
จากธุรกิจออนไลน์สู่นวัตกรรมการขนส่งในอนาคต
ในยุคการตลาด4.0 เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ที่ส่งผลให้ที่ธุรกิจด้านการขนส่งเติบโตตามไปด้วย จึงมีบริษัทขนส่งเอกชนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนส่งเอกชนที่เปิดตัวขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือบริษัทขนส่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานานอย่างไปรษณีย์ไทยซึ่งก็มีการปรับแผนและกลยุทธ์การให้บริการแก่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต่างๆ ให้เทียบเท่าการบริการของบริษัทขนส่งเอกชนที่เกิดขึ้นใหม่ ในขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนเองก็พยายามหาช่องทางเพื่อสร้างธุรกิจขนส่งในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการขนส่งที่ตอบโจทย์และตรงใจผู้ใช้บริการมากขึ้น
ปัจจุบันบริษัทขนส่งหลายบริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนได้ในทุกไลฟ์สไตล์อย่างเช่น การส่งของผ่านแอพพลิเคชันที่ใช้ง่ายเพียงไม่กี่ขั้นตอน ก็สามารถส่งของถึงมือผู้รับได้ อีกทั้งยังสามารถติดตามสินค้าได้ในแบบเรียลไทม์ มีการเชื่อมต่อ API สำหรับองค์กรที่ทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยการเชื่อมระบบหลังบ้านระหว่างเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่มีระบบของตัวเองอยู่แล้ว หรือแม้แต่ตัวเทคโนโลยีเองก็ยังสามารถเป็นพาหนะในการขนส่งได้ อย่างเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือรู้จักกันในชื่อ “โดรน” ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าแล้ว จุดเด่นของการขนส่งดังกล่าว ก็คือการเข้าถึงถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงทำให้โดรนกลายเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พลิกโฉมการขนส่งให้ไปได้ไกลมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมด้านการขนส่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมการขนส่งที่รวดเร็วที่สุดในโลก ณ ปัจจุบันก็ว่าได้ หลังจากที่อิลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัท SpaceX ได้นำเทคโนโลยี The Very High Speed Transit (VHST) มาพัฒนาเป็นระบบขนส่งที่เรียกว่า ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่รวดเร็ว สะดวก ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ ท่อขนส่งแรงดันต่ำที่ถูกเร่งความเร็วด้วยแรงขับไฟฟ้า และแคปซูลโดยสารที่สามารถขนส่งได้ทั้งสินค้าและคน โดยตัวแคปซูลใช้เทคโนโลยีการลอยตัวด้วยแรงแม่เหล็ก (Magnetic Levitation Technology) ทำให้ทรงตัวได้โดยไม่กระแทกกับผนังของท่อส่งแรงดันต่ำ สามารถเร่งความเร็วสูงสุดที่คาดการณ์ไว้ที่ 760 ไมล์ต่อชั่วโมง (1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และวิ่งได้ทั้งความเร็วสูงและความเร็วต่ำตลอดแนวท่อ อย่างไรก็ตามทางบริษัท SpaceX ยังเปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่มีไอเดียสามารถนำไฮเปอร์ลูปไปพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่อยากจะพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้จริง และหนึ่งในนั้นคือบริษัท Virgin Hyperloop One ที่ได้ทำการทดสอบทั้งระบบ (Full-systems Test) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะต้องสามารถพัฒนาระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปให้สามารถขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้สำเร็จ
หากระบบขนส่งดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพดังที่คาดการณ์ไว้ เราอาจจะได้เห็นระบบท่อขนส่งความเร็วสูงนี้เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองหรือประเทศต่างๆ เพื่อช่วยย่นเวลาการเดินทางลงได้หลายเท่า โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนาน ๆ ขณะที่สินค้าซึ่งมีข้อจำกัดด้านอายุหรือความสดใหม่ก็จะสามารถถูกจัดส่งได้อย่างรวดเร็วและคงคุณภาพของสินค้าไว้ได้ นับเป็นการยกระดับคุณภาพด้านการขนส่งไปอีกขั้น และทั้งหมดนี้ก็ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคในอนาคตอย่างเราๆ รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
ที่มาภาพ: wikipedia.org
ที่มา : บทความ “เทรนด์โลจิสติกส์ไทยและอาเซียน” จาก forbesthailand.com
บทความ“Transportation 4.0 ทางรอดหรือทางร่วงขนส่งไทย” จาก tradelogistics.go.th
บทความ “Hyperloop : ระบบขนส่งมวลชนแห่งอนาคต” โดย ปิยฉัตร จาก secnia.go.th
เรื่อง : ณัฐณิชาต์ ศิริวัลลภ