
สฤณี อาชวานันทกุล: ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ระหว่างรอบล็อกเชนมา อย่าเพิ่งซักกางเกงยีนส์
นี่คือบทสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วยความชัดเจนในทุกคำตอบแบบไม่มีอะไรให้เสียเวลาคิด
ไม่ใช่เรื่องแปลก ก่อนที่คำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นที่รู้จัก และความยั่งยืนจะเป็นภาคบังคับของเราทุกคน ใครที่ติดตามผลงานของสฤณี อาชวานันทกุล คงเห็นตรงกันว่า เธอเกาะติดเรื่องนี้มานาน
ล่วงเลยมาจนถึงวันที่เค้าลางหายนะระบบนิเวศมาเยือน จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่จะกลับไปอัพเดตความรู้จากเธอ ไม่ว่าจะในฐานะนักวิชาการอิสระ นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวทางสังคม ไปจนถึงในฐานะผู้บริโภค
โดยเฉพาะในฐานะนักธุรกิจผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวิจัย “ป่าสาละ” ซึ่งมีพันธกิจในการปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน
จนถึงตอนนี้ เธอมีหนังสือออกมาแล้วกว่า 60 เล่ม ไม่แปลกหากคนที่ติดตามผลงานของเธอจะพลาดอะไรไปบ้าง แต่จงอย่าพลาดที่จะอ่านบทความนี้ ที่เป็นส่วนผสมของความหวังและความจริงซึ่งเราทุกคนอาจต้องยอมรับ และช่วยกันตอบให้ได้ว่าจะปักธงไว้ตรงไหน-อย่างไร
- ตั้งคำถามให้ง่าย อะไรคือความไม่ยั่งยืน
แม้ป่าสาละคือพื้นที่ปลูกความยั่งยืน แต่สฤณีบอกว่าความไม่ยั่งยืนกลับทำให้เห็นภาพชัดเจนกว่า “เท่าที่ทำงานมา ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าความยั่งยืนคืออะไรยังน้อย อาจจะแค่รู้สึกว่ามีปัญหา แต่การมองให้ชัดมันก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นคนที่เริ่มตื่นตัวเขาจะคิดว่าใช้ถุงผ้าก็โอเคแล้ว ซึ่งไม่ใช่
- ธรรมชาติไม่มีเส้นตรง และตลาดที่ตกคำนวณ
“จริงๆ แล้วภาวะโลกร้อน ในทางเศรษฐศาสตร์มันคือความล้มเหลวของตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจแบบเส้นตรง มันเป็นเศรษฐกิจที่ตักตวงต้นน้ำ ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ คุณเอาทรัพยากรมาผลิตสินค้าซึ่งในกระบวนการผลิตมันมีมลพิษ มีอะไรต่างๆ โดยคุณอาจจะรู้หรือไม่ก็ได้ ผลิตเสร็จก็ขาย พอเอามาใช้ปลายทางคือทิ้ง กลายเป็นขยะ มันจึงมีแนวคิดเรื่อง externalities หรือการวัดผลกระทบภายนอกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ธุรกิจอาจไม่ได้รับไว้ทั้งหมด
- คำถามใหญ่ใกล้ตัว เสียสละหรือรักสบาย
มีบางแนวคิดที่มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนนำไปสู่ความยั่งยืนได้โดยไม่ต้องลดทอนความสามารถในการบริโภค “คิดว่าเรื่องนี้มันเชิงปรัชญาแล้วนะ คือมันมีสองฝ่าย ฝ่ายแรกเชื่อว่าเทคโนโลยีแก้ปัญหาได้ทุกอย่างในโลก เราไม่ต้องเสียสละอะไรเลย สบายมายังไงเราต้องสบายได้ต่อไป กับอีกฝ่ายที่เชื่อว่าต้องจัดการกับพฤติกรรมหรือแรงจูงใจเราด้วย คุณต้องเสียสละบ้างสิ เพราะคุณก็สบายมานานแล้ว
- รักสบายน้อยหน่อย เปิดทางให้เทคโนโลยีมากหน่อย
แต่ใช่ว่าการตั้งความหวังกับเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องเสียหาย ตรงกันข้าม ในวันที่มาตรฐานส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยีจึงเป็นที่พึ่งสำคัญ “มาตรฐานต่างๆ มันเป็นสินค้าในตัวมันเอง มันต้องมีเรื่องความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีปัญหามาก แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชนช่วยได้ อย่างตอนนี้ก็มีแนวร่วมอันหนึ่งชื่อ Food Trust ที่ไอบีเอ็มจับมือกับวอลมาร์ต รวมถึงบริษัทอาหารใหญ่ๆ เอาบล็อกเชนมาทำระบบตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร สืบสาวกลับไปว่าต้นทางมาจากไหนอย่างไร ถ้าเกิดบล็อกเชนมันเวิร์กจริงแล้วเอาไปใช้อย่างแพร่หลาย มาตรฐานก็อาจไม่จำเป็นแล้วก็ได้”
- เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนสินค้าเป็นบริการ
“เทคโนโลยีมีอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นเยอะมาก เช่นวัสดุศาสตร์ที่มีการค้นคว้าทดลองรวดเร็วมาก อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องวัสดุชีวภาพ สารสังเคราะห์ที่มีส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ที่ไม่เป็นอันตราย ประจวบเหมาะกับช่วงนี้ที่โลกเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลพอดี มันก็ช่วยในการเปลี่ยนแนวคิดจากสินค้าเป็นบริการได้ดีมาก ของหลายอย่างกลายเป็นแพลตฟอร์ม บริษัทอย่างอูเบอร์ แกร็บ เหล่านี้แม้จะมีปัญหาเช่นไม่ดูแลพนักงาน ปัดความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ข้อดีของมันคือไม่ผลิตอะไรเลย เป็นแค่แพลตฟอร์มให้คนที่ต้องการใช้รถมาเจอคนที่มีรถ ซึ่งมันเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่”
- โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี และไม่มีอะไรง่าย
“แต่ตัวอูเบอร์หรือแกร็บก็ไม่ใช่ไม่มีต้นทุน เพราะต้องใช้พลังงานมหาศาลในการสร้างศูนย์ข้อมูลทั้งหลาย แล้วต่อให้คุณเปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนสินค้าเป็นบริการ แต่สุดท้ายแล้วถ้าคุณยังบริโภคมโหฬาร มันก็ยากอยู่ดี ยกตัวอย่างผู้นำด้านธุรกิจยั่งยืนอย่างยูนิลีเวอร์ ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่งเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนที่ใช้ของยูนิลีเวอร์ประหยัดมากขึ้น เขาก็ยอมรับว่าคืบหน้าช้ามาก ตั้งเป้าไว้แล้วไปไม่ถึง ดังนั้นเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ แต่เป็นเรื่องที่ว่าคุณจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ยังไงด้วย
อย่างตอนนี้มีเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมซึ่งสนุกมาก มีสตาร์ทอัพรายหนึ่งในอเมริกาชื่อ Opower ขายไอเดียว่าจะทำให้คนประหยัดไฟด้วยวิธีต่างๆ ทำแอพพลิเคชั่นด้วย ปรากฏว่าสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น ในบิลค่าไฟฟ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นเลยว่าเดือนที่ผ่านมาคุณใช้ไฟไปเท่านี้นะ เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วคุณอยู่ตรงไหน มีหน้ายิ้ม หน้าเศร้า คือถ้าคุณรู้สึกว่าใช้ไฟน้อยแล้ว แต่พอเปรียบกับเพื่อนบ้านเราใช้เยอะกว่าก็จะมีหน้าบึ้ง ซึ่งได้ผลมากเพราะคนต้องการแข่งขัน ฉันต้องประหยัดกว่าแกสิ”
- จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ บทเรียนจากลีวายส์
น่าดีใจว่าธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนพยายามหาวิธีสร้างแรงจูงใจเพื่อแก้พฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือซีอีโอของลีวายส์ที่ออกมาบอกลูกค้าว่าอย่าซักกางเกงยีนส์ “มันเข้าใจง่ายมาก และมีจุดขายด้วย ใช่…ถ้าไม่ซักสีมันเท่กว่า คือลีวายส์ศึกษาทั้งวงจรของตัวเอง แล้วพบว่าปัญหาใหญ่ก็คือต้นน้ำกับปลายน้ำ เพราะจุดที่ใช้น้ำเยอะมากคือในไร่ฝ้าย กับในเครื่องซักผ้าของลูกค้า ฝั่งต้นน้ำเขาก็แก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรฐาน BCI (Better Cotton Initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ดูแลเรื่องต้นน้ำและควบคุมการใช้พลังงานในการผลิตฝ้าย โดยทางลีวายส์วางนโยบายว่าจะพยายามสั่งซื้อฝ้ายเฉพาะจากไร่ที่มีตรานี้ ส่วนทางปลายน้ำก็ทำเคมเปญ (อย่าซักกางเกงยีนส์) ส่วนการผลิตที่อยู่ตรงกลางก็อยู่ในอำนาจที่ลีวายส์จัดการเองได้อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องคล้ายกันกับหลายบริษัทที่ซีเรียสเรื่องความยั่งยืน คือทำในสิ่งที่เขาควบคุมได้ก่อน หลังจากนั้นมองไปข้างหลัง คือ supply chain แล้วก็มองไปที่ value chain คือปลายน้ำ”
