ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของมนุษย์ในยุค Anthropocene
Technology & Innovation

ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของมนุษย์ในยุค Anthropocene

  • 03 Nov 2018
  • 78968

ข่าวสำคัญมากๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือคำเตือนครั้งสุดท้ายของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยสรุปก็คือ รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ชัดว่าถ้ามนุษย์จะรักษาโลกนี้เอาไว้ได้ ทุกฝ่ายทุกประเทศต้องลงมือปฏิวัติรูปแบบเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และเรามีเวลาอีกไม่เกิน 12 ปีเท่านั้น ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล 

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่า เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และหากเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ นั่นหมายความว่า “เรา” ในความหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ และจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลักฐานสำคัญล่าสุดว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเรียกว่า Anthropocene หรือยุคมนุษย์ครองโลก หมายความว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและธรณีวิทยาในระดับสุดขั้ว ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในชั้นบรรยากาศอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ความเสื่อมโทรมอย่างหนักของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศตั้งแต่ยอดเขาไปจนถึงมหาสมุทร  รวมไปถึงวิกฤติขยะพลาสติกที่คุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในทะเลและกำลังย้อนกลับมาส่งผลต่อมนุษย์เอง

ท่ามกลางวิกฤตินานัปการ โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะอันเนื่องมาจากขยะ แนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในระยะหลังว่าจะเป็นทางออกของมนุษย์ในการก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน 

©Unsplash/Daniel Hjalmarsson

Circular Economy คือการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิต-ใช้-แล้วทิ้ง แบบเส้นตรง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง โดยใช้หลักว่ายิ่งผลิตออกมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างกำไรมากเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสินค้าเหล่านั้นจะไปถูกทิ้งอยู่ที่ไหนหรือสร้างผลกระทบอะไรบ้าง 

หลายคนอาจเข้าใจว่า Circular Economy ก็คือระบบการผลิตที่มีการรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ความจริง Circular Economy เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่แทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมบริการ การประสานเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ จนคล้ายกับการทำงานของระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

หัวใจสำคัญของ Circular Economy คือการกลับไปทำความเข้าใจการออกแบบและการทำงานของธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดและไม่เคยมีของเหลือใช้เกิดขึ้นเลย เพราะมีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า สสารทุกอย่างไม่มีวันสูญหายไปจากโลก 

หลักการผลิตและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างครบวงจร ของ Circular Economy คือความหวังว่าเราจะสามารถปฏิวัติสังคมจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม สามารถออกแบบโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม 

ลองมาทำความรู้จักที่มา ที่ไป และทำไม โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนไปหา Circular Economy

ขีดจำกัดของการเติบโต
ตอนที่รายงาน “ขีดจำกัดของการเติบโต หรือ The Limit to Growth โดย The Club of Rome กลุ่มนักวิชาการนักคิดสายความยั่งยืนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1972 โลกยังไม่รู้จักกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

รายงานฉบับสำคัญฉบับนั้นตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนา โดยใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ทำแบบจำลองหลายชุด โดยใช้ข้อมูลการเติบโตของประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการเกิด อัตราการตาย สถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ อัตราการบริโภค ผลผลิตอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่า ข้อสรุปของแบบจำลองหลายชุดได้ผลตรงกันว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อเนื่องอย่างไร้การควบคุมจนเกิดขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติ และโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิตและประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2050-2070 

ผลการศึกษารายงาน “ขีดจำกัดของการเติบโต” อายุ 45 ปี สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่างน่าทึ่ง แม้แต่ช่วงเวลาที่คาดว่าจะเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมก็สอดคล้องกันคือเป็นช่วงหลังปี 2050 ข้อสรุปอีกอย่างที่ตรงกันก็คือ หากทุกประเทศเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะได้มากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป 

