New Economy New Designer: นักออกแบบอินทีเรียร์รุ่นใหม่ เข้าถึงลูกค้า เข้าใจดิจิทัล
Technology & Innovation

New Economy New Designer: นักออกแบบอินทีเรียร์รุ่นใหม่ เข้าถึงลูกค้า เข้าใจดิจิทัล

  • 05 Feb 2019
  • 9230

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามา disrupt ทุกอุตสาหกรรม รวมถึงวงการออกแบบ ไม่เพียงแต่โปรแกรมหรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่นักออกแบบต้องปรับตัวตามแล้ว ลูกค้าของวันนี้ก็เปลี่ยนไป เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่มีความรู้และต้องการสิ่งตอบโจทย์ตัวเองดีที่สุด และง่ายที่สุดด้วย

เสวนา New Economy New Designer ที่ทาง TCDC จัดขึ้นได้เชิญนักออกแบบมาแบ่งปันประสบการณ์ของการทำงานกับลูกค้าในโลกดิจิทัล โดยเริ่มจากหัวข้อแรก อนาคตของนักออกแบบสถานสถาปนิก/นักออกแบบอินทีเรียร์ ซึ่งมีสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ จาก Paper Work / Paper Space แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงนักออกแบบอินทีเรียร์และสถาปนิกให้มาพบกับลูกค้า พร้อมบริการออกแบบออฟฟิศและการปรับองค์กร คิริน ชัยชนะ จาก KIRIN design & living ที่จับทางการรีโนเวทเป็นหลัก โดยเติบโตจากการแบ่งปันประสบการณ์ในสื่อออนไลน์จนเป็นลายเซ็นต์ของตัวเอง และพรชัย แสนชัยชนะ Homeprise แอพฯ ฐานข้อมูลสินค้าเพื่อการตกแต่งบ้าน ลดเวลาในการหาสินค้า และมีโปรแกรมออกแบบบ้านได้ด้วยตัวเอง

 

จากนักออกแบบสู่ผู้ประกอบการ

ทั้ง 3 ท่านมีประสบการณ์ในการทำงานเชิงดิจิทัลต่างมุม วิธีการผันตัวจากการเป็นนักออกแบบสู่ผู้ประกอบการก็ต่างกัน อย่างสถาปนิกอย่างสมบัตินั้นพบว่าเมื่อทักษะการออกแบบอย่างเดียวไม่พอสำหรับการทำธุรกิจ เข้าต้องเสริมความรู้ธุรกิจ เช่น การตลาด บัญชี ฯลฯ ในทางกว้างขึ้นอย่างมาก เมื่อเขาทำงานกับลูกค้าองค์กรเป็นหลัก การต้องมีมุมมองและพูดภาษาเดียวกับลูกค้า หนังสือที่อ่านเรื่องที่คุยก็ต้องกว้างขึ้น และที่สำคัญต้องมีหุ้นส่วนธุรกิจที่มีหัวธุรกิจที่คิดต่างออกไป เพื่อให้มีสมองทั้งส่วนสร้างสรรค์และธุรกิจเข้ามาเดินหน้างาน

สำหรับคิริน ซึ่งเคยเป็นสถาปนิกในบริษัทใหญ่ เมื่อมารับงานอิสระ ก็ได้ตั้งกระทู้การรีโนเวทบ้าน “ตึกแถวหน้าปลวก” ของตัวเองลงในพันทิป ด้วยความแตกต่างและภาษาในการเล่าเรื่อง ทำให้มีคนอยากให้เขาไปออกแบบบ้านให้มากมาย เขาจึงตั้งบริษัทเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา ทำเพจเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เล่าเรื่องราวและภาพแบบ Before & After ซึ่งโดนใจคนมากมาย การอยากมีบ้านสวยจากบ้านหลังเก่าของตัวเองเป็น Pain Point ที่คนมีร่วมกันมาก ในแต่ละปีมีลูกค้าอยากให้คิรินออกแบบปีละกว่า 700 ราย แต่เขาเลือกทำได้เพียง 20 รายเท่านั้น เพื่อรักษาคุณภาพ และยืนยันว่าอยากออกแบบงานเองทั้งหมด โดยมีทีมช่วยซัพพอร์ตงานให้สำเร็จ คิรินตั้งใจว่าจะไม่ขยายงานมากไปกว่านี้ เขาจึงโฟกัสให้แน่วแน่ และใช้สื่อดิจิทัล อย่างโซเชียลมีเดียออกไปให้ชัด โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค ซึ่งเหมาะกับการเล่าเรื่องการรีโนเวทที่อ่านกันยาวๆ แต่หากเป็นสินค้าแฟชั่น เขาคิดว่าอินสตาแกรมน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

