
เรียบง่ายให้ได้อย่าง “คอสตาริกา”
มีความมั่นใจอะไรให้ประเทศเล็กๆ ที่แม้แต่ชื่อยังไม่ติดหูอย่างคอสตาริกา กล้าประกาศกับชาวโลกว่าจะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งและลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะทำได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก
แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “สิ่งที่เราทำกับโลก ย่อมส่งผลถึงตัวเรา” (What you do to the Earth, you do to yourself.) ตามแบบฉบับของชาวคอสตาริกานั้น อาจเป็นพลังแรงกล้าไม่น้อยที่คอยส่งเสริมให้คำประกาศิตที่ให้ไว้ดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้ และวิธีการทำคำมั่นสัญญานี้ให้สำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมก็เริ่มต้นขึ้นแล้วจากการลงมือจัดการขยะหลังบ้านของพลเมือง การบริหารธุรกิจภายในชาติที่ต้องยั่งยืน และการมีนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

อาจนับได้ว่าเป็นความโชคดีทางภูมิศาสตร์ ที่ในยุคจักรวรรดิสเปนยังเรืองอำนาจเหนือดินแดนในทวีปอเมริกาใต้ได้มองข้ามคอสตาริกา อาณาจักรเล็กๆ ที่อยู่ล่างสุดของเขตแดนการปกครอง บวกกับที่ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบตัดขาดจากดินแดนอื่นใกล้เคียง และมีชนพื้นเมืองที่สามารถนำมาใช้เป็นแรงงานทาสได้เป็นจำนวนน้อย ทำให้ชาวสเปนน้อยคนนักจะเลือกลงหลักปักฐานที่ดินแดนแห่งนี้ จนหลังยุคอาณานิคมสเปนสิ้นสุดลง คอสตาริกากลายเป็นดินแดนที่ล้าหลังที่สุดในหมู่เพื่อนบ้าน แต่ความที่ใครๆ ก็ยังไม่สนใจคอสตาริกากลับกลายเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง เพราะในช่วงทศวรรษ 1980 ยุคที่เกิดสงครามเย็นและสหรัฐอเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา คอสตาริกากลับรอดพ้นการแทรกแซงครั้งนี้ แต่ก็ถูกเลือกให้เป็นประเทศกันชนฝ่ายคอมมิวนิสต์ของประเทศติดกันอย่างนิการากัว โดยสหรัฐฯ เลือกจ่ายเงินมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญฯ เพื่อแลกกับการให้ทหารฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตนตั้งการ์ดอยู่ในดินแดนคอสตาริกา
©facebook-com/olasverdes
ดีต่อโลก ดีต่อคอสตาริกา ดีต่อเรา
โดยปกติแล้ว ธุรกิจที่ต้องคืนประโยชน์กลับสู่สิ่งแวดล้อมก็เพราะพวกเขาได้พรากบางอย่างไปจากสังคม แต่แนวคิดนี้ไม่ใช่ในกรณีของคอสตาริกา
หากมาดูในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ที่เป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศนี้ชาวคอสตาริกาต่างรู้ดีว่าหากพวกเขาไม่ดูแลรักษาสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้อย่างผืนป่า ภูเขา และทะเล รายได้ที่นำมาหล่อเลี้ยงครอบครัวและธุรกิจก็จะหายไป ปัจจุบันธุรกิจประเภทโรงแรมรีสอร์ตไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่จึงพยายามรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อย่างเช่น โรงแรม Olas Verdes ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในกัวนาคาสเต (Guanacaste) หนึ่งในพื้นที่เขตสีฟ้าที่ได้ชื่อว่ามีผู้อยู่อาศัยสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ก็ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตัวเองในสัดส่วน 20-35% ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้บริการกับแขกที่เข้าพักทั้งหมดด้วยวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ รวมทั้งใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แน่ใจว่าหลังทำความสะอาดเสร็จแล้วน้ำทิ้งที่ไหลกลับคืนสู่ระบบนิเวศจะไม่เป็นพิษต่อแม่น้ำลำคลองและท้องทะเล พร้อมทั้งจัดเตรียมจักรยานให้แขกได้ปั่นชมธรรมชาติแทนการเช่ารถยนต์หรือจักรยานยนต์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและเสียงรบกวน รวมทั้งร้านอาหารฟิวชั่น El Manglar ในโรงแรมก็ใช้แผนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกเช่นกัน โดยทุกเช้า เจ้าของร้านจะเลือกซื้อวัตถุดิบออร์แกนิกที่มาจากท้องถิ่นกว่า 70% ในครัวมีระบบจัดการของเหลือทิ้งโดยการนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักต่อไป ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบบ้านของพวกเขาเท่านั้น แต่ในแง่ธุรกิจ โรงแรม Olas Verdes มียอดการเติบโตพุ่งสูงขึ้นถึง47% ในปี 2017 ด้วยส่วนใหญ่เพราะพวกเขาสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปได้มาก
