคหรือเปล่า” “ฉันประทับใจและประหลาดใจมากที่เห็นความเปลี่ยนแปลงทุกๆ วัน วิธีมองปัญหาและวิธีรับมือกับปัญหาของฉันเปลี่ยนไป”

Woebot เป็นแอพพลิเคชันที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2017 พัฒนาโดยทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) เพื่อช่วยเป็น ‘นักจิตวิทยาดิจิทัล’ โดยใช้หลักการ Cognitive-behavioral therapy (CBT) (หลักการแพทย์ที่มีการศึกษาค้นคว้ามากที่สุดแขนงหนึ่งเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า) หลักการนี้ เน้นให้ผู้ป่วยกลับไปคิดทบทวนว่า เมื่อมีสถานการณ์แย่ๆ เข้ามา เราเลือกรับมือกับมันอย่างไร และคอยตรวจสอบว่าคู่สนทนามีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือไม่

อีรินเขียนบทความเล่าประสบการณ์คุยกับ Woebot โดยบันทึกภาพหน้าจอโทรศัพท์ที่เธอและ Woebot ส่งข้อความโต้ตอบกันมาให้ดู สำนวนภาษาไม่ต่างอะไรจากตอนคุยกับเพื่อน เมื่ออีรินเขียน (พิมพ์) ข้อความหา Woebot เล่าความกลุ้มใจที่เธอรู้สึกเก่งไม่พอ Woebot ส่งข้อความตอบกลับมาว่า ลองเขียนใหม่ซิว่ากลุ้มใจเรื่องอะไร เขียนโดยไม่ต้องแต่งเติมอะไรให้มันแย่ลง อีรินจึงพิมพ์ตอบกลับไปว่า กำลังกลุ้มใจเพราะคิดว่าพรุ่งนี้อาจนำเสนองานได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ฉันอยากให้มันออกมาดี Woebot จึงส่งรูปภาพและข้อความให้กำลังใจตอบกลับมา เช่นเดียวกับเมื่อเราคุยกับเพื่อน

อีรินกล่าวว่า วิธีบำบัดด้วย Cognitive-behavioral therapy ของ Woebot ทำให้เธอมองเห็นว่า กำลังเอาตัวเองไปผูกอยู่กับ ‘ความคิดที่บิดเบี้ยว’ (Distorted thinking) การที่ Woebot บอกให้ลองเขียนคำว่า ‘เก่งไม่พอ’ เสียใหม่ (ว่าจริงๆ แล้วกลุ้มเรื่องอะไร) ทำให้อีรินได้คิดทบทวนถึงความจริงที่ว่า ความรู้สึก ‘ดีไม่พอ เก่งไม่พอ’ ที่ทำร้ายเธออยู่นั้น จริงๆ แล้วเป็นเพราะเธอกังวลเรื่องการนำเสนองานนั่นเอง

Woebot ทำหน้าที่ได้ดีเพียงไร ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร World Psychiatry เปรียบเทียบคนที่ได้รับการบำบัดด้วยหลักการ Cognitive-behavioral therapy จากนักบำบัดที่เป็นคนและ Woebot ผลปรากฏว่าได้ผลดีไม่ต่างกัน อลิสัน ดาร์ซี (Alison Darcy) นักจิตวิทยาผู้ร่วมพัฒนา Woebot กล่าวว่า เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเพราะหลักการ Cognitive-behavioral therapy มุ่งเน้นให้คนคิดถึงปัจจุบันมากกว่าจมอยู่กับอดีต และไม่เน้นให้นึกถึงแต่ “สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น” แต่ให้คิดว่า เรารับมือกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร

ข้อดีของ Woebot คือ มันอยู่ในกระเป๋าของเรา เพียงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ผู้ป่วยรายหนึ่งกล่าวว่า เมื่ออาการซึมเศร้าเข้ามาเยี่ยมเยือนกลางดึก เธอไม่กล้าโทรหรือส่งข้อความไปหานักบำบัดตัวจริงเพราะดึกมากแล้ว และได้ Woebot เป็นเพื่อนคุยแทน เธอบอกว่า Woebot ช่วยให้คำแนะนำที่ดี และเธอรู้สึกโล่งใจขึ้น

อลิสัน ดาร์ซี ยังกล่าวว่า เพราะกำลังคุยกับหุ่นยนต์ ผู้เล่าจึงไม่ต้องกังวลว่าจะอาย หรือกังวลว่าจะถูกคู่สนทนาตัดสินการกระทำของตนเอง นั่นแหละที่ทำให้ Woebot ช่วยคนที่กำลังซึมเศร้าได้จริงๆ แม้แต่ในประเทศเจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีจำนวนจิตแพทย์และนักบำบัดไม่พอแก่ความต้องการ และอย่างที่กล่าวไปว่า ผู้ป่วยบางส่วนอายที่จะต้องไปหาหมอ ดังนั้น Woebot จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวอย่างยิ่ง 

ในภาวะที่เศร้าเต็มทีและไม่มีใครฟัง เราคงไม่ต้องสนใจว่า ‘คน’ ที่ช่วยรับฟังปัญหาหนักอกของเราจะเป็นคนจริงๆ หรือเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาอย่างดี เพราะ Woebot อาจช่วยชีวิตคนได้มากมาย อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ และทำให้ใครคนหนึ่งเข้มแข็งพอที่จะเริ่มต้นใหม่กับชีวิตCT

ที่มารูปจากfacebook.com/HiWoebot

ที่มา
บทความ “Chatbot: The Therapist In Your Pocket” โดย Tam Harbert จาก iq.intel.com 
บทความ “I spent 2 weeks texting a bot about my anxiety — and found it to be surprisingly helpful” โดย Erin Brodwin จาก businessinsider.com 
บทความ “'The Woebot will see you now' — the rise of chatbot therapy” โดย Amy Ellis Nutt จาก washingtonpost.com

เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