ส่วนพรชัย ซึ่งมาจากสายงานโฆษณา แม้ไม่ใช่นักออกแบบ แต่ก็ชอบตกแต่งบ้านด้วยตัวเอง และได้พบปัญหาของการที่ไม่มีความรู้มากพอ จึงคิดว่าต้องมีคนไม่น้อยที่เป็นเหมือนเขา เขาจึงทำแอพฯ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนธรรมดาที่อยากมีบ้านสวย ได้ออกแบบบ้านของตัวเองได้ ด้วยการมีฐานข้อมูลสินค้าตกแต่งจริง มาใช้ในโปรแกรมออกแบบเพื่อให้เห็นภาพได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายงานของนักออกแบบ แต่เป็นเครื่องมือทำให้ง่ายขึ้น เช่น การรู้สต็อกสินค้าที่เชื่อมกับโรงงานกว่า 200 แห่ง โปรแกรมสามารถวัดพื้นที่และการใช้วัสดุได้ทันที และช่วยสร้างภาพ 3 มิติให้ลูกค้าได้เห็นภาพเดียวกัน แอพฯ Homeprise ยังต่อยอดไปทำงานร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างแสนสิริ ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหลายหมื่นยูนิต กับลูกค้าที่อยากมีบ้านสวย แต่ไม่รู้ว่าจะให้ใครออกแบบ ก็จะมีแอพนี้เข้ามาเป็นตัวช่วย

 

ช่องทางการสร้างแบรนด์ผ่านดิจิทัล

การเลือกใช้ช่องทางอยู่ที่ตัวตน (แบรนด์ดิ้ง) ของตัวเอง รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร สื่อสารกับคนกลุ่มไหน แล้วไปให้ถูกช่องทาง ในขณะที่ KIRIN design & living เลือกสื่อผ่าน Facebook เพราะลูกค้าเขาอยู่ในโซเชียลมีเดีย Paper Space ซึ่งเน้นลูกค้าองค์กรเลือกสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า เช่น นสพ.กรุงเทพธุรกิจ หลังจากพยายามสื่อสารผ่าน Facebook แล้ว แต่ไม่ประสบผล ต้องกลับมาดูว่าลูกค้าองค์กรเสพสื่ออะไร อย่างไร เพื่อใช้ช่องทางที่เหมาะ ด้าน Homeprise ซึ่งเป็นแอพฯ ใหม่ จากประสบการณ์ เขาคิดว่าต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ที่ต่ำที่สุดคือการส่งประกวด และต้องเลือกเวทีที่ใช่ กรรมการดี เพียงเวทีเดียว และการเข้ารอบสุดท้ายก็เป็นการการันตีคุณภาพได้

 

ปรับตัวไปกับโลก

การนำทีมเข้าสู่การใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น การทำงานทางไกล ประชุมผ่าน VDO conference การใช้โปรแกรมที่เป็นลักษณะ Sharing กันได้ ช่วงแรกอาจปรับยาก แต่หลังจากใช้ ทุกคนก็จะทำได้ ไม่ต่างจากการมีสมาร์โฟนเครื่องแรก

สำคัญก็คือหลังจากที่มีชื่อแล้วไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพด้านออกแบบออฟฟิศ จะเป็นที่ 1 ด้านการรีโนเวท หรือจะเป็นแอพที่ทำให้คนทั่วไปตกแต่งบ้านได้ ก็คือการไม่ทั้งความคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ AI ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะมีโปรแกรมออกแบบที่แม่นยำแค่ไหน “ความงาม” ซึ่งเป็นเซนส์เฉพาะอันสร้าง “บุคลิก” ของนักออกแบบขึ้นมา ก็เป็นเสน่ห์ที่ทดแทนไม่ได้ ควบคู่กับการปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและผู้บริโภค วิธีสื่อสารแบบปีที่แล้ว ก็อาจไม่เหมาะสำหรับตอนนี้ ต้องเปิดตา เปิดใจ จะมองเห็นช่องทางและโอกาสรอบตัว

 

ลูกค้าจัดการได้ แค่เข้าใจ (User-Centered Design)

เสวนาในหัวข้อถัดมานี้ มี ชัยจักร วทัญญู ผู้อานวยการอาวุโสฝ่ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จาก แสนสิริ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา ผู้ร่วมก่อตั้ง Hypothesis และ พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA ทั้ง 3 ท่านเป็นสถาปนิก แต่สำหรับชัยจักรได้มาให้มุมมองในฐานะ “ลูกค้า” ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเลือกนักออกแบบมาทำงานในโครงการต่างๆ