“การอยู่ในประเทศเล็กๆ ที่เป็นเจ้าของความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง 5% (หนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก) มีประโยชน์มากก็จริง แต่มันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ การดำเนินงานอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นทางเลือก แต่มันคือความรับผิดชอบหลัก ในฐานะผู้บริโภค เรามีพลังในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยการสนับสนุนธุรกิจที่ยึดมั่นว่าจะรับผิดชอบต่อสังคม” หลุยส์ ปาร์โด (Luis Pardo) ผู้จัดการโรงแรมกล่าวทิ้งท้าย
นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นพระเอกหลักของประเทศนี้แล้ว อุตสาหกรรมทางการเกษตรก็มีบทบาทไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน โดยเฉพาะกาแฟที่เป็นผลผลิตส่งออกมูลค่ามากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นาธาเนล จอห์นสัน (Nathanael Johnson) นักข่าวชาวอเมริกันที่เดินทางไปสำรวจไร่กาแฟในคอสตาริกาวิเคราะห์ให้ฟังว่า แม้ชาวไร่ที่นี่จะเป็นเจ้าของพื้นที่ไร่กาแฟเล็กๆ แต่ก็มีการรวมกลุ่มกันที่เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะกลุ่ม CoopeTarrazú ที่เกษตรกรกว่า 400 เจ้าผนึกกำลังกันบริหารและจัดการผลผลิตกาแฟภายในกลุ่มเป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว ทำความสะอาด ทำให้แห้ง และส่งขายเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมให้กับบริษัทผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา “รัฐบาลจะไม่ทำอะไรที่ส่งผลกระทบกับเรื่องกาแฟโดยไม่ปรึกษาพวกเราก่อน” เฟลิกซ์ มองจ์ (Félix Monge) ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของกลุ่ม อธิบายสั้นๆ ให้เห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนของการรวมกลุ่มเกษตรกรที่นี่ นอกจากเรื่องความเข้มแข็งของกลุ่มชาวไร่กาแฟแล้ว สมาชิกเกินกว่าครึ่งของกลุ่ม CoopeTarrazú ยังสามารถผลิตกาแฟคุณภาพที่ได้รับตราสัญลักษณ์รับรองจาก Rainforest Alliance อันเป็นหลักฐานยืนยันว่าไร่กาแฟของพวกเขาเป็นมิตรต่อสัตว์ป่า ดิน น้ำ และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งมีการใช้แรงงานที่โปร่งใสด้วยเช่นกัน
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...
คำประกาศของกาลอส อัลวาราโด (Carlos Alvarado) ประธานาธิบดีของประเทศคอสตาริกาที่บอกว่าจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้สุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2021 คงไม่เกินจริงไปนัก เมื่อการไฟฟ้าแห่งคอสตาริกาได้เฉลิมฉลองความสำเร็จจากการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้นานถึง 300 วัน (พลังงานส่วนใหญ่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ประเทศสามารถผลิตได้เอง)
ความสำเร็จที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2017 นี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติในการเป็นผู้นำประเทศสายเขียว เพราะคอสตาริกาเริ่มฟูมฟักการปลูกต้นไม้นับล้านๆ ต้นไว้ตั้งแต่ปี 1984 ซึ่งในขณะนั้น ประเทศมีพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 26 จนกระทั่งวันนี้พื้นที่ป่ามีมากกว่าร้อยละ 52 อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรเป็นหน่วยงานเดียวกันภายใต้ชื่อ “Ministry of Environment, Energy and Telecommunications: MINAET” เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ อีกทั้ง MINAET ยังให้เงินสนับสนุนเจ้าของที่ดินที่เลือกบริจาคที่ดินส่วนบุคคลเพื่อฟื้นฟูเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ด้วยเหตุผลที่ว่าพื้นที่สีเขียวของพวกเขาจะกลายเป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมท้องถิ่นต่อไป เช่น การประมงและการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนสำหรับธุรกิจที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยเงินสนับสนุนที่นำมาใช้ก็มาจากต้นทุนการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.5 ในปัจจุบันนั่นเอง