- แค่ไหนเรียกจริงจัง การเปลี่ยนผ่านของสตาร์บัคส์
เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ แน่นอนว่าธุรกิจจำนวนมากเผชิญแรงกดดัน แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำได้ง่ายๆ ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก “ยกตัวอย่างข้าวโพดที่มีปัญหาเรื่องการทำลายป่า สมมติว่าบริษัทอาหารสัตว์ทุกรายประกาศเลยว่าพรุ่งนี้เลิกรับซื้อข้าวโพด แล้วเกษตรกรจะเป็นยังไง เพราะเขาซื้อข้าวโพดมาเตรียมปลูกแล้ว สำหรับเกษตรกรอันนี้คือไม่รับผิดชอบ ถ้าจะแก้ปัญหา คนก็ต้องอยู่ได้ ธรรมชาติก็ต้องอยู่ได้ ซึ่งมันมีวิธีแต่มันต้องใช้เวลา ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า transition period (ระยะเปลี่ยนผ่าน)
ถ้าบริษัทใหญ่กำหนดมาตรฐานมาตูมเดียว แต่ไม่มีใครทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์ กรณีที่น่าสนใจมากคือสตาร์บัคส์ ซึ่งมีมาตรฐานเป็นของตนเองที่ชื่อว่า C.A.F.E ลองคิดดูว่าห่วงโซ่อุปทานของสตาร์บัคส์มันยาวขนาดไหน แต่เขาไม่ได้ไปด้วยมาตรฐานนี้ตัวเดียว เขาคิดด้วยว่าทำยังไงให้เกษตรกรไม่แย่ เลยไปจับมือกันกับ Conservation International ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่มีความรู้เรื่องการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ พอไม่ต้องตัดต้นไม้ก็แปลว่าต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนต่อ ตรงนี้สามารถเอาคาร์บอนเครดิตไปขาย แล้วเอาเงินไปอุดหนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนผ่าน เขาพยายามคิดแล้วปรับเป็นหลายๆ ชั้น สำหรับซัพพลายเออร์ใหญ่หน่อยก็อาจจะเข้มกว่า ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 7-8 ปี แต่ประเด็นคือเราเรียนรู้จากเขาได้” - ด่าธุรกิจได้ แต่ต้องเข้าใจด้วย
“ต้องยอมรับว่าธุรกิจมีสองแบบ เขาโดนด่า หรือเขามีวิสัยทัศน์ เป็นเรื่องที่ปกติมากที่ธุรกิจจะโดนด่า คือถ้าเราทำธุรกิจเราจะไปรู้เหรอว่าป่าไม้จะเป็นยังไง หรือจะมองเห็นไหมว่าคนที่อยู่ต้นน้ำเป็นยังไง มันไม่ใช่เรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ อย่างบริษัทในอเมริกาหรือยุโรปเขาก็พูดชัดเจนว่า เขาไม่ได้ทำสิ่งพวกนี้เพราะเขารักสิ่งแวดล้อม เขาแค่อยากอยู่รอด อยากรักษาความเป็นผู้นำ และเขาเชื่อว่าจะรักษาความเป็นผู้นำไม่ได้ ถ้าไม่จัดการเรื่องความยั่งยืน”
- เบื่อเอ็นจีโอก็ได้ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วย
“หากไม่มีเอ็นจีโอ หลายปัญหาเราอาจจะไม่เห็นก็ได้ แต่ช่องว่างอย่างหนึ่งในเมืองไทยคือมีเอ็นจีโอจำนวนไม่น้อยที่เกลียดธุรกิจ ยังไงก็เลว ต้องเข้าใจว่าเอ็นจีโอมีหลายประเภท อย่างในต่างประเทศถ้าเป็นเอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมจะเป็น dark green มีหน้าที่ตรวจสอบอย่างเดียวแต่ไม่มีวันที่จะไปเข้าร่วมกับธุรกิจได้ กับที่เป็นสาย bright green ร่วมมือกับธุรกิจได้ ซึ่งต้องอาศัยทั้งสองแบบ ถ้าคุณเป็นสายไบรท์ไปทำงานกับธุรกิจแล้วไม่มีสายดาร์กมาบอกว่าเป้าหมายในอุดมคติคืออะไร คุณอาจจะหลงทางเพราะธุรกิจอาจเลือกเป้าหมายที่ง่ายกับตัวเอง แต่ถ้ามีแต่สายดาร์ก คุณก็พูดได้อย่างเดียวว่าธุรกิจต้องอนุรักษ์วิ่งแวดล้อม แต่ว่าธุรกิจไม่มีคนไปช่วยเขา”