ภาพที่ 1. แบบจำลองจากรายงาน ขีดจำกัดของการเติบโตภาษาไทย โดยมูลนิธิโลกสีเขียว

หากจะสรุปปัญหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็คือระบบการผลิตแบบเส้นตรงที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปโดยตรง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน สินแร่ รวมทั้งที่ดินซึ่งล้วนเป็นปัจจัยจำกัด หมายความว่า เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เศรษฐกิจยิ่งโต ก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ปัญหามลภาวะ มลพิษ ของเสียก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว 

การเติบโตแบบนี้นำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรแบบไร้การควบคุม ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ จนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขนานใหญ่ และการเพิ่มขึ้นอย่างผิดธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน  ที่ผ่านมาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสินแร่จึงพุ่งสูงควบคู่ไปกับการเติบโตของจีดีพีประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งเศรษฐกิจโตเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอัตราเร่งในการใช้ทรัพยากรรวดเร็วแบบทวีคูณ 

ภาพที่ 2. อัตราการใช้วัตถุดิบเทียบกับอัตราการเติบโตของ GDP โดยรวมทั่วโลก (1970-2015)

ยกตัวอย่างอินเดียซึ่งมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 เท่า แต่มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ความต้องการใช้แร่ 11 เท่า เชื้อเพลิงฟอสซิล 8 เท่า ชีวมวล 2.4 เท่า หรือรวมแล้วมีการใช้ทรัพยากรรายปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8 เท่า มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13 เท่า ด้วยเศรษฐกิจแบบเดิม เราจะเห็นอัตราการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จนเข้าใกล้ “ขีดจำกัด” ของโลกเข้าไปทุกขณะ 

ความสามารถในการถลุงใช้ทรัพยากรแบบไร้ขอบเขตของมนุษย์ สวนทางกับความจริงที่ว่าทรัพยากรของโลกมีอยู่จำกัด แม้เราจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าไปขนาดไหน แต่สุดท้ายความมั่นคงทางอาหาร สภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยและความอยู่รอดในระยะยาวของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาสมดุลของระบบนิเวศ หากเราไม่สามารถฟื้นฟูธรรมชาติและลงมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โอกาสที่นิเวศบริการต่างๆ จะพังทลาย สภาพเศรษฐกิจสังคมล่มสลายก็ดูจะไม่ไกลเกินจริง 

กลับมาหาความยั่งยืน
“We don’t have plan B because there is no planet B!” Ban Ki-moon, Former Secretary General United Nation

จริงอย่างที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติระหว่างปี 2007-2016 บัน คี มูน กล่าวไว้ “เราไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง!” แนวคิดที่ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าโลกใบนี้อีกแล้วนั้น ได้นำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายร่วมกันของโลก (Global Goals) เพื่อเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาให้หันกลับมาเน้นในเรื่องของความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในวันที่ 25 สิงหาคม 2015  สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีตัวแทนจาก 193 ประเทศได้ให้การรับรองรายงานสำคัญ “Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ไว้ 17 เป้าหมายใหญ่ตั้งแต่ประเด็น ความยากจน (SDG1) ความหิวโหย (SDG2) สุขภาวะ (SDG3) การศึกษา (SDG4) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG5) น้ำสะอาด (SDG6) พลังงานหมุนเวียน (SDG7) การงานและเศรษฐกิจที่เหมาะสม (SDG8) นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (SDG9) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) ไปจนถึง เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11) การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (SDG12) การแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (SDG13) การอนุรักษ์ป่าไม้ (SDG14) การคุ้มครองท้องทะเล (SDG15) สันติภาพ (SDG16) และ ความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (SDG17) โดยมีเป้าหมายรองที่เกี่ยวข้องอีกทั้งหมด 169 หัวข้อ 