นอกจากเรื่องการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดและคิดค้นวิธีการลดคาร์บอนในประเทศแล้ว ในเรื่องของมาตรการการลดใช้ถุงพลาสติกของคอสตาริกาที่มีผลกับการช่วยลดคาร์บอนอีกทางหนึ่งก็น่าสนใจไม่น้อย เมื่อกระทรวงสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และพลังงานของคอสตาริการ่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) ภายในประเทศให้ได้ภายในปี 2021 และระหว่างนี้นักศึกษาและนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมยังช่วยกันระดมสมองเพื่อคิดค้นพลาสติกที่ผลิตจากพืช โดยเฉพาะการใช้กล้วยซึ่งถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรอันดับต้นๆ ของประเทศ มาเป็นส่วนประกอบในการผลิตถุงพลาสติกไร้พิษภัยครั้งนี้ด้วย โดยถุงพลาสติกจากกล้วยของพวกเขานั้นมีความทนทานมากกว่าถุงพลาสติกทั่วไปถึง 5 เท่า สามารถย่อยสลายได้เองภายใน 18 เดือน และยังปล่อยสารที่มีคุณสมบัติกำจัดศัตรูพืชระหว่างการย่อยสลายได้อีกต่างหาก อีกทั้งคอสตาริกายังวางแผนจะแทนที่ถุงพลาสติกปกติ ด้วยพลาสติกที่สามารถละลายน้ำได้ภายใน 6 เดือนโดยไม่เป็นพิษกับท้องทะเล ด้วยความกังวลที่ว่า ปัจจุบันชาวคอสตาริกาสร้างขยะมูลฝอยรวมกันกว่า 4 พันตันต่อปี แต่มีเพียง 1 ใน 5 ของขยะทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ นั่นหมายความว่าขยะที่เหลือยังคงถูกทิ้งอยู่ในระบบนิเวศอย่างในท้องทะเลและผืนป่าที่ชาวคอสตาริกาหวงแหน และหากคนในประเทศยังคงนิ่งเฉยกับปัญหาดังกล่าว ภายในปี 2050 ท้องทะเลในประเทศจะมีพลาสติกแหวกว่ายอยู่มากกว่าจำนวนปลาทั้งหมดของพวกเขาเสียอีก ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคอสตาริกาจึงตื่นตัวในเรื่องการจัดการขยะกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
คอสตาริกา ประเทศที่ (กำลัง) พัฒนาแล้ว
หลายคนคงคิดว่าชาวคอสตาริกาโชคดีที่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังนำมาสร้างเป็นพลังงานสะอาดใช้กันในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า คอสตาริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ต้องการจะยกระดับความเจริญให้ทั่วถึงอยู่เช่นกัน แต่การถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาพัฒนาประเทศให้ได้รับการยอมรับจากสากลว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่คอสตาริกาจะเลือกแทนที่การมุ่งมั่นพัฒนาชาติให้ยั่งยืนเฉกเช่นที่ทำอยู่ทุกวันนี้ และนี่อาจสรุปได้เพียงคำเดียวสั้นๆ ว่า “¡Pura Vida!” คำพูดติดปากของชาวคอสตาริกาที่ใช้กล่าวทักทาย ปิดท้ายประโยค รวมทั้งเป็นคำบอกลา ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Pure Life” (ชีวิตที่บริสุทธิ์) และการดำเนินชีวิตให้บริสุทธิ์ของผู้คนที่นี่ก็คือ การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายด้วยการใช้หลักคิดที่ว่า ‘สิ่งที่มีอยู่นั้นดีอยู่แล้ว’ ชาวคอสตาริกาจึงรู้สึกขอบคุณในทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้เป็นเจ้าของ และพยายามช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างดีที่สุดนั่นเอง
©Unsplash/Andrea Reiman
Five Fun Facts about Costa Rica
|
ที่มา :
ข้อมูลประเทศคอสตาริกา โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ (มิถุนายน 2556)
บทความ "Costa Rica Sets Goal To Become The First Country To Ban Single-Use Plastic" (เมษายน 2018) จาก greenmatters.com
บทความ "Costa Rica has an ambitious new climate policy — but no, it’s not banning fossil fuels" (กรกฎาคม 2018) จาก vox.com
บทความ "Costa Rica has run on green energy for 300 days" (พฤศจิกายน 2017) จาก weforum.org
บทความ "Costa Rica modernized without wrecking the environment. Here’s how." (ธันวาคม 2016) จาก grist.org
บทความ "How Costa Rica is going green" (พฤษภาคม 2012) จาก costarica.com
บทความ "How This Costa Rican Business Makes Sustainability Profitable" (มีนาคม 2018) จาก forbes.com
บทความ "Want to avert the apocalypse? Take lessons from Costa Rica" (ตุลาคม 2017) จาก theguardian.com
บทความ "What is the Meaning of Pura Vida?" (ตุลาคม 2018) จาก internationalliving.com
บทความ "Why getting rid of Costa Rica's army 70 years ago has been such a success" (มกราคม 2018) จาก usatoday.com
เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