 

การทำงานกับลูกค้า

ทั้ง 3 ท่านมีการทำงานแบบ Research Base คือทำการวิจัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำการบ้านเพื่อนำเสนอสิ่งที่ไปไกลกว่าโจทย์ เช่น ร้านที่เป็นมากกว่าร้านอาหาร ของ Hypothesis การค้นหาศักยภาพใหม่ของวัสดุบ้าน เช่น บัวไม้ “บางทีบัวก็อยากเป็นมากกว่าบัว” ของ PHTAA และแสนสิริ ที่ต้องมีการวิจัยตลาด และทำที่อยู่อาศัยออกมาโดยที่ยังไม่รู้ว่าลูกค้าที่มาซื้อเป็นใครด้วยซ้ำ กระบวนการทำงานจึงค่อนข้างใช้เวลา ซึ่งหากเสนอราคาผ่านแล้ว ก็ต้องมีการทำความเข้าใจระหว่างกัน วิจัยความต้องการและความเป็นไปได้ต่างๆ กระบวนการนี้ใช้เวลาร่วมเดือน

นักออกแบบอินทีเรียร์ ต้องมีจิตใจบริการ เพราะขั้นตอนต่างๆ อาจราบรื่นมาตลอดจนกระทั่งขึ้นแบบให้ลูกค้าดู เมื่อนั้นลูกค้าที่น่ารักอาจกลายร่าง ต้องใช้ความประนีประนอมสูง แม้ในการสร้างสรรค์สิ่งให้ต้องอาศัยอีโก้บางอย่าง แต่ต้องรู้จักสมดุลในการคุยกับลูกค้า เพราะบางครั้งลูกค้าก็เป็นผู้สอนนักออกแบบเช่นกัน

สำหรับผู้บริษัทผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย ก็ทำงานคล้ายกับการออกแบบให้ลูกค้ารายย่อย เพียงแต่หน้าที่ของจักรชัยคือการควบคุมระหว่างต้นทุนและงานสร้างสรรค์ให้สมดุล แม้ไม่ลงลึกถึงความต้องการระดับบุคคล แต่ก็ต้องการคนทำงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะในด้านนั้นๆ มาออกแบบ สื่อสาร ให้ไปโดนใจลูกค้าให้มากที่สุด

 

การออกแบบในโลกวันนี้

โลกวันนี้ต้องการมากกว่าการใช้งาน นักออกแบบจึงต้องติดตามโลก ต้องมีการค้นคว้า และเชื่อมโยงเข้ากับผู้คนตลอดเวลา ความรู้สึกคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่การออกแบบสามารถสร้างความรู้สึกนั้นขึ้นมาได้ ประสบการณ์ก็เช่นกัน งานออกแบบคือการสร้างประสบการณ์ที่ทำให้เกิดจิตวิญญาณในพื้นที่นั้น ซึ่งทำให้งานออกแบบไปไกลมากกว่าเดิม สิ่งสำคัญคือนักออกแบบต้องตอบคำถามลูกค้าให้ได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และหลายครั้ง เมื่อสร้างเสร็จออกมาแล้ว ก็อาจเกิดพื้นที่ใช้งานที่ไม่คาดคิด (เมื่อผู้ใช้เข้ามาอยู่ในพื้นที่จริง) ซึ่งให้ผลลัพธ์ต่างๆ ก็ต้องเก็บเอาไว้เพื่อเรียนรู้ต่อไป

ส่วนเทรนด์การออกแบบของอนาคตนั้น ทุกท่านเห็นว่าเทรนด์มีขึ้น-ลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรเป็นของใหม่ ทุกสิ่งบนโลกคือของเก่า เพียงแต่จะหมุนกลับมาหาเราเมื่อใด และเราจะต่อยอดอย่างไร

หากจะมองว่าอะไรเป็นเทรนด์ ให้ดูว่าคนทุกวันนี้ใช้อะไร เช่น การออกแบบออฟฟิศจึงอาจไม่ได้อยู่บนพื้นที่เดียวตายตัว แต่เป็นออฟฟิศที่พร้อมรับผู้คนที่เคลื่อนย้ายตลอด หรือร้านกาแฟที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม เป็นต้น

นักออกแบบจึงต้องเฝ้าสังเกตผู้ใช้และเข้าใจชีวิตของผู้คน เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมด้วย