มุมชวนคิดเพื่อความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน
Technology & Innovation

มุมชวนคิดเพื่อความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • 03 Nov 2018
  • 12612

[Report] 
The New Plastics Economy: Rethinking the future of plastics
โดย World Economic Forum, Ellen MacArthur Foundation และ McKinsey & Company

ด้วยประโยชน์มากมายของพลาสติก ทำให้ช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ความต้องการพลาสติกได้เพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า และอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ทุกวันนี้แต่ละปีมูลค่าของวัสดุพลาสติกหายไปจากระบบเศรษฐกิจ เฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์ก็มีมูลค่าสูงถึงราวสามล้านล้านบาท ซึ่งหนึ่งในสามของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ได้หลุดรอดจากกระบวนการจัดเก็บด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะหลุดไปสู่ทะเล วงจรธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหากับระบบโครงสร้างสาธารณะ โดยที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า เราไม่มีกำลังมากพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ลำพังแค่ปลายทาง ถ้าไม่ย้อนกลับมาแก้ไขยังจุดเริ่มต้น และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน

รายงานฉบับนี้จะช่วยให้มองเห็นทางเลือกในการอยู่ร่วมกับพลาสติกในอนาคต กระตุ้นให้ทุกคนในวงจรผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่นักวิจัย ผู้ผลิต เจ้าของธุรกิจ นักออกแบบ ผู้ใช้ คนเก็บขยะ คนรีไซเคิล ไปจนถึงภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการเลิกใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อลดการสูญเสียมูลค่า และใช้ประโยชน์ได้สูงสุดจากวัสดุ ตลอดจนนำมาหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบการผลิตอีกครั้งได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อมองลงไปที่ปัญหาอย่างจริงจัง เราจะพบโอกาสมากมายที่รออยู่ และโอกาสเหล่านั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล คำถามก็คือ ในยุคที่ทุกคนตื่นตัวในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ เราจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างยั่งยืน

ดาว์นโหลดรายงานได้ที่นี่

[Documentary] 
Closing the Loop – A Documentary Film About the Circular Economy

โดย Graham Ehlers Sheldon และ Rin Ehlers Sheldon​

“Unless we go to Circular it's game over for the planet; it's game over for society”. คือคำโปรยของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Closing the Loop ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งมีความยาวมากที่สุดของโลก โดยได้สำรวจ 5 กลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายการหมุนเวียน (circularity) คือ การลดการใช้ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) การต่ออายุ (renew) และการบูรณาการ (reinvent) โดยสำรวจจาก 3 ทวีป ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อสื่อสารหนทางเดียวที่โลกจะอยู่รอด พร้อมกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

http://www.closingtheloopfilm.com

[Book] 
Waste to Wealth: เปลี่ยนขยะเป็นทอง 
โดย สิงห์ อินทรชูโต 
 

 “Waste to Wealth” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก iTAP, TMC, สวทช. และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย เพื่อนำเอาเศษวัสดุที่ไม่มีคุณค่าในเชิงอุตสาหกรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ หัวใจหลักของโครงการนี้ คือการออกแบบและสร้างผลผลิตชิ้นใหม่ขึ้นจากเศษวัสดุเหลือใช้เพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าของวัสดุ เนื้อหาในเล่มนำเสนอแนวคิดในด้านการออกแบบและการผลิตเพื่อยกระดับขยะเหลือใช้ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบของชิ้นงานและในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ดูข้อมูลหนังสือได้ที่ library.tcdc.or.th/record/view/b00032367

[Research]   
การนำ Technical Textiles มาใช้ในการผลิตสินค้าพืชอินทรีย์ (The use of technical textiles in organic crop production) 
โดย อังคณา ธนกัญญา 

รายงานการวิจัยเรื่อง “การนำ Technical Textiles มาใช้ในการผลิตสินค้าพืชอินทรีย์”   (The use of technical textiles in organic crop production) เป็นรายงานวิจัยที่ว่าด้วยการนำสิ่งทอเทคนิคมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยผลิตสินค้าพืชอินทรีย์ อาทิ วัสดุคลุมดินในแปลงอินทรีย์ วัสดุห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้อินทรีย์ เป็นต้น โดยจุดที่น่าสนใจของรายงานวิจัยเล่มนี้คือ การนำเศษเหลือของสิ่งทอเทคนิคที่หมดอายุการใช้งานมาผสมเป็นวัสดุปลูกไม้ประดับกระถาง ซึ่งเป็นการฉีกระบบเศรษฐกิจแบบ“ใช้ – ผลิต – ทิ้ง” และต่อยอดก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง

ดูข้อมูลหนังสือได้ที่ library.tcdc.or.th/record/view/b00012318

เรื่อง : เลอชาติ ธรรมธีรเสถียร วัชรี พุ่มจีน สุทินา เหรียญทอง และ สุชานันท์ สาลีพันธ์