
คลังความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่า 'ธรรมชาติ'
จากหยดน้ำเล็ก ๆ บนใบบัว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า น้ำกลิ้งบนใบบัว (Lotus Effect) ที่นำมาซึ่งนวัตกรรมต่างๆ มากมาย โดยผู้ค้นพบคือนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อวิลเฮล์ม บาร์ธลอตต์ (Wilhelm Barthlott) ได้สังเกตเห็นว่าใบบัวไม่เคยเปียกน้ำและไม่เคยสกปรก อีกทั้งยังสะอาดอยู่เสมอ จากข้อสงสัยนี้ เขาได้ศึกษาผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงไปยังใบบัว และพบคำตอบว่าผิวหน้าของใบบัวมีลักษณะคล้ายขนเล็ก ๆ ขนาดนาโนเมตรเรียงตัวกันเป็นระเบียบและที่ขนยังเคลือบด้วยสารคล้ายขี้ผึ้ง ทำให้หยดน้ำที่ตกลงบนใบบัวจะติดอยู่แค่ส่วนขนบนผิวใบบัวเท่านั้น เช่นเดียวกับฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่ก็จะติดอยู่แค่ปลายขนบนผิวใบบัว ดังนั้นใบบัวจึงแห้งและสะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากหยดน้ำจะกลิ้งพาเอาสิ่งสกปรกออกไปด้วยนั่นเอง
จากการค้นพบปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงเกิดศาสตร์ที่เรียกกันว่า “Biomimicry" หรือการเลียนแบบธรรมชาติ โดยการนำเอาคุณสมบัติที่ค้นพบตามธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนระดับเซลล์หรือโมเลกุลในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การนำมาแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน สำนักงานทางหลวงของประเทศอังกฤษได้จัดทำแนวทางการรณรงค์เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยด้วยการสื่อสารแบบใหม่ โดยตั้งชื่อแคมเปญนี้ว่า “When it rains, it kills” โดยหนึ่งในวิธีการรณรงค์ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีสารเคลือบกันน้ำที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับปรากฏการณ์น้ำกลิ้งบนใบบัวมาใช้ในการแสดงข้อความบนถนน เพื่อเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ลดความเร็วในขณะฝนตกหรือถนนเปียก โดยน้ำฝนจะไม่เกาะบนตัวอักษรที่เคลือบสารกันน้ำไว้ จึงเกิดส่วนที่แห้งและเปียกแยกกัน ทำให้เห็นข้อความได้ชัดเจน โดยสำนักทางหลวงประเทศอังกฤษมีเป้าหมายว่าจะลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลง 40% ภายในปี 2020
สายการบินเซบู แปซิฟิก (Cebu Pacific Airlines) ของประเทศฟิลิปปินส์ยังได้นำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อการโฆษณาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้อย่างสร้างสรรค์ โดยโฆษณาชิ้นนี้เกิดขึ้นบนฟุตบาทที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่มีสภาพอากาศส่วนใหญ่ฝนตกชุกและมีลมแรง หรือแม้กระทั่งฤดูร้อนก็มักเกิดลมมรสุม ทำให้มีแสงแดดประมาณ 100 ชม.ต่อเดือนเท่านั้น ความฉลาดของโฆษณาชิ้นนี้ก็คือมันจะปรากฎให้เห็นได้ชัดในขณะที่ฝนตกหรือพื้นเปียกเท่านั้น โดยเทคนิคเบื้องหลังก็คือการนำสเปรย์กันน้ำพ่นลงบนแบบฉลุอักษรบนพื้นที่มีข้อความว่า "It's sunny in the Philippines" เพื่อเชิญชวนให้คนมาท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ที่มีสภาพอากาศส่วนใหญ่ร้อนชื้นและมีแสงแดดมากกว่า พร้อมแสดงคิวอาร์โค้ดที่สามารถสแกนผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็กเที่ยวบินเดินทางไปฟิลิปปินส์ได้ทันที ซึ่งจากโฆษณาดังกล่าว ทำให้สายการบินเซบู แปซิฟิกมียอดการจองเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึง 37% เลยทีเดียว
แรงบันดาลใจมากมายจากการเฝ้ามองธรรมชาติที่แสดงถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแยบยลของปรากฏการณ์ธรรมชาติและวิวัฒนาการที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ถูกมนุษย์นำเอามาสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยการศึกษาและเลียนแบบคุณสมบัติเฉพาะที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิต ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนั้นหากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเปรียบเสมือนคลังความรู้ที่เรียน(เลียน)ได้ไม่สิ้นสุด นวัตกรรมและเทคโนโลยีบนโลกก็จะยังคงถูกพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุดเช่นกัน
ที่มา:
บทความ “สังเกตธรรมชาติสร้างนวัตกรรม” จาก nstda.or.th
บทความ “Using Weather Reactive Paint to Communicate Safety Reminders” จาก core77.com
บทความ “When it rains it kills: warning to drivers” โดย Highways England จาก gov.uk
บทความ “Cebu Pacific Airlines' new holiday advertisement is only visible when it rains” โดย Soo Kim จาก traveller.com
เรื่อง : ณัฐณิชาต์ ศิริวัลลภ