Live VS Life
Technology & Innovation

Live VS Life

  • 01 Feb 2019
  • 12271

กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่เดี๋ยวนี้ เราจะเห็นผู้คนถือกล้องขึ้นมาบันทึกภาพกิจกรรมของตนเองและ ‘ถ่ายทอดสด’ ผ่านโซเชียลมีเดีย

เรากำลังอยู่ในยุคที่ไม่ว่าใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ก็ต้องประกาศให้โลกร่วมรับรู้ คล้ายว่าเป็นการประชาสัมพันธ์และแสดงตัวตนด้วยเครื่องมือที่ใคร ๆ ก็ต่างมี คนนับล้านคนมีบัญชีส่วนตัวสร้างไว้อยู่บนโลกออนไลน์ และทุกคนต่างกำลัง ‘แชร์’ เรื่องราว ‘ส่วนตัว’ ของตน

หากการแชร์เหล่านั้นเป็นภาพที่มีแต่ตนเองและคนรู้จักที่ยินยอมกับการถูกถ่ายและเผยแพร่เรื่องราว คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะในพื้นที่สถานที่สาธารณะย่อมต้องมีบุคคลอื่นอยู่ด้วย และการชูเครื่องมือถ่ายภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาแล้วเกิดติดภาพบุคคลที่ 3 เข้าไปด้วย คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก อีกทั้งคนบางกลุ่มก็ยอมรับไม่ได้ ดังเช่นประเด็นการไลฟ์ในร้านอาหารที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วยเรื่องมารยาทในพื้นที่สาธารณะที่พึงมี เพราะระหว่างการอัดคลิปอาจจะติดภาพใบหน้าหรือกิจกรรมของผู้อื่น โดยที่คน ๆ นั้นไม่ได้รู้สึกยินดีและไม่อยากถูกถ่ายทอดสดการกินอาหาร แถมยังสร้างความไม่พอใจ ไม่สะดวกใจให้กับผู้ร่วมรับประทานในร้านอาหารเดียวกันด้วย อย่างที่ฝรั่งเศส หากเราโพสต์หรือแชร์ภาพใด ๆ ของบุคคลที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวจะมีบทลงโทษจำคุก 1 ปีหรือเสียค่าปรับสูงถึง 45,000 ยูโรเลยทีเดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ คือ ภาพของ ‘เด็ก’ ที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ  กรณีนี้อาจไม่ใช่การถ่ายจากบุคคลอื่น หากแต่เป็นบุคคลใกล้ชิดอย่างเช่นพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง ซึ่งหลายครั้งการถ่ายภาพเด็ก ๆ ที่ยังไร้เดียงสาและไม่อาจเรียกร้องสิทธิ์ให้กับตนเองได้ อาจเป็นการรุกล้ำสิทธิพื้นฐานของเด็ก หรือแม้แต่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเยาวชนเหล่านั้นได้โดยไม่รู้ตัว จากกรณีเด็กสาวออสเตรียอายุ 18 ฟ้องพ่อแม่ของเธอเองจากการที่พวกเขาโพสต์ภาพของเธอตอนเด็ก ๆ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต และพ่อแม่จะต้องเสียค่าปรับให้กับเธอ หลายประเทศให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในยุคดิจิทัล ดังเช่นแถบอียูก็มีกฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล  ของประชาชน หรือจะเป็นสิทธิที่จะถูกลืม  เพื่อนำข้อมูลที่ไม่ต้องการเผยแพร่อีกต่อไปออกจากการถูกค้นหาในกูเกิล

จริงอยู่ที่เราคงไม่สามารถห้ามกิจกรรมการไลฟ์ดังกล่าวได้ในยุคนี้ แต่ถ้าเราสามารถควบคุมและปรับสมดุลชีวิตออฟไลน์และออนไลน์ได้ด้วยการนึกถึงและคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมมากกว่าความต้องการส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะหยุดยั้งปัญหาร้ายแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่นี้ เพราะเหล่านักถ่ายคงต้องกลับมาคิดทบทวนอีกคราแล้วว่า สิ่งที่ตนกำลังเผยแพร่อยู่นั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของผู้อื่นมากแค่ไหน เพื่อให้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ยังคงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม

1กฎระเบียบคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (GDPR: General Data Protection Regulation) มีผลบังคับใช้
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
2สิทธิที่จะถูกลืม (Right to forgotten) เป็นสิทธิใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ข้อมูลถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง

ที่มาภาพ: Khalil Benihoud/Unsplash.com

ที่มา
บทความ "ความเป็นส่วนตัวอย่าเพิ่งตาย" เมื่อโลกหมุนไปไกล กฎหมายไทยต้องรีบมา” (มิถุนายน 2561) จาก ilaw.or.th
บทความ “Woman sues parents for sharing embarrassing childhood photos” (กันยายน 2559) จาก thelocal.at
บทความ “รักลูกต้อง'หยุด'โพสต์” (มกราคม 2560) thaihealth.or.th
บทความ “A quel point publier des photos de ses enfants sur Facebook est-il dangereux ?” (เมษายน 2560) จาก lemonde.fr

เรื่อง: วนบุษป์ ยุพเกษตร