- ธุรกิจไทยทำได้ แต่ทำคนเดียวไม่ได้
เมื่อขอให้ยกตัวอย่างธุรกิจไทยที่จริงจังเรื่องความยั่งยืน ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) คือชื่อแรกที่เธอนึกออก “SCG เขาค่อนข้างบูรณาการจริงๆ แล้วมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เขาประกาศด้วยว่าจะเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับอาเซียน ซึ่งแปลว่าเวลาเขาไปเทคโอเวอร์บริษัทนอกประเทศ เขาต้องพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มองเรื่องความยั่งยืนด้วย แต่มันเหมือนกับการวิ่งแข่ง แล้วเขาวิ่งอยู่คนเดียว เพราะที่สองห่างจากเขาเยอะมาก ประเด็นคืออยู่คนเดียวจะสนุกยังไง คุณจะตั้งเป้าอะไรให้ตัวเอง คุณลองตั้งเป้าที่ท้าทายได้ไหม เช่น ในระดับอุตสาหกรรม คุณมีบทบาทยังไงในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมปูนหรืออุตสาหกรรมกระดาษให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
- นรกมีจริง และสิ่งที่ต้องทำ
“ไม่ทัน” คือคำตอบแบบไม่ต้องคิดเมื่อถามว่าเราจะหยุดยั้งหายนะระบบนิเวศทันไหม “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ขนาดมีรายงานมาเป็นสิบปีแล้วว่ากรุงเทพฯ จะจม มีการประเมินค่าเสียหายกันเป็นแสนล้าน ก็ไม่เห็นมีการพูดเรื่องนี้กันเลย
ทุกอย่างต้องเริ่มจากความตระหนักว่าถ้าไม่ทำแล้วจะแย่ แล้วต้องสร้างแรงจูงใจให้ถูกต้องด้วยการเปิดข้อมูลให้โปร่งใส ยกตัวอย่างเช่น กรมควบคุมมลพิษซึ่งมีข้อมูลเยอะไปหมด อย่างในอเมริกาคุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลแต่ละรายพื้นที่ได้เลย ดูได้เลยว่าโรงงานนี้ปล่อยสารอะไรบ้าง
กลไกที่สำคัญมากก็คือภาษีคาร์บอน ซึ่งตรงไปตรงมามาก ถ้าคุณคิดว่าการปล่อยคาร์บอนวันนี้มันเกินขนาดและทำให้เกิดปัญหา คุณต้องลงโทษ และการลงโทษที่ชัดเจนคือเก็บภาษีคาร์บอนไปเลย เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่อย่างนั้นคนที่ทำกับไม่ทำ (เรื่องความยั่งยืน) มันก็ต่างกัน
ความยากคือเราจะปักธงตรงไหนให้เกิดความคืบหน้าที่แท้จริง บางปัญหามันปักง่ายกว่าปัญหาอื่น เช่นเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะมีข้อมูลและหลักฐานชัดเจน IPCC¡ ก็บอกแล้วว่าต้องคุมให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาภายใน 2030 เพราะฉะนั้นเราก็ถอยกลับมาได้ในระดับของประเทศ ระดับของบริษัท ว่าเราควรจะปักธงเล็กๆ ของเราที่ประมาณไหน ตั้งเป้าหมายยังไงให้น่าเชื่อถือ แล้วนำไปคำนวณและวางแผนได้ แล้วการพัฒนายั่งยืนต้องนึกถึงการมีส่วนร่วม ทำยังไงให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมีส่วนร่วม มีอำนาจตัดสินใจ
คนไทยอาจจะมักง่าย ใจเย็น แต่จุดแข็งของเราคือเราร่วมไม้ร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีถ้าเป็นวิกฤตที่ถึงตัวแล้ว ดังนั้นต้องวาดภาพให้เห็นก่อนว่านรกมีจริง”
Creative ingredients หากอยากรู้จักเธอให้มากที่สุด เตรียมเรี่ยวแรงให้พร้อมแล้วลองแอบส่องหนังสือกว่า 1,700 เล่มที่เธออ่าน และอีกกว่า 60 เล่มที่เธอเขียนและแปล ทาง Goodreads หรือหากอยากตามต่องานวิจัยที่ป่าสาละทำ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.salforest.com |
¡ Intergovernmental Panel on Climate Change - คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรื่อง Little Thoughts