ภายในเวลาไม่นาน SDGs กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของประเทศเกือบทุกประเทศทั่วโลก และช่วยให้ฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายพัฒนาหันมาพูดภาษาเดียวกันก็ว่าได้ คือไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน เราก็ควรร่วมมือกันผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สำคัญ ไม่ลำพังรัฐบาลเท่านั้นที่ใช้ SDGs ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ SDGs ได้กลายเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าที่สำคัญของภาคธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทขนาดใหญ่ต่างนำเอา SDGs มาใช้กำหนดทิศทางงานด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการประเมินความสำเร็จของโครงการต่างๆ  

ในปี 2015 ยังมีงานวิจัยสำคัญระดับโลกอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ใน Science วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เรื่องขยะพลาสติกจากบกสู่ทะเล (Plastic waste inputs from land into the ocean) โดย ดร.เจนนา เจมเบก (Jenna Jambeck) แห่งวิทยาลัยวิศวกรรม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ซึ่งนับเป็นงานวิจัยแรกที่มีการคำนวณปริมาณขยะพลาสติกที่หลุดรอดจากบนบกสู่ทะเลในระดับโลก งานวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่าทุกปีมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากถึง 275 ล้านตันและในจำนวนนี้ได้หลุดรอดลงสู่ทะเลระหว่าง 4.8 ล้านตันถึง 12.7 ล้านตัน หรือโดยเฉลี่ยมากกว่า 8 ล้านตันต่อปี ขยะเหล่านี้ย่อยสลายยากและหมุนเวียนอยู่ในทะเลหลายร้อยปี

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีนกทะเลกว่าร้อยชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลกว่า 30 ชนิดกินพลาสติกจนเป็นอันตรายถึงชีวิต โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UN Environment) ประเมินว่าแต่ละปี ขยะพลาสติกสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลกถึงปีละ 2.8 แสนล้านบาท

เมื่อกระแสความยั่งยืนและวิกฤตการณ์ด้านขยะทะเลกลายเป็นความสนใจร่วมกันของคนทั้งโลก จึงไม่แปลกใจที่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับการชูโรงว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษยชาติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกไปด้วยในคราวเดียวกัน 

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

เปลี่ยนเส้นตรงให้เป็นวงกลม
เมื่อพลังงานและวัตถุดิบเป็นปัจจัยจำกัด และการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือก เศรษฐกิจแนวใหม่ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (Linear: Make-Use-Dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return)  ซึ่งเป็นพื้นฐานของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม 

เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อสร้างต้นทุนด้านสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยหลักการสามด้านได้แก่ 1) การออกแบบที่ปราศจากขยะและมลภาวะ 2) รักษาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบให้ใช้ได้นานที่สุด และ 3) ฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติ โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น

ในแง่นี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่แค่การลดผลกระทบของระบบผลิตแบบทางตรง แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทัศน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ที่จะส่งผลบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม 

คงจะเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่และใครเป็นผู้ค้นคิด เพราะแนวความคิดแบบวงกลม หรือการหมุนวนเป็นวงจรมีรากลึกในทางประวัติศาสตร์และปรัชญาหลายสำนัก หากสังเกตสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะพบว่าแทบทุกสิ่งล้วนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นวงรอบ ถ่ายทอด เปลี่ยนผ่าน สอดประสานกันอย่างลงตัว ของเสียจากสิ่งหนึ่งกลายเป็นอาหารให้กับอีกสิ่งหนึ่ง แร่ธาตุและพลังงานถูกถ่ายทอดและหมุนวนกลับมาใช้ได้ใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด 

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 นับเป็นช่วงเวลาเบ่งบานของสำนักคิดโดดเด่นหลายแห่งที่เริ่มนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น Performance Economy ของ สถาปกนิก วอลเตอร์ สตาเฮล (Walter Stahel) ที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของ Economy in Loops เศรษฐกิจวงจรปิดที่เน้นการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ การประหยัดทรัพยากร และลดการเกิดของเสียจากการผลิต 

