Now is Now
Technology & Innovation

Now is Now

  • 01 Feb 2019
  • 12127

จำได้หรือไม่ว่าคุณรอคอยการมาส่งสินค้านานที่สุดเมื่อไหร่ อาหารมื้อล่าสุดที่คุณกินใช้เวลานานเท่าไหร่ในการรอ หรือเสื้อตัวสุดท้ายที่ซื้อ ใช้เวลานานเท่าไหร่ในการตัดสินใจ ในเมื่ออะไรๆ ในโลกกำลังตอบสนองผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว การแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ดีที่สุด จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่ที่สุดของผู้บริโภคยุคนี้อีกต่อไป เพราะอะไรที่ “ใช่” และ “เร็ว” ต่างหาก ที่กำลังครองใจผู้บริโภคในปัจจุบัน

ทำไมเราจะต้องรอนาน ในเมื่อทุกอย่างมีพร้อมให้ซื้อหาได้ง่ายๆ ผ่านเครื่องมือสารพัดรูปแบบ แถมวิธีการซื้อและจ่ายก็ยังถูกทำให้สะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการหาและซื้อสินค้าที่ต้องการ หลายครั้งที่ใช้เวลาน้อยกว่าการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของเราหลายเท่าตัว และหากเบื่อที่จะลงไปค้นหาข้อมูลหรือเสิร์ชหารีวิวสินค้าจำนวนมาก ก็ยังมีคนนำเอาสินค้าหรือบริการต่างๆ มาไลฟ์สดให้เลือกชม และซื้อหากันได้แบบไลฟ์สตรีมมิ่ง

เฟซบุ๊กเริ่มเปิดให้บริการฟีเจอร์ที่เรียกว่า “เฟซบุ๊กไลฟ์” มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารและแสดงตัวตนที่มอบ “ความสด” ที่มากยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้ และไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่หลังจากนั้นไม่นาน บรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่ก็พากันนำเอาฟีเจอร์นี้มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการขายที่ทรงพลังของพวกเขา

หากไม่นับการไลฟ์สดของบรรดาคนดังหรือเซเลบริตี้ ทุกวันนี้บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกจะต้องได้พบกับการไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าและบริการต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเปิดตลาดให้ก้าวถึงโลกในมือของผู้บริโภคมากขึ้น แต่ยังสร้างแรงกระตุ้นให้ใครก็ตามที่พบเห็นเกิดความรู้สึกอยากซื้อ อยากมี อยากได้ และอยากเป็นขึ้นมาให้เร็วยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้ที่กำลังชมการถ่ายทอดสด ย่อมเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมกับผู้ขายได้ง่ายมากกว่าเพียงการดูรูปสินค้าหรืออ่านข้อมูลในโพสต์ ราวกับเหมือนได้ออกไปเดินที่ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดเพื่อต่อรองซื้อขายกับพ่อค้าแม่ค้าตัวจริงก็ไม่ปาน

แน่นอนว่าช่องทางขายใหม่ที่เร้าใจกว่านี้สร้างผลดีให้กับผู้ขาย โดยเฉพาะผู้ขายรายย่อยๆ ให้ได้มีช่องทางการสื่อสารและค้าขายกับลูกค้าได้โดยตรง ช่วยลดภาระเรื่องการหาพื้นที่หน้าร้าน และยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานขาย ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันที ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการขายของแต่ละคนที่จะต้องงัดไม้เด็ดมาสู้กันบนสังเวียนตลาดออนไลน์ที่กว้างใหญ่ แถมยังไม่มีเวลาเปิด-ปิดหน้าร้านมาบังคับการทำยอดอีกต่างหาก

แต่สำหรับนักบริโภคอย่างเราๆ การเสพติดความเร็วจนเกินไป อาจทำให้เราหลงอยู่ในกับดักของ “ความต้องการปลอม” หรือ “ดีมานด์เทียม” (Artificial Demand) ซึ่งแน่นอนว่า ความต้องการบริโภคเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลกระทบเพียงปริมาณเงินในกระเป๋า พื้นที่ในตู้เสื้อผ้า โต๊ะแต่งตัว หรือห้องเก็บของ แต่การที่ต่างคนต่างสร้างดีมานด์เทียมขึ้นมา อาจส่งผลกระทบขนาดมหึมาทั้งต่อภาคการผลิต การนำเข้า-ส่งออก การตลาดระดับประเทศ หรือแม้แต่การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ โดยจากสถิติพบว่า ยอดการช้อปปิ้งออนไลน์ที่พุ่งทะยานโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลจับจ่ายต่างๆ ทั้งปีใหม่ คริสต์มาส ฯลฯ มียอดการคืนสินค้าจำนวนไม่น้อยในแต่ละครั้ง โดยในปี 2016 ธุรกิจออนไลน์ช้อปปิ้งในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับยอดการคืนสินค้าที่มากถึง 30% โดยสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้นมียอดคืนสินค้าสูงเกือบ 40% 

แค่การกดซื้อของในแอพฯ ออนไลน์มาร์เก็ตเพลส หรือการพิมพ์คำว่า “คอนเฟิร์ม” ในช่องคอมเมนต์ใต้การไลฟ์สดขายของ อาจไม่ได้เป็นแค่การเติมเต็มความต้องการส่วนตัวอีกแล้ว แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจรอบตัวเราได้ในที่สุด...ซึ่งเรื่องทั้งหมดอาจเริ่มต้นจากแค่ตัวเราที่ตัดสินใจ “เร็ว” จนเกินไป  

ที่มาภาพ: Pop & Zebra/Unsplash

พิชิต วีรังคบุตร
บรรณาธิการอำนวยการ