©Unsplash/Cristian Newman

Industrial Ecology ซึ่งเป็นการศึกษาการเคลื่อนย้ายวัสดุและพลังงานในระบบการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตแบบวงจรปิด นำเอาของเหลือจากการผลิตมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ Natural Capitalism ที่ให้ความสำคัญของต้นทุนธรรมชาติ ได้แก่ น้ำ ดิน อากาศและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งมวล โดยเน้นการปฏิวัติการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น พัฒนาระบบการผลิตวงจรปิดเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายเป็นบริการ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อีกแนวคิดสำคัญที่นับว่าเป็นเบ้าหลอมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบันก็ว่าได้ ก็คือกระบวนทัศน์แบบ “จากอู่สู่อู่” (Cradle to Cradle) ของสองคู่หู ไมเคิล บรอนการ์ต (Michael Braungart) นักเคมีชาวเยอรมัน กับ วิลเลียม แม็กโดโน (William McDonaugh)  สถาปนิกชาวอเมริกัน ทั้งสองชี้ว่าลำพังการทำธุรกิจตามหลัก 3R คือ Reduce (ลด) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาแปรรูปใหม่) นั้นไม่เพียงพอ เพราะรากปัญหาของการพัฒนาแบบล้างผลาญตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ที่โมเดลการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองขนานนามว่าเป็นแบบ “Cradle-to-Grave” (“จากอู่สู่สุสาน”) ซึ่งหมายถึงเริ่มต้นด้วยการตักตวงทรัพยากรจากแหล่งกำเนิด (Cradle) แล้วไปจบที่สู่สุสานขยะกองโต (Grave)

โมเดลการผลิตแบบ “อู่สู่อู่” มองวัสดุและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นเหมือนกับสารอาหารและแร่ธาตุ โดยแบ่งออกเป็นกลไกทางชีวภาพ (biological metabolism) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหาร แชมพู สบู่ และกลไกทางเทคนิค (technical metabolism)  สำหรับสินค้าอื่น ๆที่ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น รถยนต์ เสื้อผ้า โทรศัพท์ และการให้บริการรูปแบบอื่นๆ 

สามแนวทางหลักของ Cradle-to-Cradle ที่มีความคล้ายคลึงกับ Circular Economy มากๆ ก็คือ เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะไม่สร้างของเสีย หรือเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน และให้ความเคารพต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา 

Cradle-to-Cradle (C2C) ถูกยกระดับและพัฒนาขึ้นเป็นมาตรฐานรับรองให้กับสินค้าที่ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดดังกล่าว และให้การรับรองโดย Cradle to Cradle Products Innovation Institute โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 5 ด้าน คือ 1.คุณสมบัติของวัสดุ (ความปลอดภัยทางเคมี และความสามารถในการย่อยสลาย) 2.ความสามารถในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ 3.แหล่งพลังงานหมุนเวียน 4.การดูแลจัดการน้ำ และ 5. ความเป็นธรรมทางสังคม  

ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 260 แห่งที่เข้าร่วมกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้าให้เป็น C2C และมีผลิตภัณฑ์ประมาณ 600 ชนิดที่ได้รับตรารับรอง C2C แล้ว ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของการผลิตและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

นวัตกรรมจากธรรมชาติ
“โลกที่ยั่งยืนนั้นมีอยู่แล้ว...แค่เรามองเข้าไปในธรรมชาติ”  คือคำยืนยันของ เจนีน เบนยัส (Janine Benyus) ผู้เขียนหนังสือ ชีวลอกเลียน: นวัตกรรมบันดาลใจจากธรรมชาติ (Biomimicry: Innovation Inspired by Nature) เมื่อปี 1997 และร่วมก่อตั้งสถาบันชีวลอกเลียน Biomimicry Institute ขึ้นเมื่อปี 2006 ซึ่งนับว่าเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่เธอให้นิยามว่าเป็นการศึกษารูปแบบและกระบวนการทำงานของธรรมชาติที่น่าทึ่งที่สุดเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ 

เจนีน บอกว่านักออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องศึกษางานออกแบบมากมายเพื่อที่จะรวบรวมความคิด ตัดนู่น แปะนี่ เพื่อมองหาว่าจะนำไอเดียต่างๆ มาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร 

เธอเชื่อว่า นักออกแบบสามารถลอกเลียนไอเดียดีๆ จากธรรมชาติได้มากมาย เพราะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มากถึง 5-10 ล้านชนิด แต่ละชนิดผ่านวิวัฒนาการมานับพันล้านปี ปัญหาหลายอย่างที่มนุษย์เจออยู่ทุกวันนี้ เป็นปัญหาเดียวกับที่ธรรมชาติเจอมาแล้ว ซึ่งเราสามารถเลียนแบบธรรมชาติได้ 3 แบบตั้งแต่ 1. รูปแบบรูปทรง (shape and form) 2. กระบวนการทำงาน (process) และ 3. ระบบนิเวศ (ecosystem) การลอกเลียนธรรมชาตินับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืน 

ความก้าวหน้าของศาสตร์ด้านนี้ได้ก้าวไปถึงขึ้นลอกเลียนกระบวนการทำงานของธรรมชาติได้สำเร็จบ้างแล้ว เช่น
แผงโซลาร์เซลล์เลียนแบบใบไม้ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) ที่มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นกว่าแผงโซลาร์แบบเก่าและยังผลิตกระแสไฟได้เพียงพอกับการใช้งานภายในบ้าน การผลิตซีเมนต์ของบริษัท Calera ซึ่งเลียนแบบการสร้างหินปูนของปะการัง ด้วยการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาแปลงให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดภูเขาของอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์

เจนีนทิ้งท้ายว่าพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นมากๆ ในวงการออกแบบตอนนี้ที่จะมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนคือเครื่องพิมพ์สามมิติ เพราะเป็นการสร้างสิ่งของที่คล้ายกระบวนการผลิตของธรรมชาติที่สุด และยังมีโอกาสผสมผสานวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพอลิเมอร์อย่างการ Upcycle พลาสติก หรือพอลิเมอร์จากวัตถุดิบในธรรมชาติซึ่งเป็นของเหลือใช้ เช่น ไคตินจากเปลือกกุ้ง เปลือกปู มาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนการใช้ทรัพยากรได้ 

ในสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2010-2025 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ออกแบบตามแนวทางชีวลอกเลียนจะสร้างรายได้สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพได้สูง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษาการทำงานของธรรมชาติจึงนับเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมโดยรวมไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ 

ประเทศไทยกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 

©Unsplash/Daniel Funes Fuentes

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการบริโภคทรัพยากรและการใช้พลาสติกของคนไทยไม่มีแนวโน้มลดลงเลย และสอดคล้องกับการคาดการณ์ไว้ของนักวิทยาศาสตร์ ว่าจีดีพียิ่งเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ทางรอดเดียวในการรับมือกับวิกฤติขยะและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่ร่อยหรออย่างรวดเร็ว ก็คือการหันไปส่งเสริมการพัฒนาแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิวัติความสัมพันธ์ของผู้บริโภคกับการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และปฏิรูปการออกแบบ การผลิต การใช้และการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศทั้งระบบ แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนในที่นี้ต้องใช้เวลา แต่ก็จะทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานซึ่งสามารถใช้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ไปในตัว 

เราจำเป็นต้องหาทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ที่ไม่จำเป็นเลยหลายๆ ประเภท เช่น หลอดพลาสติก จานชามพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ก้านสำลี ที่คนกาแฟ เหล่านี้เราสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุธรรมชาติประเภทอื่นๆ ได้ 

ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ตั้งอยู่ในระบบนิเวศเขตร้อน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากทั้งทางบกและทางทะเลในแง่ของทรัพยากรชีวภาพ เราจึงมีโอกาสพัฒนาและออกแบบวัสดุจากพืชพันธุ์ท้องถิ่นได้อีกมาก การหวนกลับไปศึกษาศักยภาพของวัสดุท้องถิ่นอย่างเช่นไม้ไผ่ หวาย สาหร่ายทะเล สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี 

ขอยกตัวอย่างแค่ไผ่ ซึ่งเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ไผ่เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่โตเร็วและมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นมาก ไผ่บางชนิดสามารถโตได้กว่า 1 เมตรภายใน 24 ชั่วโมง ไผ่ส่วนใหญ่จึงโตเต็มที่และพร้อมเก็บเกี่ยวได้ภายในเวลา 1-3 ปีเท่านั้น ในขณะที่ไม้เนื้อแข็งต้องใช้เวลานับสิบปีหรือมากกว่ากว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 

การปลูกไผ่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใช้ยาฆ่าแมลง ระบบรากที่กว้างขวางและแข็งแรงของไผ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจน ปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน นอกจากนี้ไผ่ยังไม่ต้องปลูกใหม่ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยว เพียงเหลือหน่อและรากเอาไว้ไผ่ก็จะฟื้นคืนกลับมาได้อีก เท่ากับว่าเราสามารถมีไม้ใช้ได้อย่างยั่งยืนภายในระยะเวลาไม่กี่ปี  ทั่วโลกมีไผ่กว่า1,200 ชนิด ในไทยพบได้มากกว่า 60 ชนิด แต่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายประมาณ 10-20 ชนิดเท่านั้น เราจึงยังมีโอกาสศึกษาวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไผ่ได้อีกมากมาย 

เราสามารถนำไผ่มาแปรรูปได้แทบจะทุกส่วน หน่อเพื่อการบริโภค ขุยนำมาทำเป็นปุ๋ย ใยใช้เป็นเครื่องขัดผิว ลำสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือน อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบอย่างทันสมัย ไปจนถึงตะเกียบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป 

ความจริงไผ่สามารถแปรรูปได้หลากหลายมาก และสามารถนำมาแทนที่การใช้ไม้ได้เกือบทุกประเภท ตั้งแต่กระดาษ แผ่นปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ ถ่าน วัสดุก่อสร้าง ถ้าเทียบกันใยต่อใย เส้นใยของไผ่แข็งแกร่งพอๆ กับเหล็ก ทนทานพอๆ กับซีเมนต์ และมีโอกาสผิดรูปบิดงอจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมน้อยกว่าไม้เนื้อแข็งอื่นๆ 

ปัจจุบันยังสามารถนำไผ่มาใช้เป็นหลอดดูด ช้อนส้อม ก้านสำลี แปรงสีฟัน เหล่านี้ช่วยทดแทนการใช้พลาสติกและลดการสร้างขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงต้องทำควบคู่กันไประหว่างการส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีระบบรีไซเคิลและรับผิดชอบต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตลอดช่วงวงจรชีวิต ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้นักออกแบบ ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการเสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ จากธรรมชาติในชุมชน รวมไปถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำมาผสมผสานกับความรู้ในการออกแบบสมัยใหม่ ให้เน้นเรื่องของความสวยงาม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

หากทำได้สำเร็จทั้งในเชิงนโยบายของภาครัฐและภาคเอกชน จะทำให้ประเทศไทยเดินตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นหลักประกันว่าเราได้เสริมสร้างต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง 

ที่มา :
หนังสือ Biomimicry: Innovation Inspired by Nature โดย  Janine M. Benyus 
หนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things โดย Michael Braungart และ William McDonough
รายงาน Towards a circular economy: business rationale for an accelerated transition. จาก Ellen MacArthur Foundation
รายงาน A European Strategy for Plastics in a Circular Economy  
บทความ Plastic waste inputs from land into the ocean. จาก Science Magazine Vol. 347 Issue 6223.
การบรรยายเรื่อง Beyond the Anthropocene. โดย Johan Rockström จากงาน World Economic Forum 2017. 
รายงาน The Sustainable Development Goals Report 2018. โดย UN
 

เกี่ยวกับผู้เขียน
เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค